โดย ลำแข
หนังสือพิมพ์มติชน
ไทย พับลิค บรอดแคสติ้ง เซอร์วิส หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า *ทีพีบีเอส* แพร่ภาพมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยมีผู้ติดตามความเปลี่ยนแปลงไม่น้อย
ด้านข่าวสารนั้น แม้จะพยายามอย่างเห็นได้ชัด แต่อาจยังเป็นระยะแรกเริ่มของการจัดกระบวนทำงาน จึงยังไม่มีความแตกต่างที่โดดเด่นไปกว่าสถานีอื่น ตรงกันข้าม ขณะนี้งานข่าวของช่อง ๙ อสมท ดูจะครอบคลุมและมีรายละเอียดน่าชมอยู่มาก
นอกจากหนังสารคดีซึ่งได้ข่าวว่าซื้อตุนกันไว้พะเรอ มาวนเวียนให้ชมกันมากกว่ารายการอื่นๆ ในช่วงแรก ก็มักมีรายการสัมภาษณ์บุคคลเกี่ยวกับความสำคัญของสถานีโทรทัศน์สาธารณะ หรือความต้องการของสาธารณชนต่อสถานีโทรทัศน์สักแห่งหนึ่ง สลับวงการกันมาให้ความคิดเห็น
แต่นั่นแหละ ดูมากๆ เข้าอย่างเช่นมีแต่เรื่องของญี่ปุ่นครึ่งค่อนวัน ก็รู้สึกขึ้นมาได้เหมือนกันว่า ชักจะรู้จักคนอื่นดีกว่าตัวเองเข้าทุกที
งานที่สถานีต้องทำให้เกิดความแตกต่าง และเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะขึ้นมาจริงๆ ก็คือผลิตสารคดีที่เป็นการเรียนรู้ในประเทศ ซึ่งให้ประโยชน์ผู้ชมอย่างจริงจังในการปูรากฐานความเข้าใจปัจจุบัน เพื่อเป้าหมายในอนาคต
โดยเฉพาะตัวอย่างจากอดีตเป็นอาทิ ไม่ว่าศิลปวัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นเรื่องท้องถิ่นอย่างที่คุยๆ ถามๆ กันอยู่นั้น และระดับชาติ
ดูง่ายๆ ความรู้ที่ได้จากการเดินทางของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ที่แพร่ภาพให้ชมทุกครั้งซึ่งเสด็จประพาสต่างประเทศนั้น แต่ละสถานที่ให้ความรู้ทั้งประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน
ติดตามชมเพียงไม่กี่นาทีก็พอเห็นภาพและเข้าใจสถานที่หรือชุมชนนั้นๆ ได้
รายการท่องเที่ยวบ้านเราส่วนมากมักเที่ยวกันอย่างเดียวจริงๆ คือแสวงความสำราญจากการไปอยู่ไปกินหรือซื้อข้าวของจากสถานที่นั้นๆ ไม่ค่อยได้เห็นวิถีชีวิตหรือความเป็นอยู่ของเจ้าของสถานที่
ยิ่งรูปแบบหรือเนื้อหาของชีวิตวัฒนธรรมที่กำลังสูญหาย เนื่องจากถูกวิถีสังคมเมืองค่อยๆกลืนกินไป จะทำออกมาให้น่าดูน่าสนใจอย่างไร
หาตัวอย่างที่พูดมาได้ไม่ยากก็คือ สารคดีอย่างของญี่ปุ่นที่ซื้อมาให้ดูนั่นแหละ ไม่ว่าเรื่องอะไร มาเป็นแบบทำเรื่องไทยๆ ใส่เข้าไปแทน
เท่านี้ก็เป็นการเริ่มต้นที่น่าชมและแปลกไปแล้ว
ที่มา มติชน วันที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10951 หน้า 24