Silence of the Lamp: ปัญหาและความย้อนแย้งกรณีทีพีบีเอส ทีวี ‘เพื่อสาธารณะ’

ประวิตร โรจนพฤกษ์

 

ผู้เขียนต้องขอออกตัวก่อนว่า ตนเองในฐานะคนที่กินเงินเดือนที่ นสพ. เดอะเนชั่น การพูดวิพากษ์วิจารณ์บทบาท นายเทพชัย หย่อง บก.เครือเนชั่นผู้ซึ่งลาออกในวันที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปบริหาร ทีพีบีเอส (หรือไทยพีบีเอส) จึงมิใช่เรื่องง่ายหรือปกติ โดยเฉพาะในสภาวะที่สื่อมวลชนโดยรวมยังถือว่าตนเป็นแมลงวันที่จะไม่ตอมแมลงวันตัวอื่น โดยมิต้องพูดถึงว่าจะยอมดมตัวของมันเองหรือไม่ และหากทำได้ ซึ่งจะลองทำในบทความนี้ ก็คงทำได้อย่างลำบากคล้ายน้ำท่วมปากกลืนมิเข้าคายไม่ออก อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยง แต่หากมิทำก็เท่ากับขายวิญญาณตนเองและคอลัมน์ Silence of the Lamp

เหตุการณ์ทำให้จอทีไอทีวีมืดกะทันหันในคืนวันที่ 14 มกราคม สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหลายอย่างว่าด้วยกระบวนการตั้ง ‘ทีวีสาธารณะ’ เช่น ปัญหาความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมในกระบวนการ ปัญหาข้อกังขาและกล่าวหา ฯลฯ

1.ปัญหากระบวนการ

ใครก็ตามที่บอกว่ากระบวนการผ่านกฎหมายและตั้งสถานีทีพีบีเอส โปร่งใสและยุติธรรม หากไม่บ้า ก็คงต้องโกหก หรือไม่ก็แยกแยะไม่ออกว่าความถูกต้องคืออะไร พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ถูกร่างขึ้นในยุคเผด็จการที่มีสภาทหารแต่งตั้งและถูกผลักดันผ่านอย่างรวดเร็ว ปุ๊ปปั๊บ ไม่โปร่งใสและปราศจากการมีส่วนร่วมของสาธารณะอย่างแท้จริง แม้แต่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ก็บอยคอต

ในโลกที่กระบวนการนี้โปร่งใสก็คงจะมีการเปิดรับสมัคร 5 ตำแหน่งนี้อย่างเปิดเผยและให้สาธารณะจัดหาตัวแทนมาคัดสรร 5 คนนี้ อย่างช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม ไม่ใช่ให้ ครม.ซึ่งทหารแต่งตั้งมาแต่งตั้ง 5 คนนี้อย่างลับๆ และรวดเร็วจนเตรียมอะไรแทบไม่ทัน

การส่งแฟกซ์ไม่กี่ชั่วโมงเพื่อให้ทีไอทีวียุติการแพร่ภาพ การแต่งตั้งผู้บริหาร 5 คนอย่างรวดเร็วและไม่โปร่งใสก่อนรัฐบาลใหม่จะฟอร์มตัวเพียงไม่กี่วัน เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการนี้ไร้ซึ่งความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของสาธารณะ

2.ข้อกังขาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

นายเทพชัยได้ตกเป็นเป้าหลักของข้อกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งคงปฏิเสธแก้ตัวให้หลุดได้ยาก ทั้งนี้เนื่องจากว่า มิเพียงแต่ว่า เครือเนชั่นโดยผ่านทางเนชั่นทีวีจะเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ และอาจได้รับผลประโยชน์ ถึงแม้นายเทพชัยในฐานะผู้อำนวยการรักษา 6 เดือน จะได้ออกมาพูดแล้วว่า เนชั่นทีวีจะไม่เสนอรายการหรือผลิตรายการให้กับช่องทีพีบีเอส แต่หลังจาก 6 เดือนล่ะ จะเกิดอะไรขึ้นหากเนชั่นทีวีได้รับอานิสงส์เป็นกอบเป็นกำจากสถานีนี้

หลังรัฐประหารไม่นาน นายเทพชัยและเนชั่นทีวีก็ได้เข้าไปทำรายการตอนเช้าสำหรับโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ที่ชื่อว่า รายการ สยามเช้านี้ ซึ่งบางคนล้อว่าน่าจะเปลี่ยนชื่อเป็นรายการทหารเช้านี้ ทั้งนี้เพราะว่า เป็นประโยชน์ที่ได้รับมาหลังเกิดรัฐประหาร 19 กันยาฯ แถมช่องที่ไปลงก็ยังเป็นสถานีของกองทัพบกอีก เช่นนี้แล้วจะมิให้ผู้อื่นวิพากษ์วิจารณ์และสงสัยก็คงเป็นไปมิได้ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นเองก็ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงหรือถูกลอกคราบก็ว่าได้ ซึ่งหาอ่านได้ในเวบไซต์ภาษาอังกฤษของ http://bangkokpundit.blogspot.com และ http://thailandjumpedtheshark.blogspot.com บล็อกเกอร์ที่เขียนบล็อกเป็นภาษาอังกฤษทั้งสองคนนี้ เขียนวิจารณ์ตอบโต้คอลัมนิสต์เครือเนชั่นหลายคนอย่างประเด็นต่อประเด็น ข้อต่อข้อ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นสนับสนุนทหารและเกลียดทักษิณจนเกินกรอบของการใช้เหตุผล หากใครสนใจควรเข้าไปดูสองบล็อกนี้ เพราะบทความวิพากษ์มีเป็นจำนวนมากพอที่จะรวมเล่มออกเป็นหนังสือได้ทีเดียว

ส่วนพี่ขวัญสรวง อติโพธินั้น (ขอเรียกพี่เพราะรู้จักแกโดยส่วนตัวตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่ม Bangkok Forum และก็ยังเชื่อว่า ลึกๆ พี่แกเป็นคนดี) ดูเหมือนว่า qualification หรือคุณสมบัติของพี่ขวัญสรวง นอกจากจะมีจิตสาธารณะแล้ว (civic consciousness) ก็คงเป็นเพราะพี่แกเคยเขียนหนังสือไล่ทักษิณร่วมกับคู่แฝดที่ชื่อแก้วสรร อติโพธิ์ ที่ฝ่ายรักทักษิณเกลียดชังนักแล ดูเหมือนว่า คุณสมบัติร่วมอันสำคัญของ 5 ผู้บริหารช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็คือ จุดยืนต่อต้านทักษิณนั่นเอง (แล้วมันต่างจากการที่มีการดึงคนชินคอร์ปมาเป็นรัฐมนตรีในสมัยทักษิณมากน้อยเพียงไร)

3.ภาพซ้อนภาพ

ในขณะที่หลายคนวิจารณ์ไปว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำมาตยาธิปไตยที่อิงทหารและอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ กับกลุ่มทุน ‘สามานย์’ อย่างที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการเรียก แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มเอ็นจีโอและนักวิชาการจำนวนหนึ่งซึ่งผลักดันร่างกฎหมายนี้ โดยเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในที่สุด อาจารย์จากสำนักทีดีอาร์ไอผู้มีส่วนร่างได้กล่าวกับผู้เขียนช่วงที่สภา สนช. กำลังผ่านกฎหมายเหล่านี้ว่า หากรอรัฐบาลเลือกตั้งอีก 5 ปี 10 ปี ก็คงยังไม่ได้ผ่านกฎหมายนี้ ผู้เขียนยังอยากจะเชื่อว่าคนอย่าง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นผู้หวังดีอยากเห็นทีวีสาธารณะอย่างแท้จริง ถึงแม้ผู้เขียนจะมองว่า การผ่านกฎหมายยุคเผด็จการสุดท้ายเขาผ่านเป็นแพคเกจมีทั้งกฎหมยดีและชั่ว เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน ซึ่งจะสร้างปัญหาในอนาคตอีกอย่างมหาศาล แต่ทั้งนี้ทั้ง

นั้น ‘สาธารณะ’ ที่พวกเขาเหล่าอภิสิทธิ์ชนมักกล่าวถึงก็มิได้มีส่วนร่วมที่จะผลักดัน ร่างหรือต่อต้านกฎหมายเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพและแท้จริง ในขณะเดียวกัน คนอย่างสมเกียรติอาจถูกกลุ่มทหารหลอกใช้ เพื่อจัดการกับชินทีวี ในขณะที่ตัวสมเกียรติเองก็อาจคิดว่าตัวเองหลอกใช้ทหาร

ทุกคนอาจทราบดีว่า ยุคชินคอร์ปครองไอทีวีนั้น ทีวีช่องนี้ก็มิต่างจากสื่อพีอาร์ หรือแม้กระทั่งสื่อโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาลทักษิณ แม้กระทั่งหลังจากถูกเปลี่ยนเป็นทีไอทีวี ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการผ่าน พ.ร.บ.จากสภา สนช. ของทหาร อดีตนักข่าวไอทีวีหนึ่งใน 23 กบฎ ซึ่งไม่เอาทักษิณก็ยังได้บอกกับผู้เขียนเมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาว่า ทีไอทีวีก็ยังเป็นฝ่ายทักษิณ เรื่องนี้เป็นสิ่งแรกที่ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านยอมรับอย่างใจเปิดกว้าง ว่ามันคงเป็นเช่นนั้นจริงมิมากก็น้อย ไม่ว่าสตาฟฟ์ทีไอทีวีจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่า ใครจะอยู่ฝ่ายเอาหรือไม่เอาทักษิณก็ควรตระหนักว่า ในยุคที่ทหารครองอำนาจหลังรัฐประหารนั้น ไอทีวีซึ่งกลายมาเป็นทีไอทีวีทีหลัง ได้กลายเป็นโทรทัศน์ฝ่ายค้านเผด็จการทหารอย่างมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง

ในขณะที่ช่องอื่นๆ นั้นถูกรัฐ ซึ่งนำโดยทหารและรัฐบาลที่ทหารแต่งตั้งครอบงำอย่างสิ้นเชิงก็ว่าได้ ในแง่นี้แล้ว ผู้ที่ต่อต้านเผด็จการทหาร (ไม่ว่าจะเอาหรือไม่เอาทักษิณ) ย่อมตระหนักถึงอานิสงส์ของไอทีวีและทีไอทีวี ที่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบระบอบทหาร มิมากก็น้อย

ครั้งหนึ่ง ทีวีที่เคยเป็นกระบอกเสียงของทักษิณได้กลายมาเป็นสื่อที่ตรวจสอบระบอบเผด็จการทหารหลังรัฐประหารไปโดยปริยาย มาคราวนี้ การก่อกำเนิดทีวี ‘สาธารณะ’ อย่างผิดๆ และปราศจากการมีส่วนร่วมของสาธารณะ อาจจะนำไปสู่ทีวีช่องเดียวที่จะวิจารณ์รัฐบาล พปช. หรือนี่คือโลกของความเป็นจริงที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง (irony) ที่ความดีเกิดขึ้นจากความชั่ว หรือสิ่งชั่วเป็นผลพลอยได้จากเจตนาดี จนดีชั่วปะปนกันจนแยกลำบาก

ผู้เขียนไม่มีทางออก แต่ขอบอกว่า การคิดแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ทีวีสาธารณะจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ การทำแบบนี้เป็นได้อย่างมากก็เพียงทีวี ‘เพื่อสาธารณะ’ จากมุมมองและการอุปถัมภ์ของกลุ่มคนมีอภิสิทธิ์เล็กๆ กลุ่มหนึ่ง หาใช่ทีวีสาธารณะอย่างแท้จริงที่สาธารณะมีส่วนร่วมตัดสินใจกำหนดคุณสมบัติผู้บริหาร พนักงานและร่วมคัดสรรคนเหล่านี้ตั้งแต่เริ่มแรก ไม่ใช่ทีวีซึ่งรัฐบาลทหารแต่งตั้ง คัดสรรผู้บริหารที่มีจุดยืนรับกับการทำงานกับระบอบทหารได้ การทำอย่างท็อปดาวน์ประชาชน สาธารณะคงมิหวงแหน เพราะมิได้มีส่วนรู้เห็นแต่ต้น การอ้างชื่อสาธารณะหรือชื่ออื่น อย่างเช่นที่วิทยุกองทัพบกก็อ้างตนเองว่าเป็น ‘วิทยุเพื่อปวงชน’ (ซึ่งคิดดูเอาเองว่าปวงชนกลุ่มไหน) เกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติที่น่าเบื่อหน่าย เหมือนโฆษณาชวนเชื่อชิ้นหนึ่ง

ใช่…โฆษณาชวนเชื่อ โฆษณาชวนเชื่อเพราะว่านี่คือมุมมองของคนจำนวนมากว่า ทีวีมีหน้าที่หลักในการล้างสมองคนไม่ว่าจะเป็นล้างสมองเพื่อให้คนซื้อสินค้า ชื่นชมดารา หรือสนับสนุนกลุ่มผู้มีอำนาจ

ในโลกเช่นนี้ ทีไอทีวีจึงอยู่มิได้ และในโลกเช่นนี้ ช่อง 5 และช่อง 7 จึงต้องเป็นของทหารต่อไป โดยมิมีใครกล้าเอ่ยว่า มันควรถูกแปรรูปไปเป็นทีวีสาธารณะ ในโลกที่ดีกว่านี้ จะมีทีวีทั้งช่องที่เอาทักษิณและไม่เอาทักษิณ ช่องนายทุน ช่องในวัง ช่องชาวนา ช่องแรงงาน และช่องอื่นๆ แต่การยึดช่องใดช่องหนึ่งที่เห็นต่างจากกลุ่มผู้มีอำนาจในขณะนั้น ย่อมสะท้อนความคิดดูถูกประชาชนว่า ประชาชนสมควรถูกยัดเยียดด้วยโฆษณาชวนเชื่อต่อไป ทหารคงเตรียมให้ช่องทีพีบีเอสเป็นทีวีที่วิจารณ์รัฐบาลพลังแม้วใหม่ แต่นั่นอาจมิได้หมายความว่า พวกเขาเชื่อว่า ต้องมีทีวีที่เป็นพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง

ผู้เขียนขอฝากคำพูดของนอม ชอมสกี้ ไว้ในตอนท้ายนี้ว่า “หากเราไม่เชื่อในเสรีภาพในการแสดงออกของคนที่เราเกลียดชัง เราก็คงไม่เชื่อในเสรีภาพอย่างแท้จริง”

“If we don’t believe in freedom of expression for people we despise, we don’t believe in it at all.”


Noam Chomsky

โดย : ประชาไท วันที่ : 21/1/2551

แท็ก คำค้นหา