จดหมายเปิดผนึก ถึงคุณจักรภพ เพ็ญแข

ภารกิจที่ท้าทายที่สุดคือ การยุติวงจรอุบาทว์
สมชัย สุวรรณบรรณ

10 กุมภาพันธ์ 2551

 

เรียน คุณจักรภพ,

 

การแสดงความเห็นของท่านครั้งล่าสุดเกี่ยวกับการบริหารจัดการสื่อวิทยุโทรทัศน์ (ข่าวการบริหารจัดระเบียบสื่อ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์) ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกวิตกเกี่ยวกับเจตนาที่แท้จริงของท่าน คล้ายกับว่านี่เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และอาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

 

จากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า นักการเมืองส่วนใหญ่ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมักจะฉกฉวยโอกาสในการสร้างความตื่นตระหนกในหมู่นักข่าววิทยุโทรทัศน์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าพรรครัฐบาลจะมีอำนาจเหนือกว่า โดยใช้วิธีการเปลี่ยนสื่อของรัฐให้กลายเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมอย่างไม่ละอายแก่ใจ ที่ผ่านมา รัฐมนตรีมักจะใช้ “มือที่มองไม่เห็น” สกัดกั้นความเห็นของนักวิพากษ์ และความเห็นของฝ่ายตรงกันข้าม และในครั้งนี้ ท่านได้ส่งสัญญาณว่าต้องการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานีโทรทัศน์เพื่อสาธารณะแห่งใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น

 

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ในช่วงที่ท่านอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาล ท่านได้ร้องเรียนอย่างขมขื่นในกรณีที่สื่อวิทยุโทรทัศน์ปฏิบัติกับท่านอย่างไม่เป็นธรรม ในช่วงรัฐบาลรักษาการหากนักข่าวในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ และ บมจ. อสมท.ปรารถนาจะทำงานต่อไป ก็จำต้องละทิ้งจรรยาบรรณวิชาชีพ และทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจทางการเมือง  เหตุการณ์นี้เกิดในช่วงที่พรรคไทยรักไทยครองอำนาจ เช่นกัน

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมฝึกอบรมนักข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 และช่อง 11 โดยโครงการฝึกอบรมสื่อในประเทศไทยครั้งนั้นได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักข่าวบีบีซี นักข่าวที่เข้าฝึกอบรมส่วนใหญ่ระบุว่า ในการทำงานนั้นเป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติตามจรรยาบรรณของกองบรรณาธิการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความถูกถ้วน ความเป็นกลาง ความไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ความเป็นธรรม ฯลฯ  เนื่องด้วยมีอิทธิพลจาก “มือที่มองไม่เห็น”

 

ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นในฐานะที่ครั้งหนึ่งท่านก็เคยเป็นนักข่าวที่มีความสามารถ และขณะนี้ท่านอยู่ในตำแหน่งที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ได้ด้วยการยุติวงจรอุบาทว์เหล่านั้น และปล่อยให้สื่อวิทยุโทรทัศน์ได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ ท่านสามารถก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ได้ด้วยการสร้างสนามแห่งการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน และริเริ่มให้เกิดบรรยากาศแห่งความเท่าเทียมในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” และทางเดียวที่จะทำเช่นนั้นก็ด้วยการให้พื้นที่แก่ผู้นำฝ่ายค้านในการออกอากาศด้วยเช่นกันหลังจบรายการสนทนาประสาสมัคร (ภายในเวลาอันรวดเร็ว -ไม่เกิน 24 ชั่วโมง) นี่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับสื่อวิทยุกระจายเสียงในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

นอกจากนี้ ภารกิจที่ท้าทายอื่นๆ ก็คือ การเปิดโอกาสให้จรรยาบรรณของกองบรรณาธิการได้ฝังรากลึกลงในสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 และช่อง 11 อีกทั้งขัดขวางมิให้สมาชิกในคณะรัฐมนตรีใช้ “มือที่มองไม่เห็น”  เข้ามามีอิทธิพลเหนือการรายงานข่าว และรายการเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง ความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนักข่าวและผู้บริหารระดับสูงได้ทำงานแบบมืออาชีพโดยปราศจากการข่มขู่คุกคามใดๆ ผมได้มอบสำเนาจรรยาบรรณวิชาชีพของกองบรรณาธิการสำนักข่าวบีบีซีให้แก่ท่านอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ปราโมช รัฐวินิจ และคุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้อำนวยการบมจ. อสมท. ทั้งนี้ การสนับสนุนเพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในองค์กรทั้ง 2 แห่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของหน่วยงานเฝ้าระวังในต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ภารกิจที่ท้าทายที่สุดสำหรับท่านก็คือ การขัดขวางความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะเข้ามาก้าวก่ายสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ผ่านมาประเทศไทยได้บอบช้ำจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองส่วนหนึ่งก็เนื่องจากสื่อได้สูญเสียความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจจากสาธารณะ มีคำกล่าวไว้ว่า สื่อน้ำเน่านำมาซึ่งการเมืองน้ำเน่า หรือในทางกลับกันก็คงจะเป็นความจริงเช่นกัน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้ถูกหล่อหลอมโดยมีสำนักข่าวบีบีซีซึ่งได้รับการยอมรับในฐานะสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในโลกเป็นแม่แบบ ผมเชื่อว่าหากประเทศไทยมีสถานีโทรทัศน์สาธารณะที่แท้จริงในช่วงหลังเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” เมื่อปี พ.ศ. 2535 เราก็คงสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด “รัฐประหาร 19 กันยา” ได้

ผมยังเชื่อว่า ท่านเป็นนักการเมืองที่ซื่อสัตย์และดีงาม ทว่า ท่านพร้อมที่จะเผชิญกับภารกิจที่ท้าทายเหล่านี้หรือไม่

 

ขอแสดงความนับถือ

สมชัย สุวรรณบรรณ

เอสเซ็ก, อังกฤษ

แท็ก คำค้นหา