โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
หนังสือพิมพ์มติชน
การอภิปรายนโยบายรัฐบาลพลังประชาชนผ่านพ้นไปด้วยความขลุกขลักเล็กน้อย มีการประท้วงเป็นระยะทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่ไม่ถึงขั้นวอล์กเอ๊าต์เดินออกจากห้องประชุม จนประธานต้องสั่งยุติและเลิกประชุมกลางคัน
เพราะต่างฝ่ายต่อรู้ทันเกมซึ่งกันและกัน และประธานพยายามประนีประนอมอย่างเต็มที่
ครับ งานต่อไปคงหนีไม่พ้นการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 2551 รัฐบาลจะขอปรับเพิ่มอีก 60,000 ล้านเพื่อดำเนินงานตามนโยบาย และการอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่
กล่าวเฉพาะบรรยากาศและสาระการอภิปรายนโยบายรัฐบาลมีประเด็นให้คิดว่า เส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างการอภิปรายนโยบายกับพฤติกรรมของตัวบุคคลซึ่งสวนทางกับนโยบายที่แถลง หรือการอภิปรายนโยบายกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อยู่ตรงไหน
ฝ่ายค้านทุกสมัยก็จะชี้ว่า นโยบายและพฤติกรรมของผู้กำหนดและบริหารนโยบาย เกี่ยวข้องเชื่อมโยง ส่งผลถึงกัน นโยบายจะประสบผลสำเร็จ เป็นไปตามที่แถลงไว้หรือไม่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของคนโดยตรง
ฝ่ายรัฐบาลก็จะโต้ว่าไม่เกี่ยวกัน รัฐบาลเพิ่งแถลงนโยบายยังไม่ได้ลงมือบริหารเลย ควรเปิดโอกาสและให้เวลาพิสูจน์ฝีมือระยะหนึ่งก่อนถึงค่อยว่ากัน
การอภิปรายนโยบายทุกครั้งจะพบประเด็นและบรรยากาศเช่นเดียวกันนี้ สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็ฝ่าคลื่นลมลูกแรกไปได้เพราะกติการัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้มีการลงมติ เหตุผลก็เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารและระบบการเมืองมีเสถียรภาพในช่วงเริ่มต้นทำงาน
นโยบายที่ผมยังสนใจ มีประเด็นให้พูดต่อได้ตลอดคือ นโยบายที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของสื่อสารมวลชน
ข้อ 8.3 เขียนว่า ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางราชการและสื่อสาธารณะอื่นได้อย่างกว้างขวาง ถูกต้อง เป็นธรรม และรวดเร็ว
ห้วน สั้นเท่านี้จริงๆ
เปรียบเทียบกับนโยบายฉบับร่างซึ่งนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ก่อนแถลงจริงไม่กี่วันเขียนไว้ในข้อ 8.4 “ส่งเสริมให้สื่อสารมวลชนของรัฐและเอกชนมีสิทธิเสรีภาพ ในการรับรู้กิจการของรัฐและการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐในกรอบของกฎหมาย มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการเผยแพร่ข่าวสารอย่างเที่ยงตรง เป็นธรรม และรวดเร็ว”
เทียบระหว่างนโยบายตัวจริงกับฉบับร่างแล้ว เป็นอย่างไรบ้างครับ
สาระหลักทั้งหมดถูกแปลงไป แทนที่จะเน้นส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อสารมวลชน เปลี่ยนไปเน้นตรงส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร
ฉบับไหน ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อของรัฐ ชัดเจนเป็นรูปธรรม ป้องกันการครอบงำ แทรกแซงจากฝ่ายกุมอำนาจรัฐ ตรงเป้ากว่ากัน
เนื้อหานโยบายดังกล่าวถูกเปลี่ยนไปด้วยเหตุผลใด เปลี่ยนตอนไหน ไม่มีคำตอบในการชี้แจงของรัฐบาล
อีกนโยบายหนึ่งที่ผมเสนอให้ร่วมกันติดตามต่อไปคือ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งเขียนไว้ว่า ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างจริงจัง เพื่อให้ราชการเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจแก่ประชาชน
ครับ ที่ชวนให้ติดตามเพราะ สื่อมวลชนรายงานข่าวว่า ตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับมีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ได้แก่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
พระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 141 บัญญัติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
หากมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป
หากข้อความที่ขัดแย้งเป็นสาระสำคัญ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
หากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นประการแรก ให้ส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกลับคืนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณา
เหตุนี้แหละครับ ผมเกรงว่ากระบวนการปรับแก้กฎหมายที่จะเกิดขึ้นต่อไป จะส่งผลกระทบทำให้การพิจารณากรณีทุจริตทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูงและระดับล่าง ที่ค้างคาอยู่ใน ป.ป.ช.นับหมื่นเรื่อง ยิ่งชะงักงันและล่าช้าไปใหญ่
พลอยทำให้นโยบายของรัฐบาลข้อนี้ไม่เกิดผลอย่างจริงจัง ดังที่เขียนไว้ไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ต้องช่วยกันติดตามว่า สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาใหม่จะเขียนกฎหมายสำคัญนี้ออกมาในรูปลักษณ์ใดเป็นประโยชน์กับใครมากกว่า
ที่มา มติชน วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10943 หน้า 2