เตือนความจำ รมต.จักรภพ สื่อของรัฐเพื่อคน 63 ล้าน

001 (1)

บทบรรณาธิการ
ประชาชาติธุรกิจ

 

เมื่อนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้มาดูแลงานด้านสื่อและยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ทำให้หลายคน อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะเกิดการแทรกแซงสื่อรอบใหม่อีกหรือไม่ อาจเป็นเพราะภาพเมื่อวันวานของนายจักรภพ คือ อดีตแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปก. ซึ่งเป็นภาพแห่งการต่อสู้และความขัดแย้งทางการเมือง ที่แบ่งสังคมไทยออกเป็น 2 ขั้ว คือ พวกที่เอาทักษิณ กับ พวกไม่เอาทักษิณ เมื่อพวกของจักรภพเป็นฝ่ายชนะ ย่อมทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความหวาดระแวงว่าจะเกิด การล้างแค้น ล้างบาง ตามมาเป็นธรรมดา ยิ่งสังคมไทย เป็นสังคมอำนาจนิยม ยิ่งทำให้เชื่อว่าจะมีการเช็กบิล

แต่อย่างไรก็ตาม หากทำใจให้เป็นกลางๆ สังคมไทยควรให้โอกาสรัฐมนตรีคนใหม่ได้พิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของตนเอง เพราะนายจักรภพเองก็เป็นสื่อมวลชนมาก่อน ย่อมเข้าใจธรรมชาติของสื่อไม่มากก็น้อย และทันทีที่รับตำแหน่ง รัฐมนตรีจักรภพเอ่ยปากว่า ที่ผ่านมาเราเป็นเหยื่อของการแบ่งข้าง จึงต้องเข้าไปสร้างความเป็นกลางให้สื่อ สิ่งสำคัญที่ได้รับการเน้นย้ำเป็นพิเศษ คือ สื่อของรัฐจะต้องให้ข้อมูลที่สมดุลและเป็นกลาง โดยเฉพาะบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) และไทยพีบีเอส ดังนั้น สื่อของรัฐทุกสื่อ รัฐบาลก็ต้องเข้าไปประเมิน และภายใน 1 เดือน

นอกจากนี้รัฐมนตรีใหม่ยังสนใจจะจัดระบบสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เอสเอ็มเอสมือถือ วิทยุชุมชน โดยจะจัดให้มีการเปิดวงสัมมนา เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วน ได้เสียมาหารือร่วมกัน รวมถึงจะผลักดันให้เกิดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ให้เกิดขึ้น จริงๆ แล้วข้อเสนอของนายจักรภพเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะต้องยอมรับว่าสื่อของรัฐเองก็อยู่ในสภาพน้ำขึ้นน้ำลง เอนเอียงไปตามกระแสการเมือง หาความเป็นมาตรฐานไม่ได้ หากนายจักรภพมีความบริสุทธิ์ใจ และตั้งใจจะจัดระเบียบสื่อของรัฐ เพื่อความเป็นกลางและสมดุลอย่างแท้จริง โดยปราศจากวาระซ่อนเร้นเพื่อตนเองและพวกพ้อง ย่อมเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน เพราะนายจักรภพย่อมเข้าใจดีว่า หน้าที่ของสื่อ กับ หน้าที่ของรัฐต่างกัน

หลังเข้าเฝ้าฯ นายจักรภพ เพ็ญแข กล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “การได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เป็นเกียรติประวัติของ ทุกชีวิต ที่สำคัญคือได้รับพระมหากรุณาธิคุณร่วมกับคณะรัฐมนตรีทั้งหมด ยิ่งได้ฟังพระบรมราโชวาทเมื่อวันถวายสัตย์ปฏิญาณ ยิ่งดื่มด่ำเข้าไปในใจว่า เราต้องมีหน้าที่อะไร พระราชดำรัสของพระองค์จะอยู่ในใจผมตลอดไป นี่คือสิ่งที่ผมจะใช้เป็นหลักการในการเริ่มต้นความเป็นรัฐมนตรีคราวนี้และต่อไป”

หากจะย้อนกลับไปพิจารณาพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสว่า คำปฏิญาณเป็น คำพูดที่ศักดิ์สิทธิ์ ต้องเก็บเอาไว้ปฏิบัติ ถ้าพูดไปแล้ว แล้วไม่ปฏิบัติ ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ที่มาเป็นรัฐมนตรีนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าประเทศต้องมีผู้ใหญ่ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ประเทศก็จะอยู่เย็นเป็นสุข ถ้าประเทศอยู่เย็นเป็นสุข ประชาชนก็มีที่พึ่ง มีชีวิตที่มีหลักประกันว่าสามารถอยู่ได้ ทั่วโลกมีความเดือดร้อน เพราะว่าไม่มีคนที่มีหลัก ท่านต้องถือว่าท่านเป็นคนที่มีหลักจะปฏิบัติงาน มีหลักที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม อาจจะแปลกว่าทำไมคน 35 คน จะต้องเสียสละเพื่อคน 63 ล้าน ก็เพราะว่าคน 63 ล้านหวังว่า คณะรัฐมนตรีจะทำงานเพื่อเขา ถ้าไม่ทำงานเพื่อประชาชน จะทำงานเพื่ออะไร

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3974 (3174) หน้า 2

 

แท็ก คำค้นหา