ผู้จัดการออนไลน์
ในที่สุดคนไทยโดยทั่วไป ก็คงใจหายกับ “การอวสาน” ของสถานีโทรทัศน์ “ไอทีวี (itv)” เดิม แล้วล่าสุดเปลี่ยนเป็น “ทีไอทีวี (TITV)” จนเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 14 มกราคม เวลา 24.00 น. ก็ต้องมีอัน “จบตำนานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี-ทีไอทีวี” แห่งนี้ ไปโดยไม่มีวันจะหวนกลับฟื้นคืนชีพได้ใหม่ ตราบใดที่ “พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศ พ.ศ.2551” หรือมักเรียกกันง่ายๆ ว่า “กฎหมายสื่อสาธารณะฯ” ยังมีผลบังคับใช้ ซึ่งน่าเชื่อว่า อย่างน้อยคงไม่มีใครกล้าเปลี่ยนแปลงไปอีกประมาณ 2-3 ปี
สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เริ่มก่อตัวมาจากประวัติความเป็นมาของ “บริษัทสยามอินโฟเทนเม้นท์ จำกัด” ที่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2538 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นและชำระแล้ว 250 ล้านบาท และได้มีการเพิ่มทุนเป็น 1,000 ล้านบาท ในปี 2538 ต่อมาในปี 2541 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)” ประกอบธุรกิจสถานีโทรทัศน์ระบบ UHF เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “สถานีโทรทัศน์ไอทีวี”
โดยบริษัทได้รับสัมปทานจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้ดำเนินการบริหารสถานีเป็นระยะเวลา 30 ปี สิ้นสุดวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 โดยบริษัทได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเป็นไปตามลำดับเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและการบริหาร
“หลักการ-เจตนารมณ์” ดั้งเดิมของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “itv : Independent Television” แปลว่า “สถานีโทรทัศน์เสรี” หรือเรียกกันสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ทีวีเสรี”
คำว่า “ทีวีเสรี” คงไม่ต้องไปตีความหมายกันให้ยืดยาว เนื่องด้วยชื่อก็อธิบายในตัวเองอยู่แล้วว่า “เสรี” ที่สามารถเข้าใจชัดเจนว่า “ต้องเป็นอิสระมิควรมีการครอบงำ แทรกแซงแต่อย่างใด ทั้งจาก กลุ่มธุรกิจ กลุ่มนายทุน และ/หรือ กลุ่มการเมือง” พูดง่ายๆ ก็หมายความว่า “สถานีโทรทัศน์แห่งนี้จะต้องเป็นอิสรเสรี ปราศจากการแทรกแซง ครอบงำ บงการ ไม่ว่าจะมาจากใคร ที่ไหนใดๆ ทั้งสิ้น“ นอกจากนั้น “จะต้องมีความเป็นกลางโปร่งใสและเป็นธรรม”
เหตุผลสำคัญของการก่อกำเนิดสถานีโทรทัศน์เสรีนี้ เนื่องด้วยสถานีโทรทัศน์ช่อง 3-5-7-9-11 เป็นของภาครัฐทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานีใดที่ได้รับสัมปทานจากกองทัพบก กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) โดยนัยสำคัญก็คือว่า “จะต้องดำเนินกิจการ กิจกรรมต่างๆ ภายใต้นโยบายของรัฐ”
เมื่อเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาฯ ทมิฬ” ปี 2535 ที่เกิด “รัฐประหาร-ยึดอำนาจ” จากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจาก “รัฐบาลรักษาการ” นายอานันท์ ปันยารชุน จนเกิดเหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอข่าวทุกสถานีโทรทัศน์ช่วงเหตุการณ์นั้น “ถูกปิดกั้น” ในการนำเสนอภาพเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มประชาชนผู้ประท้วงกับทหาร จนคนไทยช่วงนั้นที่มีจานสัญญาณดาวเทียมสาธารณะ ชมได้จากสถานีโทรทัศน์ต่างชาติ โดยเฉพาะ CNN และ BBC
นั่นคือ จุดกำเนิดของการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (itv) เพื่อให้เป็น “สถานีโทรทัศน์เสรี” จริงๆ ไม่ต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อจะได้นำเสนอรายการต่างๆ ไม่ว่า ข่าวสารคดี สาระบันเทิง ที่ประชาชนสามารถรับชมได้อย่างไม่ถูกปิดกั้น และที่สำคัญต้องไม่มีการแทรกแซง ครอบงำใดๆ ทั้งสิ้น พูดง่ายๆ อีกครั้ง คือ “ต้องเสรี!”
วันที่ 1 กรกฎาคม 2539 สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ได้เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ โดยรายงานข่าวและรายการต่างๆ ถูกนำเสนอ “แบบเสรี” จนเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนทั่วไป ได้รับเรตติ้งระดับ 3-4 เรียกว่า “แฟนเยอะ!” เลยทีเดียว
ตลอดระยะเวลาประมาณ 4 ปี ในการดำเนินการของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี สามารถยึดมั่นใน “หลักการ-อุดมการณ์-เจตนารมณ์” ของการก่อตั้งมาได้ด้วยดีตลอดมา จนช่วงเดือนพฤศจิกายน 2544 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดย “กลุ่มชินคอร์ป” ได้ตกลงซื้อหุ้นสามัญของบริษัทจากธนาคารไทยพาณิชย์ และกลุ่มผู้ถือหุ้นรายอื่น จนทำให้ “กลุ่มชินคอร์ป” เป็น “กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด” ของบริษัทไอทีวีฯ
ต่อมาได้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น โดยเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ต่อหุ้น จากเดิม 10 บาท เป็น 5 บาท ต่อหุ้น และได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงราคาซื้อขายเรื่อยมา จนทำให้มูลค่าของหุ้นเพิ่มนับพันล้านหุ้น พูดง่ายๆ คือ ใช้ “วิธีการปั่นหุ้น” ตลอดจนการ “เล่นแร่แปรธาตุ” ในธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ จนเรียกว่า ต้องคนที่คลุกคลีในธุรกิจตลาดหุ้น ตลาดทุน เท่านั้นที่จะเข้าใจได้
ปี 2547 ช่วงรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร ได้มีการเรียกร้อง “ค่าชดเชยความเสียหาย” จากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และมีการปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาสัมปทาน โดยให้มีการปรับลดลงจากเดิมในส่วนจำนวนเงินรับประกันผลประโยชน์ขั้นต่ำ พร้อมทั้งปรับลดผลประโยชน์ตอบแทน เรียกว่า “เอาเปรียบรัฐ” ทุกประการเท่าที่สามารถดำเนินการได้
นอกเหนือจากปรับเปลี่ยนข้อตกลงต่างๆ ในด้านสัญญาสัมปทานและเงื่อนไขนานาสารพัดแล้ว ไม่ว่าการชำระผลประโยชน์ตอบแทนที่ลดลงตามลำดับ แถมยังเรียกร้องให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีคืนผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่บริษัทได้ชำระไปแล้วนับหลายร้อยล้านบาท ชนิด “เอาเปรียบ” ทุกประการ
บริษัทได้เปลี่ยนแปลงปรับผังรายการในช่วง “เวลาดี (Prime Time)” 19.00-21.00 น. โดยสามารถออกรายการประเภทใดก็ได้อย่างไม่จำกัด ทั้งนี้ตามสัญญาเดิมนั้น จะต้องมีการนำเสนอเฉพาะรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ แต่ทางบริษัทได้เพิ่มรายการประเภทบันเทิง โดยไม่คำนึงถึงสัญญาแต่ประการใด
จนในที่สุด เมื่อรัฐบาลทักษิณถูกยึดอำนาจไป ทางบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้ถูกฟ้องร้องจากกลุ่มประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ตลอดจนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เสียค่าชำระในฐานะ “ผู้ผิดสัญญา” โดยถูกศาลฯ วินิจฉัยจากการปรับผังรายการและการละเมิดสัญญาสัมปทาน ค่าตอบแทนผลประโยชน์ต่างๆ นับแสนล้านบาท จนในที่สุด กรมประชาสัมพันธ์ ต้องเข้ามาดำเนินกิจการต่อจากบริษัท เนื่องด้วยไม่มีความสามารถที่จะดำเนินการตามศาลสั่งได้
บัดนี้ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ได้จบสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว และปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.)” เป็นนิติบุคคล เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “TPBS : Thai Public Broadcasting Service” มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มิใช่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจด้วยวิธีการงบประมาณ
“ทีวีสาธารณะ” เริ่มเดินเรียบร้อยแล้ว โดยมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายชั่วคราว” จำนวน 5 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ แต่หนึ่งคนมาจากวงการสื่อสารมวลชน ที่บอกว่า “สละแล้ว!” จากบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ของตนเองและครอบครัว และอีกหนึ่งคน คือ “นักวิชาการการเมือง” โดยต่างประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า จะนำพาองค์การนี้ให้ลุล่วงประสบความสำเร็จเป็น “ทีวีสาธารณะ” ให้ได้
ว่าไปแล้ว “ทีวีสาธารณะ” แห่งนี้ น่าจะดำเนินไปได้ด้วยดี และน่าเชื่อว่าจะปราศจากการแทรกแซง ครอบงำ จากกลุ่มการเมืองอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่า จะยาวนานไปได้มากน้อยเพียงใด และที่สำคัญ “กลุ่มทุนสื่อ-กลุ่มทุนการเมือง” ที่แน่นอน คงจะพยายาม “คืบคลาน” ที่จะเข้ามาเสาะแสวงหาผลประโยชน์จากองค์การแห่งนี้ ด้วยความแยบยล คงไม่บุ่มบ่ามเหมือนช่วงหลายปีที่ผ่านมา
การเป็นทีวีสาธารณะนั้นจะต้องคำนึงถึง “ผลประโยชน์” ที่มอบให้แก่พี่น้องประชาชน “ผู้ชม” ทุกระดับชั้นทั่วประเทศ ทั้ง “ชุมชนเมือง-ชุมชนชนบท” ที่จำต้องมีการนำเสนอ “สองทาง (Interactive)” โดยปราศจาก “พาณิชย์-การเมือง”
แต่ที่สำคัญที่สุด “จะต้องไม่เป็นฐานทางทุน-ฐานทางการเมือง” ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และ “ต้องไม่บิดเบือนหลักการ เจตนารมณ์” ของการก่อตั้งองค์การแห่งนี้ เหมือนดังเช่นสถานีไอทีวีเดิมที่บิดพลิ้วจนย่อยยับและอวสานไปในที่สุด!
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 มกราคม 2551 14:53 น.