ทีวีแห่งรัฐกับทีวีรัฐบาลเป็นเรื่องเดียวกันไม่ได้เป็นอันขาด

กาแฟดำ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

หากช่อง 11 จะเป็น “Modern Eleven” ที่จะเป็น “ทีวีสาธารณะของภาครัฐ” อย่างที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ จักรภพ เพ็ญแข ทำเพื่อให้เกิด “ความสมดุลของข่าวสาร” และให้เป็นทีวีแห่งสาระและคุณภาพในอุดมการณ์อันน่าชื่นชม ก็สมควรที่คนทำสื่อจะต้องแสดงความยินดีปรีดาด้วยอย่างแน่นอน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : แต่ที่สำคัญคือต้องแยกระหว่างคำว่า “ทีวีของรัฐบาล” กับ “ทีวีของรัฐ” ให้ชัดเจนเพราะคำว่า state TV กับ government TV นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

อย่างแรกเป็นทีวีที่ยอมรับว่าประชาชนเป็นเจ้าของเพราะมีการจัดสรรงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนมาบริหาร จึงต้องทำให้โปร่งใส สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน…อีกทั้งควรจะต้องบริหารโดยคนที่ประชาชนเห็นว่าเป็นมืออาชีพ และไม่ทำเพื่อเอาใจผู้เป็นรัฐบาล

อย่างหลังเรียกว่า government TV ซึ่งแปลตรงตัวว่าเป็นทีวีของรัฐบาล…หรือพูดง่ายๆ คือเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล มีบทบาทที่ไม่ปิดบังอำพรางว่าอะไรที่ออกจากจอทีวีของสถานีนี้คือสิ่งที่รัฐบาลพยายามให้ประชาชนเชื่อตามเท่านั้น…

อย่างแรกพอจะมีความน่าเชื่อถือ อย่างหลังไม่มีสิทธิจะเรียกร้องให้ใครเชื่อว่าข่าวสาร และสิ่งที่วิเคราะห์วิจารณ์นั้นมีความน่าเชื่อถือเลย

อย่างแรกจะได้ยิน และฟังทั้งความเห็นของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ฝ่ายเห็นด้วยและคัดค้าน…แต่อย่างหลังจะได้ฟังแต่เพียงด้านเดียวของรัฐบาล

ยังจำบทบาทของทีวีและวิทยุของรัฐบาลทั้งหมดในช่วง “พฤษภาทมิฬ” ปี พ.ศ.2535 ได้หรือไม่?

เหมือนสมัย “รัฐบาลหอย” หลังปฏิวัติ 6 ตุลา 2519 (ที่คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย) ที่ออกหนังสือพิมพ์ “เจ้าพระยา”โดยอ้างว่าจะเขียน “ความจริง” ที่ประชาชนควรจะได้รับรู้จากรัฐบาล

ตอนแรกก็อ้างว่าเป็นหนังสือพิมพ์อาชีพ แต่คนอ่านไม่ได้กินแกลบ อ่านเนื้อหาแล้วก็รู้ว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีประชาชนมาทำหนังสือพิมพ์แข่งกับเอกชนเขาทั้งๆ ที่ตัวเองก็มีทีวีและวิทยุที่กำกับควบคุมและสั่งการอยู่แล้ว

ผลก็คือหนังสือพิมพ์ “เจ้าพระยา” ต้องล้มเลิกไป เพราะขายไม่ออก กลายเป็นเรื่องตลกที่ยังจารึกอยู่ในวงการเมืองทุกวันนี้ (แต่วงการสื่อไม่เคยถือว่า “เจ้าพระยา” เป็นส่วนหนึ่งของสื่อเลย…เหมือนที่กระทรวงพาณิชย์ เคยออกหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ “ข่าวพาณิชย์” มาก่อนเช่นกัน)

ช่อง 11 ที่จะปรับโฉมใหม่ภายใต้การสั่งการและกำกับของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ก็จะต้องบอกกล่าวกับประชาชนให้ชัดเจนเสียตั้งแต่ต้นว่าจะเป็น state TV หรือเป็นกระบอกเสียงที่เรียกว่า government mouthpiece เพื่อป้องกันความสับสนในหมู่ผู้เสียภาษีและประชาชนคนดู

ที่นายกฯ และรัฐมนตรีบอกว่าคนทำทีวีช่องนี้ “ไม่ต้องเชียร์รัฐบาล” ก็ไม่ได้หมายความว่าจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้…เพราะวาทะกับการกระทำของคนบางคนนั้นได้พิสูจน์มาครั้งแล้วครั้งเล่า

ที่สำคัญคือคนทำสื่อที่เป็นมืออาชีพและกำลังได้รับคำเชื้อเชิญให้เข้าไปทำงานที่นั่นหรือผลิตรายการให้นั้น จะได้ตัดสินถูกว่าจะรักษาระยะห่างของตนอย่างไร จึงจะไม่ให้สาธารณชนที่เคยเลื่อมใสศรัทธาผลงานของพวกเขาและเธอในอดีตนั้น จะต้องเกิดคำถามในใจว่ามีอะไรผิดแปลกไปจากอุดมการณ์เดิมหรือไม่

เพราะหากสื่อที่เชื่อในความเป็นอิสระเข้าทำงานในช่องทางที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลแล้ว ก็จะต้องเผชิญกับความน่าสงสัยคลางแคลงใจของประชาชนคนดู ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเสียหายในชื่อเสียงเกียรติภูมิของความเป็นมืออาชีพของตนได้

ยิ่งถ้าหากเป็นไปตามที่เป็นข่าวจากกรมประชาสัมพันธ์ ว่าจะขอให้หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจจัดสรรร้อยละ 25 ของงบประชาสัมพันธ์ และโฆษณามาให้กับทีวีช่องนี้ ก็เท่ากับว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐบาลในการกำหนดว่า หน่วยราชการใช้งบประมาณของตนอย่างไรเพื่อประโยชน์ของอีกหน่วยงานราชการ

เท่ากับเป็นการลิดรอนสิทธิ์และอำนาจการตัดสินใจใช้งบประมาณด้านประชาสัมพันธ์และโฆษณาของหน่วยราชการ ที่วัดผลงานด้วยประสิทธิภาพของการบริหาร ไม่ใช่ด้วยความพร้อมที่จะรับใช้ผู้มีอำนาจทางการเมือง

อีกทั้งจะเกิดข้อครหาว่ารัฐบาลกำลังใช้อำนาจของตนเพื่อสร้าง “ความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน” เพราะสื่อมวลชนทั้งหลายเขาได้แข่งขันกันมาตลอดเพื่อเชิญชวนให้หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ ใช้งประชาสัมพันธ์และโฆษณาบนพื้นฐานของประสิทธิภาพและผลงาน ต่อสาธารณชนที่แตกต่างกันไปในแต่ละสื่อ

หากไปบังคับให้เขาต้องแบ่งสรรงบจำนวนเท่านั้นเท่านี้ให้กับทีวีช่องใดเป็นการเฉพาะ ก็เท่ากับเป็นการไม่ให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจมีอิสระตามความเป็นมืออาชีพของตนในการใช้วิจารณญาณ

เท่ากับเป็นการแทรกแซงอำนาจบริหารของรัฐวิสาหกิจ และเกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันอย่างเสรีและเปิดเผย ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการที่รัฐไม่เข้าแข่งขันกับเอกชน และสร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ

อีกข้อหนึ่งที่สำคัญคือถ้าหากจะเปิดโอกาสให้คนทำสื่อมืออาชีพเข้าไปร่วมกันสร้างให้เป็นสถานีทีวีสาธารณะแห่งรัฐแล้ว ช่อง 11 โฉมใหม่ก็ควรจะต้องเปิดกว้างอย่างโปร่งใสให้คนมีความสามารถและประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วในวงการนี้ ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมในการสร้างสถานีทีวีของสาธารณชนด้วย

เพราะนอกเหนือจากคนเก่าของทีไอทีวี ที่มีข่าวว่าได้แสดงความจำนงจะเข้าร่วมงานด้วยแล้ว ก็ยังมีคนข่าวทีวีที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่ประจักษ์แจ้ง ที่จะต้องได้รับโอกาสที่เท่าเทียมและให้มีการแข่งขันกันอย่างเท่าเทียมและเปิดเผยเช่นเดียวกัน

หรือหากจะช่วยเหลือคนทำทีวีที่ตกงานจริงๆ ก็ต้องพิจารณาคนข่าวจากค่ายอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่จะช่วยเหลือกันจริงๆ…อย่างเท่าเทียมกันในโอกาสนี้อีกด้วยเช่นกันมิใช่หรือ?

ยกเว้นเสียแต่ว่าท่านรัฐมนตรีจะบอกว่านี่เป็นสถานีของรัฐบาล ฉันจะทำอย่างไร จะให้ใครทำ จะบรรเลงอย่างไรก็เรื่องของฉัน

นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง…และกรุณาลืมทุกประเด็นที่เขียนมาข้างต้นเสีย…เพราะหากทีวีช่องนี้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลนี้เสียแล้ว ก็ต้องให้ประชาชนและประวัติศาสตร์จากนี้ไปเป็นผู้ตัดสินเองเสียแล้วกระมัง

เพราะทีวีภายใต้อำนาจรัฐกับทีวีเพื่อสาธารณะนั้น ไม่ว่าจะโฆษณาชวนเชื่อให้เกิดภาพลักษณ์สวยงามเพียงใด ก็ไม่มีวันเป็นเรื่องเดียวกัน และไม่มีวันตบตาประชาชนคนดูได้เป็นอันขาด

ที่สุดของที่สุดแล้ว ในสายตาของคนดูและคอข่าวนั้น “เงาของผู้มีอำนาจในรัฐบาล” ที่ทับทาบอยู่ข้างหลังในฐานะ “มือที่มองไม่เห็น” นั้นย่อมทำให้คำอ้าง “ความเป็นมืออาชีพ” ของคนทำข่าวติดลบตั้งแต่เริ่มออกอากาศแล้ว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 12 มีนาคม พ.ศ. 2551 00:00:00

แท็ก คำค้นหา