ช่อง 11 ทีวีพันธุ์พิเศษ?

๐ นงค์นาถ ห่านวิไล
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : รัฐมนตรีผู้กำกับดูแลสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กำลังมุ่งเดินหน้าปรับใหญ่ช่องทีวีเนื้อหอมแห่งนี้ โดยลั่นคีย์เวิร์ดหลายๆ คำออกมา ทำให้ประชาชนผู้บริโภคสื่อ รู้สึกสับสนอยู่พอสมควร เพราะบางทีก็บอกว่าเป็น “สื่อราชการ” โดยอธิบายว่า จะพัฒนาให้เป็นสื่อของรัฐบาลระดับประเทศชาติ ต่อมาก็มีคำว่า “สถานีโทรทัศน์สาธารณะของรัฐบาล” ที่มีอิทธิพลในทางบวกต่อผู้รับสารทั่วประเทศ ตามมาด้วย สถานีทีวีแห่งชาติ (Nationwide) เพื่อให้สถานีทีวีต่างจังหวัด 12 สถานี ออกอากาศเนื้อหาสาระข่าวเหมือนกับช่อง 11 ส่วนกลาง ต่อมาก็มีคำว่า ทีวีสาธารณะ ภายใต้แนวคิด “โมเดิร์น อีเลฟเว่น” ด้วยการนำเสนอเนื้อหาสาระคุณภาพ เป็นกลาง และเป็นธรรม โดยจะเป็นโมเดลรายการคล้ายกับ “ไทยพีบีเอส” (ทีวีสาธารณะที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายใหม่ อยู่ภายใต้องค์กรอิสระ)

ไม่รู้ว่า ช่อง 11 จะเป็นทีวีประเภทไหน หรือ สายพันธุ์ใด กันแน่?

แต่ที่แน่ๆ การเป็น “ทีวีสาธารณะ” จะภายใต้แนวคิด “โมเดิร์น อีเลฟเว่น” หรือ สถานีโทรทัศน์สาธารณะของรัฐบาล ก็ตามที คำว่า ทีวีสาธารณะนั้นจะต้องปลอดจากการเมือง และไม่ใช่เป็นทีวีของรัฐ และของรัฐบาล แต่ต้องเป็นสถานีทีวีของประชาชน

ทว่า ช่อง 11 ยังอยู่ในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ และมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้กำกับดูแลนโยบายของกรมแห่งนี้ การที่ท่านบอกว่า ทีวี ช่อง 11 จะนำเสนอเนื้อหาสาระคุณภาพ ด้วยความเป็นกลาง และเป็นธรรม ไม่ต้องเชียร์รัฐบาลนั้น ฟังดูแล้วยังนึกภาพไม่ออกจริงๆ

เพราะตราบใดที่โครงสร้างยังเป็นแบบนี้ ความเป็นกลาง และความเป็นธรรม หรือ การสร้างสมดุลของข่าวสาร จะมีความเป็นไปได้อย่างไร

การประกาศ โมเดลของช่อง 11 ที่ชัดเจน ไม่สร้างความสับสนและบอกความจริงกับสังคมเป็นเรื่องที่ควรทำตั้งแต่การเปิดตัวโฉมใหม่ ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ อย่าให้ใครต่อใครมาต่อว่าได้ว่า “หลอกลวงสังคม”

การประกาศตัวเป็นทีวีพันธุ์พิเศษขนาดไหน ก็ประกาศออกไปให้ผู้บริโภคข่าวสารรับรู้ พวกเขาจะได้รู้เท่าทันสื่อบ้าง

ขณะที่แนวคิด เรื่องของที่มารายได้ ก็เป็นอีกประเด็นร้อนที่กำลังถกเถียงของคนในสังคม โดยเฉพาะแผนการของรัฐบาล ที่ระบุว่า จะให้กระทรวงการคลัง ยกเลิกเก็บภาษีรายได้ 25% ของรายได้ช่อง 11 สามารถหาเลี้ยงตัวเอง และให้หน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรวมๆ กันน่าจะมีงบโฆษณา ประชาสัมพันธ์ปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท จัดสรรมาลงช่อง 11 สัก 25% เพื่อช่วยให้มีรายได้มาพัฒนาองค์กร และบุคลากรนั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึง “การอุ้ม” ชูสุดตัว โดยรัฐบาล

เพราะหากโมเดลช่อง 11 เจ๋ง เป็นที่น่าสนใจ รายการมีคุณภาพ หลากหลาย ดึงดูดให้ผู้คนอยากกดรีโมตไปชมเรทติ้ง ย่อมพุ่งกระฉูด เอเยนซีโฆษณา ต่างๆ จะพากันวิ่งเข้ามาจับจองซื้อเวลาเองโดยอัตโนมัติ มิต้องไปบังคับให้ “ผู้ไร้ทางต่อรอง” อย่างหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ ต้องจำยอมควักกระเป๋าจ่าย เพราะหากทำเช่นนั้นจริงๆ ทีวีช่องนี้ย่อมได้เปรียบช่องใดๆ ในปฐพี ที่สำคัญเม็ดเงินจากหน่วยงานรัฐที่บอกว่าจะนำมาเป็นรายได้ โดยผ่านการโฆษณาหน้าจอ ต้องสำนึกด้วยว่า “มาจากภาษีของประชาชน”

ที่มา กรุงเทพธุกิจออนไลน์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551 00:00:00

แท็ก คำค้นหา