บทความทีวีสาธารณะไทย-PBS

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : การจัดตั้งองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ดำเนินการสถานีโทรทัศน์สาธารณะ หรือที่เรียกกันว่า ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ทำให้มีผู้สนใจและสงสัยกันมาก เพราะคำว่า “ทีวีสาธารณะ” เป็นของใหม่ในบ้านเรา

ผมมีความคิดเห็นต่อข้อที่คนสงสัยกันมากๆ 3 ประเด็น ดังนี้

1) ทำไมต้องเลิกโทรทัศน์ที่เคยทำเงินให้รัฐ มาทำโทรทัศน์ที่รัฐต้องจ่ายเงิน ?

ประเด็นนี้ มักมีคนจับแพะมาชนแกะเสมอ โดยเฉพาะฝ่ายที่มีผลประโยชน์อยู่ในไอทีวี ในความเป็นจริง การเลิกสถานีโทรทัศน์ไอทีวีที่เคยทำเงินให้รัฐ กับการสร้างสถานีโทรทัศน์ที่รัฐต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการ เป็นคนละเรื่อง ไม่เกี่ยวข้องกัน

การเลิกสถานีโทรทัศน์ไอทีวีนั้น เนื่องจากผู้บริหารไอทีวีในอดีตคิดว่ามีเจ้าของเป็นนายกรัฐมนตรีจึงไม่ทำตามสัญญาสัมปทาน ค้างจ่ายค่าสัมปทานจำนวนมาก และต้องจ่ายค่าปรับอีกจำนวนมหาศาล ทั้งนี้เพราะไปปรับสัดส่วนเนื้อหารายการ โดยลดรายการสาระ เพิ่มรายการบันเทิง จนผิดสัญญาเดิม

ถ้าใครจะกล่าวโทษ หรือเรียกค่าเสียหาย ก็ควรจะไปเรียกร้องเอากับผู้บริหารไอทีวีที่บริหารผิดสัญญาร้ายแรง จนคลื่นความถี่และทรัพย์สินต่างๆ ต้องกลับไปตกเป็นของรัฐ

ส่วนการสร้างสถานีโทรทัศน์ที่รัฐจะต้องจ่ายเงินนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นการสร้างทีวีสาธารณะให้เกิดขึ้นจริงในบ้านเรา หลังจากที่มีการพูดมานานในแวดวงสื่อสารมวลชน ในฐานะที่จะให้เป็นทีวีที่มีเสรีภาพและความรับผิดชอบ คือ อิสระจากการเมืองและอำนาจทุน แต่รับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะ นำเสนอรายการสาระที่มีคุณภาพ ตรงไปตรงมา ไม่ถูกครอบงำแทรกแซงบิดเบือน แต่ถูกตรวจสอบและมีส่วนร่วมโดยประชาชน

อันที่จริง สถานีโทรทัศน์ที่รัฐต้องจ่ายเงินเพื่อดำเนินการนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ในบ้านเรา เพราะทุกวันนี้ สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ก็ดำเนินการอยู่โดยงบประมาณของแผ่นดิน

เรื่องเกี่ยวกับกรมประชาสัมพันธ์และโทรทัศน์ช่อง 11 จะไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้ ทั้งความเป็นมา และข้อจำกัดในปัจจุบัน เพราะถ้าพูดก็คงต้องคุยกันยาวและลงลึก แต่สรุปว่า ปัจจุบัน ช่อง 11 ไม่ได้เป็นสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ที่ “สัมพันธ์กับประชา” โดยทำรายการที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ได้มีส่วนร่วม ได้พูด ได้แสดงออก สื่อสารผ่านรายการโทรทัศน์ อย่างที่คนกรมประชาสัมพันธ์ต้องการ แต่ได้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการสื่อสาร เป็นสื่อทีวีที่ผู้มีอำนาจรัฐใช้ในการบอกกล่าวโฆษณาต่อประชาชน หรือเป็นพื้นที่ในการแสดงออกของผู้จ่ายเงิน โทรทัศน์ ช่อง 11 จึงเป็น “บอนไซ” ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่กลางหิน อยู่ในกรอบอำนาจรัฐ ช่อง 11 จึงไม่ใช่ทีวีสาธารณะ ถ้าเปรียบเป็นสวนก็ไม่ใช่สวนสาธารณะ แต่เป็นสวนหย่อมในสถานที่ราชการ และบ่อยครั้งกลายไปเป็นสวนหน้าบ้านของผู้กุมอำนาจรัฐ

ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 3-5-7-9 ก็ได้เข้าสู่ระบบธุรกิจสัมปทาน กลายไปเป็นเครื่องมือทำมาหากินของเอกชน ไม่ใช่ทีวีสาธารณะ ไม่เป็นสวนสาธารณะ แต่เป็นเหมือน “สวนสนุก” เพื่อแสวงหารายได้ของเอกชนและรัฐ

ประชาชนดูทีวีเหล่านี้ เสียค่าใช้จ่ายในรูปที่ต้องทนดูโฆษณาที่พยายามครอบงำ ชักจูงให้คนดูไปเป็นลูกค้า หรือแม้แต่จ่ายในรูปของการได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ตรงไปตรงมา บิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุน

การพยายามพูดเสมือนว่า สถานีทีวีสาธารณะ “ไทยพีบีเอส” ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เกิดมากินเงินภาษีของประชาชน แทนที่จะเกิดมาเพื่อหาเงินเข้ารัฐ จึงเป็นการพูดแบบหยาบๆ มองชั้นเดียว คิดชั้นเดียว ด้วยสมองซีกเดียว

พูดตรงไปตรงมา หากรัฐต้องการเงินจากการทำทีวี ต้องการจะมีสถานีโทรทัศน์เพื่อหารายได้เพิ่มขึ้นอีก (จากที่มีอยู่แล้ว ช่อง 3-5-7-9) ก็ควรจะเปิดได้อีกหลายๆ สถานี และปล่อยให้มีโฆษณาเต็มที่ เพื่อว่ารัฐจะได้เงินมากๆ แต่ถ้าเรามองว่า ขณะนี้ สังคมไทยต้องการสื่อโทรทัศน์ที่ให้ความรู้และปัญญาแก่ผู้คน ทำให้สังคมเป็นสังคมของการเรียนรู้ ทำให้คนไทยฉลาดขึ้น รู้ทันการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น ไม่ถูกครอบงำความคิด ชักจูงชักนำโดยอิทธิพลของโฆษณาหรืออำนาจการเมือง ก็จำเป็นต้องลงทุน

คล้ายๆ กับ เป็นการลงทุนเปิดสถานศึกษาที่ให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึง เรียนรู้และมีส่วนร่วมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยมั่นใจได้ว่า จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ตรงไปตรงมา อยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง

เว้นเสียแต่ว่า ต้องการจะให้คนไทยถูกมอมเมา ถูกปิดหูปิดตาด้วยข้อมูลข่าวสารที่ครอบงำ บิดเบือน โดยฝ่ายการเมืองและอำนาจทุนต่อไป เพื่อจะได้ปกครองง่ายๆ ล่อหลอกง่ายๆ กดขี่หรือแสวงหาผลประโยชน์ง่ายๆ

รูปแบบของไทยพีบีเอสที่กำลังเกิดขึ้นใหม่นี้ วางหลักว่าต้องเป็นทีวีที่นำเสนอรายการข่าวสารสาระ โดยไม่มีโฆษณา ไม่มีการแอบแฝงจูงใจให้คนดูไปเป็นลูกค้าใดๆ โดยถือว่าข้อมูลข่าวสารที่ตรงไปตรงมาและมีคุณภาพเช่นนี้เป็นบริการสาธารณะที่รัฐต้องจัดให้แก่ประชาชน เพราะฉะนั้น รัฐจึงต้องสนับสนุนเงินค่าดำเนินงานในแต่ละปี โดยจัดเก็บจากภาษีบาป คือ ร้อยละ 1.5 ของรายได้จากภาษีเหล้าและบุหรี่ จะถูกหักแบ่งมาใช้เพื่อการดำเนินงานของไทยพีบีเอส ปีละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท

2) ไทยพีบีเอส จะเป็นอิสระจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน จริงไหม ?

นี่คือเงื่อนไขขั้นต้นเพื่อจะเป็นทีวีสาธารณะของ “ไทยพีบีเอส”

พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศ พ.ศ.2550 จึงพยายามวางเงื่อนไข หลักเกณฑ์ โครงสร้างการบริหารงาน เพื่อป้องกันมิให้ “ไทยพีบีเอส” ถูกแทรกแซง ครอบงำโดยอำนาจรัฐและอำนาจทุน

นอกจากจะกำหนดให้มีรายได้ที่แน่นอนของตนเอง ไม่ต้องไปขอเงินใคร ไม่ต้องไปพึ่งค่าโฆษณาจากภาคธุรกิจแล้ว ยังสร้างปราการป้องกันการทำงานของไทยพีบีเอส โดยให้มีคณะกรรการนโยบายฯ เพื่อปกป้องคุ้มครองฝ่ายบริหารของไทยพีบีเอสให้ทำงานตามเจตนารมณ์ มิให้ถูกบีบ กดดัน หรือแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

น่าคิดว่า ช่องทางเล็กๆ ที่เปิดให้ภาคธุรกิจและใครๆ สามารถบริจาคเงินสนับสนุนสถานีไทยพีบีเอสนั้น จะถูกทำให้กลายเป็นช่องทางในการแทรกซึมเข้ามาครอบงำ หรือมีอิทธิพลในการนำเสนอรายการของไทยพีบีเอส หรือไม่ จะป้องกันและตรวจสอบอย่างไร

บทเรียนจากกรณีช่อง 11 แต่ก่อนก็ห้ามมีโฆษณาโดยเด็ดขาด จากนั้น ค่อยๆ อนุญาตให้โฆษณาภาพลักษณ์ของหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจได้ ก่อนจะคืบคลาน ได้คืบเอาศอกต่อไปเรื่อยๆ

น่าคิดว่า หากไทยพีบีเอสอนุญาตให้มีการขอบคุณผู้บริจาคเงินแล้ว ถ้าหากชื่อบริษัทผู้บริจาคเป็นชื่อเดียวกับผลิตภัณฑ์จะถือว่าเป็นการโฆษณาหรือไม่

ยิ่งกว่านั้น น่ากลัวว่า ต่อไป คงจะมีคนพยายามคืบคลานให้ขอบคุณสินค้าและผลิตภัณฑ์ของบริษัทผู้บริจาคนั้นๆ แล้วต่อๆ ไป ก็อาจจะค่อยๆ ขยายไปจนถึง ชื่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ ตามด้วยสโลแกนของสินค้านั้นๆ

ไทยพีบีเอส ควรหามาตรการเตรียมตัดไฟไว้เสียแต่ต้นลม เช่น ให้ทางสถานีฯ เป็นผู้พิจารณาขอบคุณในช่วงเวลารอยต่อระหว่างรายการ (ห้ามแทรกในช่วงเนื้อหาเด็ดขาด) เป็นต้น

ในส่วนของฝ่ายการเมือง น่าคิดว่า การเปิดช่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาทบทวนอัตราเงินสนับสนุนของไทยพีบีเอสในอีก 3 ปีข้างหน้า จะเป็นช่องโหว่ เป็นจังหวะ หรือเป็นโอกาสให้ฝ่ายการเมืองได้กดดัน แทรกแซง หรือต่อรองในการทำงานของไทยพีบีเอสหรือไม่

ถึงเวลานั้น สังคมต้องช่วยกันจับตามองว่ารัฐมนตรีการคลังในขณะนั้นเป็นใคร ฝ่ายไหน และจะพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา เพื่อเจตนารมณ์ของการมีทีวีสาธารณะอย่างแท้จริง หรือไม่ ? ประการสำคัญ คือ คนทำงานในไทยพีบีเอสเอง จะต้องมีจิตสำนึกเพื่อสาธารณะ เป็นอิสระแก่ใจเป็นไทแก่ตัว ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของทีวีสาธารณะอย่างแท้จริง ไม่หอบหิ้วเอาสำนึกความเป็นทาสของนักการเมืองที่เคยแสดงออกในไอทีวีเข้ามาสานต่อหรือแพร่เชื้อร้ายในทีวีสาธารณะแห่งนี้ด้วย

3) ทีวีสาธารณะ จะน่าเบื่อ ไม่มีคนดู จริงหรือ ?

รายการที่มีสาระไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ และไทยพีบีเอสก็จำเป็นต้องทำให้ไม่น่าเบื่อ เพราะต้องดึงดูดคนดูแข่งขันกับทีวีช่องอื่นๆ ด้วย โดยอาศัยจุดแข็งที่ตนเองมี แตกต่างจากช่องอื่นๆ ไทยพีบีเอส สามารถนำเสนอเรื่องราวประเด็นปัญหาที่ประชาชนอยากจะรู้ อยากจะดูอย่างแท้จริง (ไม่ใช่เรื่องที่นักการเมืองอยากจะชี้นำ หรือบริษัทโฆษณา-ผู้ขายสินค้าอยากจะเห็น) จึงไม่น่าเบื่อแน่ๆ

ไทยพีบีเอส สามารถนำเสนอมุมมองที่ตรงไปตรงมา โดยที่สาธารณชนมีความเชื่อถือเบื้องต้นมากกว่าช่องอื่นๆ ว่าเนื้อหาสาระที่กำลังนั้นไม่ได้ถูกครอบงำ สั่งการ หรือกดปุ่มมาจากฝ่ายการเมืองหรือผู้มีอำนาจ มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น การนำเสนอความจริงในเรื่องเกี่ยวกับกองทัพ คนดูย่อมจะเชื่อถือไทยพีบีเอสมากกว่าช่อง 5-7 หรือ เรื่องการเมือง เรื่องเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ คนดูย่อมจะเชื่อถือไทยพีบีเอสมากกว่าช่อง 9 และช่อง 11 ที่มีโฆษณาของรัฐวิสาหกิจนั้นอยู่ เป็นต้น

เมื่อมีข่าวใหญ่ๆ หรือปัญหาสำคัญๆ ที่สังคมสนใจอยากจะรู้ ประชาชนก็จะมาติดตามที่ไทยพีบีเอส หรือหากดูช่องอื่นๆ แต่ก็จะต้องมาดูไทยพีบีเอสเพื่อเป็นมาตรฐานเทียบเคียงด้วย

ไทยพีบีเอส จะไม่ต้องถูกสั่งให้เอาคนของนักการเมืองมาออกรายการ หรือห้ามคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมาออกรายการ หรือถูกบริษัทโฆษณากำหนดให้ทำรายการเรื่องใด เชิญใคร ฯลฯ เพราะฉะนั้น จึงทำงานได้อย่างเต็มที่ เป็นพื้นที่เปิดสำหรับทุกฝ่าย

ไทยพีบีเอส จะต้องมองคนดูในฐานะพลเมือง มองในความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นลูกค้า แม้แต่คนที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีเงิน ไม่มีกำลังซื้อ ก็จะต้องได้รับโอกาส ได้รับประโยชน์จากทีวีสาธารณะ เพราะฉะนั้น ไทยพับีเอสจึงมีศักยภาพที่จะเข้าถึงคนกว้างขวางกว่าช่องอื่นๆ ไทยพีบีเอส สามารถเลือกสรรและว่าจ้างบริษัทผู้ผลิตรายย่อยจำนวนมาก เพื่อคัดสรรรายการที่มีสาระประโยชน์ มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือสูงสุด และน่าสนใจที่สุดสำหรับคนดู

นอกจากนี้ ประชาชนคนดูจะมีส่วนในการกำกับดูแลไทยพีบีเอสด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อใดที่ประชาชนรู้สึกเบื่อ หรือเห็นว่ารายการไม่มีคุณภาพเพียงพอ ย่อมจะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข

ไทยพีบีเอส จะต้องไม่มีเจ้าพ่อเจ้าแม่ประจำสถานี เพราะแม้แต่นายสถานี หากทำตัวอยู่เหนือเจตนารมณ์ของสถานี ก็สามารถจะถูกตรวจสอบและเปลี่ยนตัวได้

เริ่มต้น คณะกรรมการชั่วคราวทั้ง 5 คน รวมถึงรักษาการผู้อำนวยการอย่างนายเทพชัย หย่อง ซึ่งทำให้คาดหวังถึงสิ่งดีๆ ได้ไม่น้อย

หวังว่า ไทยพีบีเอสจะไม่ถูกกลืนไปด้วยวัฒนธรรมของคนทำงานไอทีวีเดิม หรือถูกทำให้เจตนารมณ์อันดีไม่เกิดขึ้นจริง ด้วยอำนาจรัฐ ผ่านการสรรหาหรือแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและผู้บริหารคนใหม่

ในอนาคตอันใกล้ จะต้องมีการสรรหากรรมการนโยบาย 9 คนของไทยพีบีเอส ซึ่งมีความสำคัญมากต่อความเป็นอิสระของไทยพีบีเอส เพราะจะเป็นกันชนในการทำงานของทีวีสาธารณะ แต่ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุครัฐบาลไทยรักไทย การสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งสำคัญ มักจะถูกแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็น กกต. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ โดยแทรกแซงตั้งแต่ในชั้นการสรรหาตัวกรรการสรรหาเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ประชาชนจะต้องช่วยกันกำกับดูแลและจับตามองการสรรหากรรมการนโยบาย 9 คนของไทยพีบีเอส เพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด

ต้องช่วยกันให้กำลังใจ และช่วยกันทำ เพื่อให้ความหวังเกิดเป็นความจริง

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 20 มกราคม พ.ศ. 2551 19:33:00

แท็ก คำค้นหา