วิบากกรรมของทีวีสาธารณะ : แค่ฝันหรือความหวังของพลเมืองแห่งรัฐไทย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : กระแสการทวงคืนทรัพย์สินสาธารณะให้กลับมาสู่การบริหารและการจัดการของรัฐอีกครั้งหนึ่ง ดูจะเป็นประเด็นหลักของการเมืองยุคหลังการบริหารงานของนายกฯ ทักษิณ โดยกรณีล่าสุดเห็นจะเป็นในเรื่องของการทวงคืนสถาบันสื่อมวลชน อันได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี

เราคงไม่ต้องลงรายละเอียดถึงวิบากกรรมของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ ที่เริ่มแรกถูกสถาปนาให้เป็นความหวังแห่งพื้นที่สาธารณะของคนในสังคม ที่จะสะท้อนเสียงอันหลากหลายและเติมสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยเต็มขั้น แต่ด้วยการขาดความเข้าใจในการบริหารจัดการสื่อสาธารณะของรัฐไทย ที่เลือกเอากลไกตลาดเป็นกระบวนการหลักในการบริหาร ส่งผลให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้เข้าสู่วังเวียนของการเปลี่ยนมือผู้เป็นเจ้าของจากการผูกขาดของรัฐไปสู่การผูกขาดของเอกชน

โดยในปัจจุบันก็ถูกเหวี่ยงกลับมาให้รัฐจัดการ ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวจะอยู่ในสถานะใด ก็มักจะมีคำว่า “ทีวีสาธารณะ” ห้อยท้ายเป็นประโยคตอกย้ำ เพื่อกล่าวอ้างถึงผลประโยชน์ของสาธารณชนแบบดาษๆ เหมือนการสร้างแบรนด์ทางการตลาด แต่แฝงนัยแห่งความชอบธรรมในการครอบครองและเป็นเจ้าของสถานีแห่งนี้

ความพยายามในการปรับสถานีโทรทัศน์ไอทีวีให้กลายเป็นสถานีสาธารณะอย่างแท้จริงนั้น สะท้อนให้เห็นถึงทางสองแพร่งของรัฐไทยระหว่างอำนาจของสื่อในระบบทุนนิยมและอำนาจของสื่อในการควบคุมของรัฐ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สื่อมวลชนไทยในอำนาจทุนนั้นเหมือนจะดูดี มีภาษี เบียดพื้นที่สื่อในอำนาจรัฐไปอย่างตกขอบ ทั้งในเชิงของเนื้อหาที่นำเสนอและในเชิงของการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเงินสนับสนุนที่มาจากระบบการเช่าช่วงเวลาและโฆษณา ซึ่งชัดเจน เล่นไปตามกลไกตลาดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดี

ในขณะที่สื่อมวลชนที่อยู่ในการดูแลของรัฐนั้น นอกจากจะมีการจัดการทางการเงินที่อีหลักอีเหลื่อแล้ว ยังไม่ตอบโจทย์ทั้งเนื้อหาที่ผู้บริโภคอยากจะรู้ (What do consumers want) และเนื้อหาที่พลเมืองควรจะรู้ (What do citizens need) อีกด้วย ซึ่งเมื่อสถานีโทรทัศน์ไอทีวีมาถึงทางตัน รัฐไทยจึงนับหนึ่งใหม่ เพื่อการผลักดันให้สถานีแห่งนี้กลายเป็นสถาบันสาธารณะอย่างแท้จริง โดยมุ่งเป้าไปที่ความเป็นอิสระทางด้านทุนการบริหาร ในลักษณะของการเอาภาษีบาปมาจุนเจือ

คงไม่มีใครเถียงถึงจุดยืนและวัตถุประสงค์ของการปรับเปลี่ยนดังกล่าว แต่ประเด็นที่จำเป็นต้องถามในห้วงเวลาปัจจุบันคือ ความเป็นไปได้ในการปรับสถานีโทรทัศน์ไอทีวีให้เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสวนกระแสทุนนิยมและการแข่งขันเสรีในตลาดสื่อยุคปัจจุบันแล้ว หากเราย้อนกลับไปวิเคราะห์สถานการณ์ของทีวีสาธารณะต้นแบบ อันได้แก่ สถานีโทรทัศน์บีบีซี ที่เรามักใช้อ้างอิงนั้น จะเห็นถึงวิบากกรรมของสถานีโทรทัศน์บีบีซีในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาที่ต้องเผชิญหน้ากับกระแสทุนนิยมในธุรกิจสื่อ และการปรับเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีการสื่อสาร

สถานีโทรทัศน์บีบีซีของประเทศอังกฤษเอง ก็หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกระแสทุนนิยมในธุรกิจสื่อไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับทีวีสาธารณะอื่นๆ ทั่วโลก แม้บีบีซีจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนโดยตรง ผ่านค่าธรรมเนียมโทรทัศน์ที่จุนเจือในรูปแบบภาษีทางตรงที่จ่ายให้กับสถานี เพื่อการันตีความเป็นอิสระจากการแทรกแซงของอำนาจรัฐและอำนาจทุนก็ตาม แต่เมื่อรัฐบาลอังกฤษได้ปรับทิศทางในอุตสาหกรรมสื่อมาสู่การแข่งขันเสรี ส่งผลให้บีบีซีเองต้องต่อกรกับสถานีโทรทัศน์ BskyB ซึ่งดำเนินการโดยเอกชนที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีและเนื้อหาใหม่ๆ

แม้การเปิดตัวช่วงแรกของ BskyB จะไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชนชาวอังกฤษมากนัก เนื่องด้วยถูกมองว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็น และที่สำคัญคือชาวอังกฤษเชื่อมั่นแล้วว่าสถานีโทรทัศน์บีบีซีได้ผลิตรายการที่เหมาะสม เพียงพอกับความต้องการของพวกเขาอยู่แล้ว แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน กลุ่มผู้บริโภคก็เปลี่ยน โดยในปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ชื่นชอบกับการดำเนินธุรกิจของ BskyB ทั้งในแง่เนื้อหา การบริการ และราคา จนเบียดส่วนแบ่งตลาดของโทรทัศน์บีบีซี ที่จากเดิมเคยผูกขาดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์มาเหลือเพียง 38%

พร้อมกับมองการเข้ามาของ BskyB ว่า เป็นการสถาปนาคลื่นลูกใหม่ของวงการโทรทัศน์ที่หยิบยื่นทางเลือกที่มากกว่า และดีกว่าให้กับผู้บริโภค จากจุดนี้เองส่งผลให้สถานีโทรทัศน์บีบีซีต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่ ทั้งในรูปของการปฏิวัตินวัตกรรมสื่อในองค์การ การขยายตลาดไปสู่ระดับโลกให้เข้าถึงผู้บริโภคกว่า 187 ประเทศ รวมถึงการปรับเปลี่ยนปรัชญาในการผลิตรายการจากเดิมที่มุ่งเน้นการตอบสนองผู้ชมทุกเพศทุกวัยตามรูปแบบของการเป็นพื้นที่สาธารณะแบบเดิมๆ มาเป็นการผลิตรายการที่แตกกระจายไปตามกลุ่มเป้าหมายตามรูปแบบการผลิตของทีวีเอกชน

การคุกคามของทีวีเอกชนที่มีต่อทีวีสาธารณะนั้น หาได้เกิดขึ้นกับเพียงสถานีโทรทัศน์บีบีซีเท่านั้นไม่ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทวีปยุโรป แม้ว่ารัฐบาลในหลายๆ ประเทศพยายามสร้างสมดุลในตลาดโทรทัศน์ด้วยการใช้ระบบการบริหารแบบคู่ขนาน (Dual broadcasting system) ที่มีทั้งทีวีสาธารณะและทีวีเอกชนอยู่ร่วมกันแล้วก็ตาม แต่ด้วยแรงกดดันของข้อตกลงร่วมในการเปิดตลาดเสรี ส่งผลให้ทีวีเอกชนทำการเรียกร้องถึงความไม่เท่าเทียมกันในการแข่งขันที่เกิดจากการได้รับเงินสนับสนุนผ่านค่าธรรมเนียมโทรทัศน์ของทีวีสาธารณะ จนทำให้สหภาพยุโรปต้องมีการประชุม เพื่อทบทวนข้อเรียกร้องของทีวีเอกชนและการดำรงอยู่ของทีวีสาธารณะ อันเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam Treaty) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1997 ซึ่งแม้บทสรุปของที่ประชุมดังกล่าวจะยืนยันความจำเป็นในการดำรงอยู่ของทีวีสาธารณะว่า เป็นสถาบันสาธารณะ ที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและพลเมืองในแง่ของการการันตีความหลากหลายของเนื้อหาสื่อและการเป็นสถาบันตัวแทนของความคิดเสรีในสังคมประชาธิปไตยแล้วก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทิ้งท้ายว่า การดำเนินการของทีวีสาธารณะดังกล่าวจะต้องไม่กระทบต่อสถานการณ์การแข่งขัน และการค้าเสรีของตลาดสื่อมวลชนในภูมิภาค

ด้วยบทสรุปแบบไม่ฟันธงของสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม ก็ยิ่งทำให้กลับมาคิดถึงอนาคตและความเป็นไปได้ของสื่อสาธารณะไทยในยุคอุดมการณ์สวนกระแสทุน รวมถึงนิยามของ “ความเป็นสาธารณะ” ที่ยากแก่การตีความและมักถูกหยิบอ้าง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการได้มาซึ่งผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ดังที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดในสังคมไทย

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 19 มกราคม พ.ศ. 2551 07:00:00

แท็ก คำค้นหา