ทีพีบีเอส

คอลัมน์ งานเป็นเงา
โดย ลำแข แล้วในที่สุดสถานีโทรทัศน์ “ทีไอทีวี” ก็กลายรูปเป็นสถานี “ทีพีบีเอส” หรือ “ไทย พับลิค บรอดแคสติ้ง เซอร์วิส” ไปจนได้

กรณีพิพาทระหว่างสถานีโทรทัศน์ไอทีวีกับสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี เกิดขึ้นติดต่อกันมายาวนาน กระทั่งบัดนี้ คนที่ได้ยินข่าวแต่ไม่ได้ติดตามรายละเอียดอย่างใกล้ชิด ย่อมยังเข้าใจไม่ได้ถ่องแท้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

กระทั่งพยายามอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ ก็เข้าใจไม่ได้ตรงกัน แถมมีข้อมูลหลายแง่ที่ชวนให้ไขว้เขวไปเสียอีก

เห็นแต่พนักงานร้องโอดครวญอยู่หน้าจอโทรทัศน์เป็นคราวๆ แต่ไม่เคยเห็นผู้บริหารหรือฝ่ายจัดการสถานี ออกมาปะทะโต้แย้งหรือต่อสู้คัดง้างอะไรกับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นคู่กรณี ปล่อยให้พนักงานเรียกร้องความเห็นใจจากผู้คนไป

ทั้งๆ ความจริงพนักงานไม่ใช่เจ้าของปัญหา

ใครมีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ยิ่งเหนื่อยกับการปะติดปะต่อข้อเท็จจริงของข่าว ซึ่งแตกต่างกันออกไป

บ้างว่า เป็นการลงแรงผลักดันของบรรดาเอ็นจีโอ หรือคนทำงานองค์กรเอกชนส่วนหนึ่ง ซึ่งอยากทำงานโทรทัศน์ ดันจนเกิดกฎหมายขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสถานะของสถานีนี้ไปจนได้

บ้างก็ว่า การทำทีวีสาธารณะนั้นดีแล้ว แต่รัฐบาลไม่มีความสามารถจัดการให้เกิดผลอย่างละมุนละม่อมตรงไปตรงมา ถึงตอนนี้เมื่อกฎหมายประกาศใช้ อ้างกฎหมายอย่างเดียวก็จะให้จบลงง่ายๆ

ทั้งๆ มีเรื่องค้างศาลหรืออนุญาโตตุลาการให้พิจารณาอยู่

คนก็เลยงง

ทีพีบีเอสจึงเกิดขึ้นท่ามกลางคำถาม

ถามว่าแรกเริ่มเดิมทีสถานีนี้มาแบบไหน แล้วเปลี่ยนแปลงเป้าหมายไปได้อย่างไร โดยไม่ได้ตรวจสอบกำกับเสียแต่ตอนนั้น และพอไม่ได้ตรวจสอบกำกับ อดีตนายกฯเกิดมาเป็นเจ้าของเข้า การทำธุรกิจก็เลยกลายเป็นเรื่องการเมืองไป

แทนที่จะหาเอกชนรายใหม่ที่อาสาเข้ามาประมูลว่าจะทำให้ได้ตามเป้าหมายซึ่งวางไว้เดิม เข้ามาทำ ก็กลัวเงินเก่าสวมรอยมากับหน้าใหม่ ทั้งๆ ที่รัฐก็มีอำนาจตรวจสอบกำกับอยู่ แต่กลับออกกฎหมายมาเปลี่ยนสถานะเอาดื้อๆ

เอาเงิน (แม้จะบอกว่าเงินบาปก็เถอะ) รัฐเข้ามาใช้ ในกิจการซึ่งไม่เคยเห็นว่ารัฐจะทำได้ (เช่นเดียวกับอีกหลายกิจการ) ทั้งๆ ปล่อยให้เอกชนทำได้โดยเสรีหลากหลายรูปแบบ เพียงแต่จัดสรรคลื่นความถี่ให้กว้างขวางอย่างไม่ปิดกั้นเท่านั้น

เปิดสถานีโทรทัศน์สักสิบช่องยี่สิบช่องขึ้นมา ทำไมจะไม่มีสถานีดีๆ ทำรายการดีๆ มาแข่งขันกันแย่งคนดู

ถามว่าอย่างนี้ถ้าเกิดกับการลงทุนของเอกชนได้อย่างไม่มีหลักไม่เกณฑ์ แล้วจะเอาอะไรเป็นขื่อแปบ้านเมือง ในเมื่อขื่อแปที่มีอยู่ใช้ไม่ได้หรือไม่ได้ใช้ให้ถูกต้อง

ถามว่าช่อง ๑๑ มีคนดูเท่าไหร่ การลงทุนเกิดประสิทธิผลไหม คุ้มกับภาษีอากรที่ประชาชนจ่ายไปหรือไม่ ทุกวันนี้มีรายการอะไรเป็นหน้าเป็นตา

ทำไมรัฐบาลต้องมาทำทีวี มาบริหารทีวี ขณะที่สื่อควรจะอยู่ในมือสาธารณชนให้มากที่สุด วิทยุชุมชนนับพันๆ สถานีได้ใช้ประโยชน์สาธารณะเต็มที่ตามเป้าหมายหรือยัง

ทำไม – ยังมีทำไมจะถามอีกเยอะไปหมด

ที่มา มติชน วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10908 หน้า 25

แท็ก คำค้นหา