กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : แนวคิดของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในการปรับปรุงสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 ให้เป็น “โทรทัศน์เสรี” ที่ไม่จำเป็นต้อง “เชลียร์” รัฐบาล หากแนวคิดนี้เกิดขึ้นจริงตามมาตรฐานของ “โทรทัศน์เสรี” ย่อมเป็นคุณูปการของสังคมไทยในการเกิดขึ้นของ “โทรทัศน์เสรี” อีก 1 ช่อง เคียงคู่กับ “โทรทัศน์สาธารณะ” สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่เพิ่งเริ่มออกอากาศอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพราะในช่วงที่มีการประชาพิจารณ์ถึงอนาคตของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีที่รัฐบาลได้ยึดสัมปทานจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ได้มีข้อโต้แย้งระหว่างทีวีเสรีกับทีวีสาธารณะ ซึ่งสถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้กระทำความผิดร้ายแรงหลายเรื่องในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่นายกฯถือหุ้นใหญ่ในไอทีวี จนผิดต่อเจตนารมณ์หลักของ “โทรทัศน์เสรี” ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม 2535 และผิดสัญญาสัมปทานหลายข้อ
แนวทางที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันคือ ประเทศไทยควรจะมี “ทีวีเสรี” คู่กับ “ทีวีสาธารณะ” เพื่อให้มีพลังพอในการต่อสู้ในเชิงธุรกิจกับสถานีโทรทัศน์อีก 4 ช่อง ที่เป็นโทรทัศน์ในเชิงพาณิชย์ ที่ส่วนใหญ่มีแต่รายการที่ไม่ได้สร้างปัญญาให้สังคมไทย แต่กระบวนการปรับเปลี่ยนให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กลับไปสู่แนวทางเดิมคือ “โทรทัศน์สาธารณะ” ที่ไม่มีโฆษณา และหลุดพ้นจากสถานะโทรทัศน์ของรัฐเป็นแนวทางที่กระทำได้ยากมากกว่าการเปลี่ยนสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี จากทีวีเสรีของเอกชนให้เป็น “โทรทัศน์สาธารณะ” ที่ไม่มีโฆษณาเพื่อปลอดจากอิทธิพลของทุน แล้วเก็บภาษีจากสินค้าเบียร์และเหล้าเพื่อนำมาอุดหนุนการดำเนินการของ “โทรทัศน์สาธารณะ” และสร้างกลไกการบริหารให้มีอิสระปลอดจากอำนาจทางการเมือง รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้จัดตั้งสภาผู้ชมเพื่อตรวจสอบคุณภาพของสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งนี้ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และการรายงานผลการดำเนินงานต่อรัฐสภาประจำปี จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติองค์การกระจายและเผยแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นข้อยุติการถกเถียงทางเลือกระหว่างทีวีเสรีกับทีวีสาธารณะว่าควรจะเริ่มต้นจากการแปรสภาพสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเป็นสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หลังจากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2551 ในขณะที่กรมประชาสัมพันธ์ที่ได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษหรือเอสดียูบริหารสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเป็นการชั่วคราวประมาณ 1 ปีได้สิ้นสภาพไปด้วย จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ในการหวนคืนแนวคิดจะให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กลับไปเป็นสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเช่นเดิมและไม่ใช่เรื่อง “อยู่ดีๆ” ตามคำพูดของนายกรัฐมนตรีสมัครที่บอกว่า “อยู่ดีๆ ก็ยึดโทรทัศน์ที่เป็นกลางและดีที่สุด” แต่โดยข้อเท็จจริงสถานีโทรทัศน์ไอทีวีกระทำความผิดอย่างร้ายแรงจึงถูกยึดสัมปทานคืน ซึ่งในความเป็นจริงควรจะหยุดออกอากาศตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2550 หลังจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีบอกเลิกสัญญา แต่ด้วยความเอื้อเฟื้อ และใจอ่อนของอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่ต้องการให้จอมืด และไม่ต้องการให้พนักงานไอทีวีตกงาน จึงหาทางให้ออกอากาศต่อเนื่อง แล้วมอบหมายให้กรมประสัมพันธ์รับช่วงไปบริหารชั่วคราว อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีสมัครได้ยืนยันแล้วว่าจะไม่ไปแทรกแซงสื่อใดๆ และจะไม่ไปรังควานสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสถือเป็นเรื่องควรสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง แล้วยังให้นโยบายปรับปรุงช่อง 11 ให้มีความทันสมัยเปิดโอกาสให้คนเก่งๆ จากไอทีวีหรือจากที่อื่นมาช่วยทำให้ช่อง 11 เป็นสถานีโทรทัศน์เสรี ที่ไม่ต้องเป็นกระบอกเสียงรัฐบาล แม้ว่าแนวคิดนี้แทบไม่แตกต่างจากการเกิดขึ้นของหนังสือพิมพ์รายวัน “เจ้าพระยา” ที่นายกฯ สมัคร เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยในปี 2519 ได้ออกหนังสือพิมพ์รายวันของรัฐ เพื่อเป็นตัวอย่างการทำหนังสือพิมพ์ที่เป็นกลางให้นักหนังสือพิมพ์ที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเดียว แต่ในที่สุดแล้วหนังสือพิมพ์เจ้าพระยากลับขายได้น้อยมากในแต่ละวัน จนต้องปิดกิจการไปในเวลาเพียงไม่กี่เดือน
แต่ถ้าหากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนายจักรภพ เพ็ญแข ที่มักบอกว่ามีประสบการณ์การเป็นสื่อมวลชนโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์มาพอสมควร สามารถแบ่งแยกบทบาท ระหว่างรัฐมนตรีกำกับดูแลสื่อของรัฐ และใจกว้างปลดปล่อยเสรีให้ช่อง 11 เป็น “ทีวีเสรีหรือทีวีอิสระ” ตามเจตนารมณ์เดียวกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ย่อมเป็นคุณูปการยิ่งใหญ่ของสังคมไทยที่จะมีทั้งทีวีสาธารณะในนาม “ไทยพีบีเอส” และทีวีเสรีในนาม “โมเดิร์นอีเลฟเว่น” จึงขอสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง และควรจะศึกษาบทเรียนความล้มเหลวของหนังสือพิมพ์เจ้าพระยาให้จงหนัก
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551