กาแฟดำ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ได้โปรดเถิดครับ ท่านนายกรัฐมนตรี อย่าได้ฆ่า “คนทำสื่อ” ดีๆ ด้วยการประกาศว่าจะตั้งสถานีโทรทัศน์ให้หนึ่งช่องเพราะพวกเขาและเธอ “เป็นกลาง” เลยครับ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เพราะทันทีที่ท่านพูดออกมาอย่างนั้น พวกเขาก็หมดสิ้นความน่าเชื่อถือต่อสาธารณชนโดยฉับพลันแล้ว
อย่างนี้เรียกว่า “จูบมรณะ” หรือ kiss of death
เพราะใครเป็นนายกฯ หรือเป็นรัฐบาลแล้ว ประกาศว่าสื่อคนไหนเป็นมือหนึ่ง ยอดเยี่ยมกระเทียมดอง หรือบอกว่า “นี่แหละ สื่อที่เป็นกลางอย่างแท้จริง”
สื่อคนไหน “เป็นกลาง” จนนายกฯ ชื่นชอบถึงขั้นตั้งสถานีโทรทัศน์ใหม่ให้เลยนั้นจะหมดความเป็น “สื่อเป็นกลาง” บัดดลเลยครับ
จะเป็นความหวังดีหรือมีเจตนาทางการเมืองอย่างไรของนายกฯ คนใหม่ เกี่ยวกับเรื่องสถานีทีวีก็คงจะตีความกันไม่ยาก เพราะถ้าจะส่งเสริมให้คนทำสื่อ “เป็นกลาง” และมีความเป็นมืออาชีพจริงๆ ก็คืออย่าไปยุ่งกับเขา
การสร้างสื่อที่มีคุณภาพ ที่รับใช้ประชาชนอย่างจริงจังนั้นรัฐบาลทำได้อย่างเดียวคือให้เขามีอิสรเสรีอย่างแท้จริง…ให้มีการแข่งขันอย่างเสมอภาค และรัฐบาลอย่าได้คิดไป “จัดระเบียบ” เขาเป็นอันขาด
เพราะแค่คิด “จัดระเบียบ” สื่อ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน ก็เท่ากับเข้าไปแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์แห่งตนแล้ว
รัฐบาลคุณทักษิณ ก็คงจะได้เรียนรู้แล้วว่าการแทรกแซงสื่อด้วยวิธีการต่างๆ นานา ทั้งทางตรง ทางอ้อม และด้วยการกดดันทางธุรกิจและการเมืองนั้น ผลสุดท้ายก็สร้างความอึดอัดให้กับสังคม และเมื่อสื่อถูกข่มขู่คุกคามมากๆ เข้า สังคมก็รับไม่ไหว ต้องระบายออกไปในทิศทางต่างๆ ที่กลายเป็นวิกฤติทางการเมืองและสังคมสำหรับรัฐบาลนั้น
ถ้ารัฐบาลคุณสมัครจะส่งเสริมให้มีสถานีทีวีช่องใหม่เพื่อให้คนทำสื่อที่มีคุณภาพมีโอกาสมากขึ้น ก็ย่อมเป็นข่าวดี
แต่สื่อที่ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเป็นอิสระ กล้าวิพากษ์วิจารณ์ กล้าตั้งคำถาม กล้าเอาความจริงมาเปิดเผยนั้นถูกคุณสมัคร “อัด” มาเสมอ…อีกทั้งยังน่าสงสัยว่าเจตนาที่แท้จริงในการพูดถึงการตั้งทีวีช่องใหม่นั้นคืออะไรกันแน่
หากนายกฯ จะให้ PTV ที่มีความผูกพันกับคนในรัฐบาลนี้อย่างใกล้ชิดเป็นเวทีของ “คนข่าวเป็นกลาง” ของอดีตทีไอทีวีบางคน ก็แปลว่ารัฐบาลชุดนี้จะเปิดทางให้ทีวีดาวเทียมเกิดขึ้นได้อย่างเสรีและง่ายดาย (เพียง 2-3 วัน)
นั่นย่อมแปลว่ารัฐบาลจะต้องเปิดทีวีดาวเทียมให้กว้าง และ “คนทำข่าว” ทุกคนจะต้องมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันจากรัฐบาลชุดนี้
จึงไม่ใช่เพียงแต่ PTV เท่านั้นที่จะมีสิทธิเกิดได้อย่างกะทันหัน เพราะคนทำสื่อในประเทศนี้มีอยู่มากมายที่รอโอกาสแห่งความเสมอภาคนี้เช่นกัน
หรือถ้าเป็นการเอาคลื่น UHF อีกคลื่นหนึ่งมาทำเป็นทีวีเอกชนเหมือนการก่อเกิดของ ITV กว่า 10 ปีก่อน ก็ย่อมจะทำได้
แต่ก็ต้องไม่ใช่เป็นการเปิดสถานีใหม่โดยอาศัยอำนาจรัฐบาลที่อยากจะเปิดให้ใครก็ได้…จะต้องมีความโปร่งใสและชัดเจน
หากทำอย่าง ITV ตอนเริ่มต้นเพื่อให้มีสถานีเอกชนที่อยู่ได้ด้วยโฆษณา ก็จะต้องเปิดให้มีการแข่งขันจากเอกชนกลุ่มต่างๆ ด้วยกติกาและเงื่อนไขที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยได้มีโอกาสแสดงฝีมือในการทำสื่อเพื่อประชาชน มิใช่เพื่อรัฐบาลหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น
หากรัฐบาลนี้คิดจะไปแทรกแซงสถานีทีวีสาธารณะ หรือ TPBS ที่มีกฎหมายระบุชัดเจนว่าต้องปลอดจากอิทธิพลการเมืองและธุรกิจ ก็ต้องถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจรัฐเพื่อฝ่าฝืนกฎหมายและดึงเอาสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นทางเลือกของประชาชนกลับเข้าไปสู่อ้อมแขนแห่งอำนาจรัฐอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต้องถือว่าเป็นการแทรกแซงโดยตรง
อำนาจทางการเมืองไม่ได้หมายถึงการจะทำอะไรก็ได้เพื่อเสริมบารมีตนเองและข่มขู่คุกคามเสรีภาพของสื่อ
อำนาจทางการเมืองไม่ได้หมายถึงการใช้ตำแหน่งฐานะเพื่อใช้ทรัพยากรของประเทศ (รวมถึงคลื่นความถี่และสถานีทีวีกับวิทยุของรัฐทั้งหลายทั้งปวง) เพื่อค้ำจุนบัลลังก์ทางการเมืองของตน
คนทำสื่อที่มีคุณภาพและเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริงในประเทศนี้มีอยู่ไม่น้อย แต่พวกเขาและเธอย่อมไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลใดหรือกลุ่มการเมืองใด
“ความน่าเชื่อถือ” และ “ความเป็นอิสระจากอิทธิพลการเมือง” ของสื่อต่างหากที่เป็นสิ่งมีค่ามากที่สุดสำหรับคนทำสื่อ
ไม่ใช่การอิงแอบอำนาจการเมือง
ไม่ใช่เป็น “หมากตัวหนึ่ง” ให้นักการเมืองใช้มาทำลายเสรีภาพอันทรงคุณค่าที่คนทำสื่อในประเทศไทยได้ต่อสู้กันมาอย่างมุ่งมั่นและโชกโชนหลายชั่วอายุคนแล้ว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551