สมัครกับหนังสือพิมพ์

โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่

มีคนจำนวนหนึ่งบอกว่า เขาไม่ดู ไม่ฟังรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์เพราะดูแล้วรู้สึก ทุเรศ น่าเบื่อ น่ารำคาญ ไม่มีสาระ พูดไม่รู้เรื่อง เอาแต่ด่าหนังสือพิมพ์แล้วก็แก้ตัวไปเรื่อยๆ ประเภทเอาสีข้างเข้าถู (จนสีข้างถลอกปอกเปิกไปหมดแล้ว)……..

แต่สำหรับผมแล้ว ด้วยอาชีพการเป็นคนทำหนังสือพิมพ์จะต้องให้ความสนใจ เพราะนายสมัคร ซึ่งไม่ได้เป็นตาแก่ผมหงอกธรรมดาที่อยู่บ้านเลี้ยงหลานตา หากแต่มีตำแหน่งเป็นถึงนายกรัฐมนตรี การคิด การพูด และการกระทำของเขามีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศชาติและประชาชน

ไม่ว่าโดยส่วนตัวของผมจะคิดอย่างไร จะชอบหรือไม่ชอบนายสมัคร ซึ่งคนคนนี้ผมได้เห็นบทบาทมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เคยสัมภาษณ์ ทำข่าวที่รัฐสภา จากวันนั้นถึงวันนี้ นับเวลาได้ 30 กว่าปี ผมก็ต้องทำจิตใจให้สงบ ตั้งสติให้มั่นเพื่อฟังเขาพูด ได้หน้าเห็นตา เห็นอากัปกิริยาทางหน้าจอโทรทัศน์ จะได้รับรู้ว่าเขาพูดอะไร อย่างไร

บนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้นำประเทศ นายสมัครจะคิด พูด ทำอะไรล้วนเป็นเรื่องที่คนไทยต้องสนใจ แม้เขาจะออกตัวว่าเป็นคนต้นทุนต่ำ เป็นคนไม่ยอมตบะแตก จะไม่ยอมเป็นหุ่นเชิดให้กับ ส.ส.ในพรรคพลังประชาชน (แต่พร้อมจะเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย) จะไม่ยอมตกหลุมให้ฝ่ายค้านหรือนักข่าวและอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ก็เป็นเรื่องของเขา เพียงแต่ขอให้คิด พูด และทำให้ดี

ในความเป็นจริง นายสมัครอยู่ท่ามกลางการถูกตรวจสอบและถ่วงดุลตลอดเวลาจากหลายฝ่าย เช่น จากกลุ่มก๊วนต่างๆ ในพรรคพลังประชาชน, พรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรค, พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน, วุฒิสภา, นักวิชาการ, กลุ่มองค์กรภาคประชาชน, กลุ่มผลประโยชน์, ฯลฯ

สิ่งหนึ่งที่ผมเกรงว่านายสมัครจะสะดุดขาตัวเองหกล้มลงก็คือ การใช้เวลาส่วนใหญ่ทั้งในการออกโทรทัศน์รายการ “สนทนาประสาสมัคร” และการให้สัมภาษณ์นักข่าวไปกับการตอบโต้หนังสือพิมพ์ พร้อมๆ กับการแก้ตัวเรื่องนั้น เรื่องนี้อย่างชนิด “ด่าหนังสือพิมพ์รายวัน” เพราะคิดว่าหนังสือพิมพ์เสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ไม่ถูกต้อง แต่มองไม่เห็นความผิดพลาดของตัวเอง

ในแง่ของคนทำหนังสือพิมพ์ไม่ได้วิตกทุกข์ร้อนอะไรหนักหนากับการที่คนเป็นนายกรัฐมนตรีออกมาตำหนิติเตียนหรือด่าว่าหนังสือพิมพ์โครมๆ เช่น หาว่ามีปัญญาแค่นี้หรือ ขอให้หมั่นไปสัมมนากันหน่อย ฯลฯ เพราะนี่คืออุปนิสัยใจคอของคนชื่อ “สมัคร” มาแต่ไหนแต่ไร

คนคนนี้อีกเช่นกันที่ขนาดมาเป็นผู้นำประเทศ กุมชะตากรรมของบ้านเมือง ต้องรับผิดชอบชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทั้ง 60 กว่าล้านคน ควรได้ชื่อว่าเป็นผู้มีเกียรติ ควรได้รับความเคารพ ความนับถือจากผู้คน แต่ก็ยังไม่วายที่คนจำนวนหนึ่งเคยเรียก “ไอ้” นำหน้าชื่อของเขามาอย่างไรก็ยังเรียกขานอยู่อย่างนั้น

เมื่อผู้นำประเทศเป็น (เสีย) แบบนี้ รัฐบาลทั้งรัฐบาลจึงมีภาพลักษณ์ตามผู้นำไปด้วย นั่นคือ เมื่อมีอะไรไม่ถูกใจ ต้องโวยวายไว้ก่อน

การใช้รายการ “สนทนาประสาสมัคร” ทุกเช้าวันอาทิตย์เป็นเวทีแก้ตัวพร้อมกับต่อว่าต่อขานหนังสือพิมพ์หรือแม้แต่ในโอกาสต่างๆ เวลาตอบคำถามผู้สื่อข่าว อาจจะฟังดูมันส์ สนุกสนาน สะใจบรรดากองเชียร์ แต่คนที่เป็นกลาง มีความคิดมีเหตุผลเขาอาจจะส่ายหน้ากับการใช้ตรรกะที่ตื้นเขินจำพวกนักโต้วาทีที่เรียกเสียงปรบมือลั่นห้องประชุมก็ได้ เพราะการแก้ตัวนั้นไม่ได้ยืนอยู่บนข้อเท็จจริง ไม่ได้ยึดหลักเหตุผลซึ่งว่าไปแล้วก็มีหลายมิติที่ต้องรู้จักผสมผสานกันจนเพื่อให้สิ่งที่พูดออกมานั้น มีความชอบธรรม การเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน การยึดมั่นผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น

กรณีการแก้ข่าวเรื่องการปฏิวัติที่นายสมัครพูดเอง ยอมรับเองเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ว่า ได้รับใบปลิวเขียนด้วยลายมือใส่ซองจ่าหน้าถึงนายกรัฐมนตรีจึงนำไปอ่านดู เนื้อหาในใบปลิวกล่าวถึงขบวนการทำลายรัฐบาล มีชื่อคนที่ประชุมวางแผนคิดจะทำปฏิวัติเพื่อโค่นล้มรัฐบาล แถมยังทิ้งท้ายว่า ถ้าเป็นไปได้จะถ่ายสำเนามาให้สื่อมวลชนอ่าน คนที่คิดตามข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ย่อมเห็นตรงกันว่า นายสมัครนั่นแหละที่พูดเป็นตุเป็นตะเอง แล้วจะมาตีโพยตีพาย ใส่ร้ายหนังสือพิมพ์ได้อย่างไร

ไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งเดียว แต่ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้วในรอบ 2 เดือนที่นายสมัครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะคำพูดแท้ๆ ที่ผูกมัดตัวเองให้ตกอยู่วังวนของความขัดแย้งกับหนังสือพิมพ์โดยไม่จำเป็น แทนที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาของประเทศ แสดงภาวะการเป็นผู้นำให้เข้าตาประชาชนในแง่ที่ว่า นายกรัฐมนตรีคนนี้มีความซื่อสัตย์ เป็นอิสระ มีความรู้ ความสามารถ มีกิริยาสุภาพ ไม่สามหาว รู้จักให้เกียรติและยกย่องผู้อื่นอย่างจริงใจ ฯลฯ แล้วพูดจาอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้สื่อสารมวลชนทุกแขนงนำไปเสนอข่าวและเขียนแสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมา กลับต้องมาเผชิญกับหนังสือพิมพ์โดยมีฝ่ายที่ถูกนายสมัครพาดพิงถึงออกมาเปิดฉากกล่าวหา โจมตี

แม้นายสมัครจะเปลี่ยนหรือเลิกนิสัยการเป็นศัตรูกับหนังสือพิมพ์ไม่ได้ แต่นายสมัครซึ่งเป็นนักการเมืองเก่า-แก่มานานเกือบ 40 ปี ควรจะรู้ว่า หนังสือพิมพ์ไทยก็เป็นเช่นนี้ มีบทบาท มีหน้าที่และมีวิวัฒนาการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของวิชาชีพมาอย่างยาวนาน รวมทั้งนายสมัครควรจะรู้ว่า ธรรมชาติของนักการเมืองไทยเป็นอย่างไร

สมมุติว่า นายสมัครอยากจะเพิ่มต้นทุนของตัวเองที่ต่ำให้สูงขึ้นและอยู่ไปจนครบเทอม ระหว่าง 2 แนวทาง คือ ทุ่มเทเวลามาต่อปากต่อคำกับหนังสือพิมพ์หรือควรจะเอาเวลาไปฟังข้อเสนอแนะจากคนที่ควรจะฟัง เคารพการแสดงความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์และคนในสังคม การประชุมวางแผนและสั่งการ มอบหมายให้รัฐมนตรีและข้าราชการลงไปแก้ปัญหาสำคัญเร่งด่วน

นักการเมืองในพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลก็ลองไตร่ตรองดูว่า การมีผู้นำพรรคและได้มาเป็นหัวหน้ารัฐบาลอย่างนายสมัครจะเอาแต่สรรเสริญเยินยอ หรือนิ่งเฉยไว้หรือกล้าแสดงความคิดเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นก็ไปคิดกันเอาเอง

อยากจะรู้เหมือนกันว่า รัฐบาล “สมัคร” ถ้าเกิดมีสภาพเป็น “เป็ดง่อย” ขึ้นมาวันใด คนต้นทุนต่ำอย่างนายสมัครจะไปได้สักกี่น้ำ

ที่มา มติชน วันที่ 03 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10981 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา