“บัดนี้ ในทางนิตินัย ประเทศไทยมีโทรทัศน์สาธารณะเป็นครั้งแรกแล้ว จะเริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป แต่ในทางพฤตินัย ทีวีสาธารณะยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างโดยสมบูรณ์แบบ ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันผลักดันให้เป็นความจริงต่อไป และจะต้องช่วยกันปกป้อง ป้องกันไม่ให้
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ไม่ให้โทรทัศน์สาธารณะถูกอำนาจนักการเมืองหรืออำนาจนักธุรกิจ ฮุบเอาไปอีก” (บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ 19 มกราคม 2551 หน้า 3)
ผมเป็นแฟนประจำบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่อ่านเป็นคอลัมน์แรกทุกวันมายาวนานกว่าทุกคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในประเทศไทย ด้วยความรู้สึกชื่นชมและศรัทธาใน “ผู้เขียน” ที่เป็นนักหนังสือพิมพ์อาวุโสแห่งไทยรัฐ จึงสามารถแสดงจุดยืนของหนังสือพิมพ์ที่เปี่ยมไปด้วยวุฒิภาวะและความน่าเชื่อถือทุกครั้ง ปราศจากอคติ ปราศจากความลำเอียงและยืนอยู่ข้างความถูกต้องทุกครั้ง
ถือเป็น “คอลัมน์” ที่ดีที่สุดในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมายาวนานหลายสิบปี และน่าจะดีที่สุดในวงการหนังสือพิมพ์ของไทย ถือเป็นตัวอย่าง “ความเป็นกลางของสื่อ” ที่เลือกยืนอยู่บนความถูกต้องชอบธรรม กล้าชี้ผิดชี้ถูกโดยไม่หวั่นเกรงอำนาจใดและปราศจากอคติอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการเปลี่ยนถ่ายสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะไทยพีบีเอส ที่บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้แสดงจุดยืนสนับสนุนมาก่อนหน้านี้ 1 ครั้งแล้ว
แม้ว่าค่อนข้างผิดหวังกับหลายคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ที่มักเขียนถึง “โทรทัศน์สาธารณะ” หรือไทยพีบีเอสอย่างผิดๆ ข้อเขียนเต็มไปด้วยอคติ ขาดการศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง และมักเป็นเพียงแค่จำคำพูดที่เห็นแก่ตัวของผู้ผลิตรายการ ที่มีผลประโยชน์รายการในไอทีวีมาขยาย “ความเท็จ” ต่อกับสาธารณชน
เพียงเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับการดื้อแพ่งของ “คนทีไอทีวี” และ “ผู้ผลิตรายการ” ในทีไอทีวี ที่ไม่เคยยอมรับ “ความจริง” ที่ว่าปัญหาไอทีวีทั้งหมดเกิดจากผู้บริหารไอทีวีในยุคชินคอร์ปถือหุ้นใหญ่กระทำความผิด
ซึ่งเกิดจากการไม่ยอมชำระเงินค่าสัมปทานเต็มจำนวนประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี แล้วอาศัย “อำนาจการเมือง” ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แทรกแซงทั้งทางตรงและทางอ้อม จนคณะอนุญาโตตุลาการยอมลงมติให้ลดค่าสัมปทานลงเหลือประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี และเปลี่ยนผังรายการใหม่ลดสัดส่วนข่าวลงจาก 70% เหลือ 50% เพื่อหารายได้โฆษณามากขึ้นที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์เดิมในการเกิดขึ้นของไอทีวี
นอกจากนี้คอลัมนิสต์ในไทยรัฐบางคน ยังแวะเวียนเขียนถึงการประกอบธุรกิจโดยสุจริตของ “เนชั่นทีวี” ที่ผลิตรายการป้อนให้กับสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ด้วยการสวม “แว่นดำ” มอง “รายการเชิงข่าวของเนชั่น” ที่ไปปรากฏบนหน้าจอในรายการเชิงข่าวหลายช่อง ด้วยความรู้สึกอคติ คิดไปเองหรือไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงเพียงพอก่อนการเขียน
ทำไมไม่สงสัยหรือว่าพวกเขา “คนข่าวเนชั่น” จึงได้รับ “โอกาส” เข้าไปร่วมผลิตรายการเชิงข่าวกับสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีถึง 4 ช่อง คือ ช่อง 3 รายการเรื่องเด่นเย็นนี้, ช่อง 5 รายการสยามเช้านี้, ช่อง 7 รายการจมูกมด, ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ รายการข่าวข้นคนข่าวและรายการชีพจรโลก
ข้อเท็จจริง คือ “เนชั่นทีวี” ที่เป็นหน่วยธุรกิจเล็กๆ ด้านบรอดแคสติ้งในเครือเนชั่น (รายได้ไม่ถึง 10% ของเครือเนชั่น) ไม่เคยมีอิทธิพลและไม่เคยอาศัยอำนาจใดๆ หรือ “มือที่มองไม่เห็น” ไปบีบบังคับผู้บริหารฟรีทีวีทั้ง 4 ช่องให้ “คนข่าวเนชั่น” เข้าไปร่วมผลิตและเป็นผู้ดำเนินรายการเชิงข่าวร่วมกับทีมข่าวของแต่ละสถานี
ในทางตรงกันข้าม “เนชั่นทีวี” ต้องขอขอบคุณและถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ระดับชาติ 4 แห่ง “เชื่อมั่น” ในความเป็นมืออาชีพ ความเป็น “ตัวจริง” ในสนามข่าวของบุคลากรจาก “เนชั่นทีวี” แล้วเชื้อเชิญให้เข้าไปร่วมผลิตร่วมพัฒนารายการเชิงข่าวของฟรีทีวีในรูปแบบ “องค์กรต่อองค์กร” มาตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2546 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนมาถึงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากการรัฐประหาร
อยากให้ผู้เขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ลองสอบถาม “ความจริง” จากผู้บริหารช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7 และช่อง 9 ว่าที่มาของรายการเชิงข่าวต่างๆ ที่มี “คนข่าว” หรือผู้ดำเนินรายการจากทีมงานเนชั่นเข้าไปร่วมดำเนินรายการได้อย่างไร หากไม่มีความสามารถและความน่าเชื่อถือเพียงพอ
ทั้งนี้เพราะบุคลากรด้านข่าวในแต่ละช่องก็มีอยู่แล้ว และที่สำคัญทุกรายการเป็นการร่วมผลิตที่มี “ผู้ดำเนินรายการ” จากสถานีร่วมอยู่ด้วย ซึ่งถือเป็น “พันธมิตร” ในการทำงานร่วมกันระหว่าง “สถานีโทรทัศน์” กับ “เนชั่นทีวี” (ที่หมายรวมไปถึงเครือเนชั่นที่มีฐานข่าวสื่อสิ่งพิมพ์อันแข็งแกร่งด้วย) ในการพัฒนาคุณภาพรายการในเชิงเนื้อหา เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ชม
“คนข่าวเนชั่น” ถูกฝึกมาให้ “เปิดกว้าง” พร้อมรับคำวิจารณ์ทุกเมื่อที่อยู่บนพื้นฐานความสุจริตใจ และปราศจากวาระซ่อนเร้นในเชิงผลประโยชน์อื่นใด
“คนข่าวเนชั่น” ที่ไปปรากฏอยู่บนหน้าจอและหลังจอของสถานีโทรทัศน์หลายช่องในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เกิดจากการฝึกปรือตลอดเวลา เพื่อบ่มเพาะ “จิตวิญญาณ” มืออาชีพและการทำงานหนักใน Nation Channel สถานีข่าว 24 ชั่วโมงที่มีอายุเกือบจะครบ 8 ปีแล้ว จน Nation Channel ได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างกว้างขวางว่า เสมือนเป็น “โรงเรียนหรือสถาบัน” ผลิตบุคลากรที่มีความสามารถ ป้อนให้กับวงการโทรทัศน์ไทยมากกว่าสถาบันการศึกษาใดๆ
วันที่ 1 พฤษภาคม 2543 เป็นวันแรกในการออกอากาศของ Nation Channel ทางยูบีซีเคเบิลทีวีช่อง 8 อยู่ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และอยู่ในคาบเวลารอยต่อการประชุมคณะกรรมการของบริษัท ไอทีวี จำกัด นัดส่งท้ายในปลายเดือนเมษายน 2543 ที่มีมติลดทุนเพื่อเปิดทางให้กลุ่มชินคอร์ปเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดความเกี่ยวข้องในด้านการบริหารงานข่าวของเครือเนชั่นในบริษัท ไอทีวี จำกัด ที่เหลือการถือหุ้นน้อยกว่า 1%
การเกิดขึ้นของ Nation Channel อย่างเหมาะเจาะกับช่วงเวลาการสิ้นสุดยุค 3 ปีแรกของไอทีวี จึงเสมือนการถ่ายโอน “จิตวิญญาณทีวีเสรี” ของไอทีวีที่สิ้นสุดลงไปพร้อมกับการเข้ามาของกลุ่มชินคอร์ปที่ในขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้จัดตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้นมาแล้ว
ทีมงานเนชั่นที่ขอลาออกแล้วเข้าไปอยู่ในไอทีวียุค 3-4 ปีแรก (2539-2543) มีไม่เกิน 10 คน ( เช่น ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์, ประจักษ์ มะวงศ์สา, ภัทราพร สังข์พวงทอง ฯลฯ) นำโดย คุณเทพชัย หย่อง ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายข่าวที่มีบทบาทสำคัญ ในการหล่อหลอมบุคลากรในไอทีวียุคแรกที่เดินออกมาจากหลายสำนักข่าวให้มี “จิตวิญญาณ” โทรทัศน์เสรีแบบเดียวกัน เช่น อสมท (อัชฌา สุวรรณปากแพรก ฯลฯ), แปซิฟิก (กิตติ สิงหาปัด ฯลฯ), มติชน (จอม เพ็ชรประดับ ฯลฯ), ฐานเศรษฐกิจ (จิรายุ ห่วงทรัพย์, สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ ฯลฯ) แม้กระทั่งยังมาจากไทยรัฐ, เดลินิวส์, สยามรัฐ, แนวหน้า ฯลฯ
กรณีนี้จึงไม่ใช่ผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเครือเนชั่นเข้าไปถือหุ้นในไอทีวี 10% ในภายหลังเพื่อร่วมบริหารข่าวตามคำชักชวนของกลุ่มแรกที่ชนะประมูลทีวีเสรี คือ กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์-ไอเอ็นเอ็น-เดลินิวส์ ฯลฯ ที่เสนอค่าสัมปทานแพงลิบลิ่วถึง 25,000 ล้านตลอดอายุสัมปทาน
แต่ “คนข่าว” ของ Nation Channel กลับไม่ได้เกิดขึ้นจากการย้ายคนมาจากไอทีวีแต่อย่างใด พนักงานกว่า 80% มาจากการสร้างคนใหม่ขึ้นมาเพื่ออุทิศตัวทำงานยาก อย่าง “สถานีข่าว 24 ชั่วโมงแห่งแรก” ของประเทศไทยในวันที่ 1 พฤษภาคม 2543 ที่ใช้เวลาเตรียมการก่อนหน้านั้นประมาณ 7-8 เดือน
เมื่อคุณเทพชัย หย่อง อดีตบรรณาธิการเครือเนชั่นได้ลาออกจากเนชั่น เพื่อเข้าไปรับตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการชั่วคราวสถานีโทรทัศน์สาธารณะ และได้รับเลือกเป็นรักษาการผู้อำนวยการไทยพีบีเอสเมื่อวันที่ 15 มกราคม ภายหลังจากพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มีผลบังคับใช้ให้เป็น “องค์การสื่อสาธารณะมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ”
จุดยืนของ “เนชั่นทีวี” และเครือเนชั่นจึงชัดเจนไม่อ้อมค้อมว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interrest) จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในการเสนอรายการให้ไทยพีบีเอสพิจารณาตลอด 6 เดือน ในช่วงที่คุณเทพชัยยังมีอำนาจในการบริหารงานใน “องค์กรของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ”
รวมไปถึงหลังจาก 6 เดือนด้วย เพื่อไม่ให้ยังถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม และยังเต็มไปด้วยอคติว่า คุณเทพชัยเป็นน้องชายแท้ๆ ของคุณสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น และผู้ถือหุ้นคนสำคัญในเนชั่น บ้างว่าการลาออกจากเนชั่นของคุณเทพชัยไม่มีผลจริงจัง ความเป็นน้องชายโดยสายเลือดย่อมตัดไม่ขาดอีกนั่นแหละ
ขอแสดงจุดยืนไว้ ณ ที่นี่ว่า หากคุณเทพชัยยังได้รับเลือกให้เข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจในการบริหารงานและการตัดสินใจ เกี่ยวกับผังรายการในไทยพีบีเอส ผู้ชมไทยพีบีเอสจะไม่เห็นรายการใดๆ จาก “เนชั่นทีวี” ปรากฏในผังรายการทุกช่วงเวลา
แม้ว่าจะเป็นสิทธิอันชอบธรรมของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ทุกรายในประเทศ และคนไทยทุกคนควรจะเข้าไปมีส่วน “ร่วมสร้าง” และช่วยกันปกป้องสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของไทย ไม่ให้ถูก “การเมือง” ย่ำยีแทรกแซงอีก เครือเนชั่นจึงเสียประโยชน์จากกรณีคุณเทพชัยเข้าไปอยู่ในไทยพีบีเอส หาใช่ได้ประโยชน์แต่อย่างใด
จึงขอฝากไปถึง หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ (POST TODAY) ที่จงใจเลือกพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง ถึงการเข้าไปเป็นกรรมการในไทยพีบีเอสของคุณเทพชัยว่า ทำให้ราคาหุ้น “เนชั่นคึก” เพิ่มขึ้นทันที แม้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ตลาดหุ้นตอบรับเช่นนั้น แต่นั่นหาใช่สาระสำคัญของข่าวในวันนั้นถึงขั้น “บรรณาธิการ” เลือกให้เป็นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง ทั้งๆ ที่สาระสำคัญของข่าววันนั้นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่า คือการเปลี่ยนถ่ายจากทีไอทีวีเป็นไทยพีบีเอสที่ยังมีข้อพิพาทในศาลปกครอง
อาจจะเป็นความเข้าใจไปเองของคนทำงานสื่อที่ไม่เคยรู้จัก หรือไม่เคยเชื่ออย่างแท้จริงในหลักการผลประโยชน์ทับซ้อน จึงจินตนาการไปเรื่อยเปื่อยและยังเต็มไปด้วยน้ำเสียงแปร่งๆ ในบทบรรณาธิการวันต่อมากับการ์ตูน เมื่ออ่านแล้วดูเสมือนว่าแสดงจุดยืนอยู่ข้าง “ทีวีสาธารณะ” แต่ลงท้ายกลับมีน้ำเสียงอิจฉาเสียดสีเย้ยหยันให้ระวัง “พยาธิในท้อง” จะแสดงตัวเองในภายหลัง
วุฒิภาวะของบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐกับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ในกรณีไทยพีบีเอส จึงแตกต่างกันในความเป็นมืออาชีพของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่มีหลักการและยึดมั่นในวิชาชีพอย่างซื่อสัตย์ แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่แอบเจือ “ยาพิษ” หรือ “พยาธิในใจ” แอบสำแดงตนในจุดยืน
อย่างไรก็ตาม ขอสนับสนุนให้ “โพสต์ทูเดย์” ที่กำลัง “ตั้งไข่” สถานีข่าวโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในชื่อ “Post Channel” ได้เข้าไปเสนอรายการโทรทัศน์ดีๆ ให้ไทยพีบีเอสด้วยเช่นกัน ถ้าหากเชื่อมั่นว่าจะผ่านด่านการพิจารณาเชิงคุณภาพ จากคณะกรรมการผังรายการและสภาผู้ชมทีวีสาธารณะ ที่ตามกฎหมายจะต้องจัดตั้งขึ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 20 มกราคม พ.ศ. 2551 00:09:00 |