Adisak
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ทำไมผู้คนในแวดวงสื่อสารมวลชนฟัง”อาจารย์จักรภพ เพ็ญแข”รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและอดีตแกนนำแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการ (นปก.)
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : พูดหลายวาระหลายโอกาสถึงการจัด”ระบบสื่อ”ที่ไม่ใช่เป็นการจัด”ระเบียบสื่อ”แล้ว ยังไม่ค่อยมีใครไว้วางใจ”อาจารย์จักรภพ”มากนักว่าจะทำเพื่อ”จัดระบบสื่อวิทยุและโทรทัศน์”จริงๆ หรือเพื่อ”เพื่อนพ้องน้องพี่”ที่กอดคอร่วมต่อสู้กันหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
ผมตั้งคำถามก่อนเริ่มคอลัมน์นี้ เพื่อจะทำหน้าที่”กระจก”ให้”อาจารย์จักรภพ”ส่องมองเห็น”ตัวเอง”แจ่มชัดขึ้น แล้วลองทบทวน”วาทกรรม”หรือประโยคที่เป็น”คีย์เวิร์ด”หลักๆ ของอาจารย์หลายๆ ครั้งในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า
ทำไมจึงยังไม่เพียงพอให้เกิดความเข้าใจแนวทางการเพิ่มพื้นที่สื่อ , ทำไมจึงยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นว่าไม่แทรกแซงสื่อ
และทำไม? จึงยังไม่เป็นความหวังใดๆ ให้วงการสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่อาจารย์เคยทำมาหากินเลี้ยงชีพอย่างสุจริตมาก่อน ซึ่งหลายคนผิดหวังในวาทกรรมของอาจารย์ที่น่าจะมีแจ่มชัดและตรงไปตรงมามากกว่านี้ ถึงแนวทางการขยาย”พื้นที่สื่อ”และเปิด”เสรีสื่อ”ที่ยังเป็นวาทกรรมที่กำกวมและออกจะซ่อนเร้นปมแค้นไว้มาก
คำตอบน่าจะเป็นเพราะ”ประโยคคีย์เวิร์ด”หลักๆ ของอาจารย์ในฐานะ”รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี”ที่กำกับดูแลสื่อภาครัฐและการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ยังวนเวียนอยู่กับ”อดีตฝังใจ”ในระหว่างวันที่ 19 ก.ย. 2549 – วันที่ 23 ธ.ค. 2550
เช่น สื่อของรัฐรับใช้รัฐบาลเผด็จการกรณีช่อง 11 และช่อง 9 , รัฐบาลเผด็จการปิดกั้นเสรีภาพสื่อในกรณีสถานีโทรทัศน์พีทีวี , สิ่งใดก็ตาม”งอก”จาก”อำนาจเผด็จการ”จะต้องรื้อทิ้งทำใหม่กรณีไทยพีบีเอส , สื่อเอกชนทำให้สังคมแตกแยกกรณีเอเอสทีวี ฯลฯ
“อาจารย์จักรภพ”อาจจะยังสาละวนกับการปรับตัวปรับใจในอำนาจวาสนาเสนาบดีหล่นทับอย่างไม่คาดคิดมาก่อนในชีวิต จนยังไม่มีเวลาปรับเปลี่ยน”โหมดความจำ”ในสมองอันปราดเปรื่อง ณ ปัจจุบันไม่ใช่แกนนำนปก.ที่เคลื่อนไหวคัดค้านรัฐบาลทหาร แต่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเลือกตั้ง
อยากจะขอร้องให้อาจารย์ลองหาสถานที่สงบๆ พักนิ่งๆ สักวัน แล้วเปลี่ยน”โหมด”ย้อนเวลากลับไป”จูนความคิด”เดิมๆ ในช่วงก่อนเข้ามาเป็น”โฆษกรัฐบาล”ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ช่วงอาจารย์เป็นกรรมการในสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยที่มีสถานะเป็น”ผู้เล่น”ในวงการสื่อวิทยุและโทรทัศน์คนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่”ผู้กำกับดูแลเชิงนโยบาย”ที่มีอำนาจในการผลักดันและชี้เป็นชี้ตายให้กับวงการวิทยุและโทรทัศน์ภาครัฐได้
ผมมักจะได้ยินได้ฟังการแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ถึงการเร่งรณรงค์”ปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั้งระบบ”จากอาจารย์หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งมีแนวทางไม่ค่อยแตกต่างจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อวิทยุและโทรทัศน์โดยทั่วไปในปัจจุบันมากนัก
แต่เมื่ออาจารย์มีอำนาจวาสนาในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กลับไม่ได้ยิน”วาทกรรม”ว่าด้วยการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั้งระบบ แต่กลายเป็นการย้ำเฉพาะคำว่า”จัดระบบสื่อ”ที่ผู้คนในวงการสื่อ (ทั้งสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์) ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นการ”เล่นคำ”ของ”อดีตนักพูด”คนหนึ่งเท่านั้นเอง เพื่อเลี่ยงคำว่า”จัดระเบียบสื่อ”ที่มีความหมายเชิงลบมากกว่า
แม้ว่าอาจารย์จะพยายามอธิบายหลายครั้งว่าการจัดระบบสื่อมีความหมายแบบกว้างคือการเพิ่มพื้นที่เล่นของสื่อที่เป็นกลางและมีคุณภาพมากขึ้น
แต่เหตุไฉนจึงยังมีผู้คนในวงการสื่อจำนวนมากมักติฉินนินทาว่ากล่าว ตั้งสมญานามดูหมิ่นความเป็นชายว่า”เจ๊เพ็ญ”กำลังหาพื้นที่สื่อเพื่อตอบโต้และชำระแค้นฝ่ายตรงกันข้าม เช่นเดียวกับช่วงรัฐบาลทักษิณที่ถูกทิ่มแทงจากสื่อใหม่ๆ
บางคนมองไปถึงขั้น”เจ๊เพ็ญ”น่าจะกำลังวางแผนจัดสรรพื้นที่”ทำกิน”ให้กับ”เพื่อนพ้องน้องพี่”จากกลุ่มนปก.และพีทีวี หาใช่การ”จัดระบบสื่อ”เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นตลอดช่วงรัฐบาลทักษิณ
ที่มีทั้งการแทรกแซง,แทรกซื้อและแทรกซึมสื่อ
กรณีปรับเปลี่ยนช่อง 11 ให้เป็น”โมเดิร์นอีเลฟเว่น” จึงยังน่าเคลือบแคลงใจว่าเป็นการเพิ่มพื้นที่”สื่อที่เป็นกลาง” และการหาพื้นที่ให้”สื่อที่คุณภาพ”ที่มีเฉพาะอดีตพนักงานสถานีโทรทัศน์ไอทีวีจริงหรือเปล่า
การเปรยดังๆ ของอาจารย์และ”นายกรัฐมนตรีของเรา”ถึงการแก้มติคณะรัฐมนตรีเพื่อเปิดทางให้โฆษณาแบบโลโก้สปอนเซอร์ หรือแม้กระทั่งแก้กฎหมายเพื่อให้ช่อง 11 สามารถหารายได้จาก”โฆษณา”
ทำให้เกิดข้อสงสัยเคลือบแคลงว่าแนวคิด”โมเดิร์นอีเลฟเว่น”จะกลายเป็นการแปลง”สถานีโทรทัศน์ของรัฐที่ห้ามมีโฆษณา”ให้เป็น”สถานีโทรทัศน์ของรัฐที่มีโฆษณา”
เพื่อเป็น”ท่อน้ำเลี้ยง”ถ่ายผลประโยชน์งบโฆษณาประชาสัมพันธ์จากรัฐวิสาหกิจเข้ากระเป๋า”เพื่อนพ้องน้องพี่” หาใช่การมุ่งผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์เชิงคุณภาพเพื่อแข่งขันกับสถานีโทรทัศน์สาธารณะไทยพีบีเอสที่เป็นเพียงข้ออ้าง
อาจารย์คงไม่รู้ว่าคนที่อ้างตัวว่าเป็น”สื่อที่เป็นกลาง”หรือ”สื่อคุณภาพ”ที่นัวเนียอยู่รอบๆ อาจารย์และพรรคพลังประชาชน กำลังรวบรวม”อำนาจและทุน”เพื่อจัดตั้ง”โฮลดิ้ง”อาณาจักรสื่อครบวงจร ทั้งสิ่งพิมพ์,วิทยุ,โทรทัศน์,อินเทอร์เน็ตและนิวมีเดียเพื่อเร่ง”ต่อท่อ”งบประมาณประชาสัมพันธ์ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการบีบคั้นภาคเอกชนให้เข้ามา”อุดหนุน”แลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ภาครัฐผ่านรัฐมนตรีหลายกระทรวง
ผมหวังว่า”อาจารย์จักรภพ”คงไม่ใช่”นักแสวงหาผลประโยชน์”หรือกลายเป็นนักการเมืองชั้นต่ำหรือสมคบกับ”อรหันต์วงการสื่อ”ทำเรื่องชั่วๆ แต่ยังคงเป็น”อาจารย์จักรภพ”ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศได้อย่างแหลมคมและในอนาคตอาจจะกลับมาทำหน้าที่และประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างสุจริต
หรือถ้าหากอาจารย์ไม่คิดหวนกลับมาสู่วิชาชีพสื่อมวลชนอีก ผมอยากจะเห็น”นักการเมืองหนุ่ม”อนาคตไกลที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาความสลับซับซ้อนของระบบสื่อและโครงสร้างสื่อมวลชนในแขนงวิทยุโทรทัศน์และสื่อใหม่ๆ ในบ้านเราที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตย ผลักดันให้เป็น”สื่อเสรี”เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
ผมคงไม่บังอาจสอนหนังสือสังฆราชอย่างอาจารย์ที่เจนจัดวงการสื่ออยู่แล้วว่าควรจะทำอะไรบ้างเพื่อ”ปฏิรูปสื่อทั้งระบบ” แต่อยากจะขอร้องให้ลบ”โหมดความจำ”ในอดีตว่าด้วย”งาช้างไม่เคยงอกออกจากปากหมา”
เดินสู่”โหมด”เส้นทางการ”ปฏิรูปสื่อ”อย่างต่อเนื่องนับจากช่วงปี 2540-2550 ที่แม้ยังไม่สำเร็จเดินหน้าไปมากนัก แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนทำให้หลายอย่างก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ต้องคิดเหมือนเดิมเมื่อปี 2540 หรือนับหนึ่งใหม่ย้อนไป 10 ปี
อาจารย์ควรจะเปลี่ยน”วาทกรรม”จาก”จัดระบบสื่อทั้งระบบ”มาเป็น”ปฏิรูปสื่อทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง”จะทำให้เกิดความร่วมมือจากผู้คนในวงการมากขึ้น
บทเรียนจากความล้มเหลวในการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในช่วงปี 2540 -2549 ได้ทำให้ผู้คนในวงการวิชาชีพสื่อสมัครสมานสามัคคีกันมากขึ้น แม้ความเห็นยังไม่ลงรอยกันหลายประเด็น
จนสามารถ”แสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง”แก้ไข”พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับปี 2498 “ผ่านสภานิติบัญญัติที่มาจากการรัฐประหารที่อาจารย์รังเกียจและเคียดแค้นเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2550 และกำลังอยู่ระหว่างการรอลงพระปรมาภิไธยจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววันนี้
แม้พ.ร.บ.นี้ยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถือเป็นการแก้ไขครั้งสำคัญที่จะมีผลกับการเพื่อพื้นที่สื่อใหม่จาก”กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่”ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดควบคู่ไปกับ”กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่”ที่มีอยู่อย่างจำกัด ที่จะต้องรอการจัดสรรจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะต้องจัดตั้งขึ้นภายใน 180 วันนับจากวันแถลงนโยบายของรัฐบาล
สุภาษิตไทย”งาช้างไม่เคยงอกออกจากหมา”ไม่น่าจะใช้ได้กับกรณีนี้ เพราะพ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยกรุยทางให้เกิด”พื้นที่เพิ่ม”และ”ผู้เล่นใหม่”มากขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จากการออกใบอนุญาตบริการธุรกิจ,บริการชุมชนและบริการสาธารณะแล้วแต่ความถนัดของผู้เล่นแต่ละกลุ่มและแต่ละพื้นที่
ผมค่อนข้างมีความหวังว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้”สื่อวิทยุและโทรทัศน์”เกิดขึ้นในหลายๆ รูปแบบจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนสามารถทำให้เกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ที่ประชาชนมีทางเลือกและได้ประโยชน์ทุกประตู เช่น โทรทัศน์ดิจิทัลที่สามารถเกิดได้ภายใน 1 ปี ,โทรทัศน์ดาวเทียมจะเกิดขึ้นได้ไม่จำกัด , โทรทัศน์อินเทอร์เน็ต , วิทยุดิจิทัล วิทยุอินเทอร์เน็ต , วิทยุชุมชน ,เคเบิลทีวีท้องถิ่นที่จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของฟรีทีวี ,เคเบิลทีวีดิจิทัล ฯลฯ
ในสมัยรัฐบาลเผด็จการชุดที่แล้วยังมีความพยายาม”ร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์”จากคณะทำงานหลายชุดที่มีทั้งผู้เชี่ยวชาญ,ผู้ประกอบวิชาชีพ,ผู้บริโภค ฯลฯ เข้าร่วมเสนอความเห็นและถกเถียงกันในหลายเวทีต่อเนื่องจากต้นร่างก่อนการรัฐประหาร จนเข้าใจว่า”ร่างแผนแม่บทฯ”ฉบับปรับปรุงใหม่ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว
ขอร้องอาจารย์อย่าไปตั้งแง่รังเกียจว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้คลอดจากรัฐบาลเผด็จการต้องเป็นสิ่งชั่วช้าสามานย์ อยากให้ลองหาไปศึกษาและเชื้อเชิญคณะทำงานร่างแผนแม่บทไปแลกเปลี่ยนความเห็นในฐานะ”คนในวงการเดียวกัน” เพื่อไม่ต้องเสียเวลาศึกษาแนวทางการ”จัดระบบสื่อ”ที่ผู้คนในวงการสื่อยังไม่ไว้วางใจว่าจะเป็น”ฉบับเจ๊เพ็ญ”หรือ”ฉบับประชาชน”กันแน่
ด้วยความนับถือและยังหวังว่าอาจารย์จะเปลี่ยน”โหมด”กลับมาเป็น”อาจารย์จักรภพ”คนเดิมที่เฉียบคมในมุมมองยึดถือผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก อย่ากลายเป็น”เจ๊เพ็ญ”ที่เป็นเพียงนางบำเรอ”จัดระบบสื่อ”ประเคน”อรหันต์สื่อ”ที่กำลังสมคบกับ”นักการเมืองเลว”สร้างอาณาจักรสื่อ-ฉวยโอกาสใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 11:06:00