มองนิเทศศาสตร์ ในยุคสื่อดิจิตอล

รายงาน : ทนงศักดิ์ หมื่นหนู

เทคโนโลยีการสื่อสารมีการพัฒนาไปมากทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปรับสื่อสมัยใหม่มากขึ้นทิ้งสื่อดั้งเดิมไว้เป็นทางเลือก โดยเฉพาะการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ กระทั่งสื่อดาวเทียม ที่กำลังเข้ามามีบทบาทแทนสื่อหลัก

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ขณะที่วงการนิเทศศาสตร์ ซึ่งผลิตบุคลากรด้านสื่อจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีอนาคตเช่นกัน โดยเฉพาะคณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์บอกว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปรับตัวให้ทันกับเครื่องมือใหม่ๆและกฎหมายใหม่ที่เปิดทางให้นิเทศศาสตร์จะกลับมาบูมอีกครั้ง

“การปรับหลักสูตรของเรา ได้เพิ่มหลักสูตรใหม่ๆ เช่นการตลาดที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทุกรูปแบบผนวกเข้าไปซึ่งเราจะเห็นว่าหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์ทุกสาขา ไม่ว่าวิทยุโทรทัศน์หนังสือพิมพ์ หรือว่าโฆษณา เดี๋ยวนี้ต้องปรับหลักสูตรให้เข้ากับเทคโนโลยีกับความต้องการของสังคม โดยเฉพาะเทคโนโลยีสื่อขณะนี้ไปไกลมาก”

ที่สำคัญมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นธุรกิจเพราะฉะนั้นไม่ว่าหลักสูตรปริญญาตรี ปริญญาโทเราเป็นธุรกิจหมดซึ่งถ้าใครอยากเรียนนิเทศศาสตร์ที่เน้นธุรกิจก็ต้องมาที่เราเพราะว่าจุดขายของนิเทศศาสตร์ในแต่ละมหาวิทยาลัย ก็จะมีจุดเด่นของตัวเองแต่จุดที่เน้นมากที่หอการค้าคือ”ธุรกิจ”

รศ.ดร.ดรุณี อธิบายว่า ทุกๆ2-3 ปีเราก็จะเชิญผู้ที่ใช้บัณฑิตของเราไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ เอกชน และหน่วยงานต่างๆ มาพูดคุยและก็เอาบัณฑิตที่จบไปแล้วตลอดจนนักศึกษาที่เรียนอยู่ปัจจุบันมาสัมมนาร่วมกันและดูว่าความต้องการของตลาด ว่าเขาต้องการเด็กเราออกไปแบบไหนเพราะฉะนั้นพัฒนาการของหลักสูตรเราจะตรงกับความต้องการของตลาดจริงๆ

ทิศทางของนิเทศศาสตร์

รศ.ดร.ดรุณี เล่าว่า ช่วงก่อนหน้านี้ ที่ยังไม่มีปัญหาการเมืองด้านการตลาด วงการโฆษณาภาวะเศรษฐกิจบูมมาก เราอาจจะใช้โฆษณาอย่างเดียวหรือแค่ประชาสัมพันธ์อย่างเดียว ธุรกิจประสบความสำเร็จแต่ตอนนี้มันไม่ได้ มันต้องใช้สื่อครบวงจร ที่เราอาจจะมีสื่อหลักๆ เช่นโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือการไดเร็คเซ็ล หรือแม้แต่อีเวนท์ มาร์เก็ตติงที่มาแรงในระยะหลัง ตลอดจนการขายทุกรูปแบบมารวมกัน

แล้วก็มีเครื่องมือตัวช่วยอีกประมาณ 20 เครื่องมือนำมาใช้ตรงนี้มันก็ขึ้นอยู่กับองค์กรที่ต้องการเราว่าจะเป็น SMEหรือองค์กรขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นการจะใช้เครื่องมือของการสื่อสารการตลาดต้องขึ้นอยู่กับลักษณะองค์กรที่ใช้ด้วย

ทั้งนี้ หลักสูตรของเราต้องปรับให้รองรับกับลักษณะองค์กรเหล่านี้ คือนักศึกษาจะต้องรู้จักวิธีใช้เครื่องมือการสื่อสาร ซึ่งมันไปเร็วมากเมื่อก่อนเราจะเห็นว่าสื่อดั้งเดิมมีแค่ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์เดี๋ยวนี้มันมีสื่อใหม่ ที่มีกฎหมายออกมารองรับแล้วก็จะมีเรื่องของทีวีออนโมบาย เรดิโอออนโมบาย หรือทีวีผ่านดาวเทียมและอินเทอร์เน็ตอะไรต่างๆ เหล่านี้

เพราะฉะนั้นสิ่งตรงนี้ เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องปรับทันทีขณะเดียวกันนักศึกษาเองก็ต้องตามให้ทันด้วย

นักนิเทศศาสตร์ยุคใหม่

รศ.ดร.ดรุณี อธิบายต่อว่า ถ้าเราดูจากหลักสูตรตลอด30 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าจากเดิมที่หลักสูตรจะผลิตคนให้ออกมาเป็น นักข่าว นักโฆษณานักประชาสัมพันธ์ การเรียนการสอนจะแยกเป็นสาขาวิชาเดี่ยวๆนักศึกษาที่จบออกไปก็จะมีความรู้เฉพาะด้านนั้นๆแต่มายุคนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว จะเห็นว่าองค์กรสื่อต่างๆไม่ว่าจะเป็น วิทยุโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ มีการปรับตัวมีการดึงสื่อสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานมากขึ้นโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตหรือระบบออนไลน์ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักข่าวหรือนักโฆษณา หรือแม้แต่ทำประชาสัมพันธ์ คุณก็จะต้องเข้าใจหลักการใช้สื่อและหลักการตลาดผสมผสานเข้าไป

“หลักสูตรนิเทศศาสตร์จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีและทำอย่างไรให้นักศึกษาที่จบไปแล้วสามารถทำได้หลายอย่างมีความรู้แบบครบวงจรมองว่ามันจะกลับไปสู่ยุคดั้งเดิมที่มีการผสมผสานสื่อเข้าด้วยกันซึ่งหลักสูตรนิเทศศาสตร์ของไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในอนาคต”

รศ.ดร.ดรุณี ย้ำว่า นอากจากนี้นักนิเทศศาสตร์ยุคใหม่จะต้องเข้าใจในเรื่องธุรกิจควบคู่ไปด้วยเพราะตราบใดที่องค์กรสื่อเป็นธุรกิจก็ต้องมีกำไรที่จะเลี้ยงตัวเองให้อยู่ได้ด้วยแต่อาจจะไม่เหมือนสินค้าอื่นๆ ยกตัวอย่างถ้านักข่าวในกองบรรณาธิการมีความเข้าใจในหลักการการทำธุรกิจสื่อก็จะสามารถสื่อสารกับทางฝ่ายโฆษณาได้อย่างเข้าใจก็จะทำให้ปัญหาการทำงานในองค์กรลดน้อยลง หรือแม้แต่การจะทำธุรกิจก็ตามก็จะต้องเข้าใจที่จะเลือกสื่อมาใช้ให้ถูกกลุ่มเป้าหมายด้วยเช่นกัน

“หลักสูตรนิเทศศาสตร์สมัยนี้จะต้องมีการเรียนการสอนเรื่องการจัดการธุรกิจสื่อโดยถ้าเป็นระดับปริญญาตรีก็จะเรียนในปีสุดท้ายจากนั้นก็จะไปต่อยอดในระดับปริญญาโท ซึ่งก็จะเรียนด้านธุรกิจเชิงลึกต่อไปต้องเข้าใจว่าปัจจุบันคำว่า Communication กับคำว่า ธุรกิจมันต้องไปด้วยกัน”

ล่าสุดกฎหมายใหม่ออกมาแล้ว ซึ่ง รศ.ดร.ดรุณีเล่าว่าตนเองได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างด้วยนั้นซึ่งจะเห็นว่ากฎหมายจะเอื้อให้เกิดสื่อรูปแบบใหม่มากขึ้น เช่นเคเบิลทีวีสามารถโฆษณาได้ หรือแม้แต่วิทยุชุมที่แบ่งออกเป็น 3 แบบซึ่งบางแบบก็สามารถโฆษณาได้เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่าต่อไปนี้สื่อทุกสื่อจะต้องมีการตลาด และถามว่าการตลาดแบบไหนจะเหมาะกับคนสื่อแบบใด

รศ.ดร.ดรุณี กล่าวว่าที่หอการค้ามีการปรับหลักสูตรนิเทศศาสตร์ของระดับปริญญาตรี โดยคณะของเราจะมี 4 สาขาวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ โฆษณา และประชาสัมพันธ์ เช่นสาขาโฆษณาเราก็จะใส่วิชาการสื่อสารด้านการตลาดเข้าไปและจะบวกกับวิชาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านสื่อสมัยใหม่ เช่นการใช้แอนิเมชั่น กราฟฟิก เป็นต้น

ส่วนสาขาวารสารศาสตร์ ก็จะเป็นแห่งแรกๆที่ใช้หนังสือพิมพ์ออนไลน์เพราะฉะนั้น นักศึกษาของเราจะเรียนรู้การทำหนังสือพิมพ์ทั้งที่เป็นแบบรูปเล่มและที่เป็นออนไลน์และสาขาประชาสัมพันธ์เราก็จะเน้นเรื่องประชาสัมพันธ์ธุรกิจซึ่งเรามีทั้งปริญญาตรีและโท

ส่วนในปีหน้าคณะเรากำลังจะเปิดสาขาใหม่ เป็นระดับปริญญาโท คือ”สาขาการจัดการธุรกิจสื่อ”จะเป็นการรวมระหว่างสาขาวิทยุโทรทัศน์กับหนังสือพิมพ์หรือเรียกว่าเป็นการจัดการสื่อดั้งเดิมกับสื่อสมัยใหม่ทุกรูปแบบ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 19 เมษายน พ.ศ. 2551 09:00:00

แท็ก คำค้นหา