ทีพีบีเอส : สื่อของประชาชน

นงค์นาถ ห่านวิไล

 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ภายหลังจากปิดฉาก สถานีโทรทัศน์ “ทีไอทีวี” โดยกรมประชาสัมพันธ์ออกคำสั่งให้หยุดแพร่ภาพตั้งแต่เวลา 24.00 น. คืนวันที่ 14 ม.ค. ตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ที่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2551 ประชาชน ผู้บริโภคสื่อ

โทรทัศน์ ยังมีคำถามตามมามากมาย โดยเฉพาะชื่อใหม่ไม่คุ้นเคยอย่าง “ทีวีสาธารณะ” มีรูปร่างหน้าตาแบบไหน คล้ายคลึงกับช่อง 11 หรืออย่างไร ประชาชนผู้บริโภคสื่อจะได้รับประโยชน์อะไร ฯลฯ

จึงขอนำเสนอ คำอธิบาย รายละเอียด ข้อมูล ผ่านบทความ “ทีพีบีเอส : สื่อของประชาชน” เป็นตอนๆ ติดต่อกัน

โทรทัศน์แห่งใหม่ หรือ “ทีพีบีเอส” TPBS (Thai Public Broadcasting Service) ซึ่งบริหารโดย องค์กรการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามแต่ดำเนินการภายใต้ ทุน ทรัพย์สิน และรายได้ขององค์กร ซึ่งได้มาจากภาษีบาป หรือภาษีสรรพสามิตที่เก็บเพิ่มจากเหล้า บุหรี่ 1.5% คาดหมายรายได้ประมาณ 1.7 พันล้านบาทต่อปี ไม่ได้นำภาษีรายได้ที่เก็บจากประชาชนทั่วไปมาใช้เพื่อการนี้แต่อย่างใด

ขณะที่ประชาชนจะได้รับชมรายการคุณภาพ ฟรี โดยไม่ต้องจ่ายค่าสมาชิก แบบทุกวันนี้ ที่ถ้าใคร ไม่อยากดู ฟรีทีวี ซึ่งเต็มไปด้วยละครตบจูบ ก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าเคเบิลทีวีเดือนละกว่า 1,500 บาท (ขึ้นอยู่กับแพ็คเกจ) เท่ากับว่าคนมีรายได้สูงเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงสื่อคุณภาพได้ ส่วนประชาชนชาวบ้านรายได้น้อย ต้องก้มหน้าก้มตาจำยอมบริโภคสื่อเชิงพาณิชย์ หนังน้ำเน่า และละครตบจูบต่อไป

ทีวีสาธารณะช่องใหม่ ซึ่งแปลงมาจาก ทีไอทีวี จึงเป็นทีวีของประชาชน เพราะการกำกับดูแลปลอดจากธุรกิจ การค้า และ การเมือง ตามหลักเหตุและผล ควรมีความเที่ยงตรง เป็นกลาง และเป็นธรรม ที่สำคัญต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณชนเป็นแกนหลักสำคัญ

นอกจากนี้ ทีวี “ทีพีบีเอส” แห่งนี้ ยังเปิดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น ให้คำแนะนำ ในการผลิตรายการโดยการจัดตั้ง “สภาผู้ชม ผู้ฟังรายการและการรับเรื่องร้องเรียน” ขึ้นมารองรับ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย ในระยะการเปลี่ยนผ่านเพื่อการก่อเกิดสิ่งใหม่เช่นนี้ จึงจำเป็นที่สังคมต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้เห็นเนื้อแท้จากข้อมูลจริงๆ ไม่ใช่จากความเห็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ต้องการบิดเบือนข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ ตามหลักวิชาการนั้น “สื่อวิทยุ-ทีวีเพื่อสาธารณะ (Public Service Broadcasting) เป็นสื่อ โดยไม่จำกัดกลุ่ม มีความหลากหลายทางรายการ ให้บริการทั้งผู้ฟังผู้ชมทั่วไป ทั้งกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็กๆที่ด้อยโอกาส เพิ่มทางเลือกให้คนในสังคม และเพิ่มพูนการศึกษาเรียนรู้ แนวคิด คือการส่งเสริมและคงไว้ในเรื่องความคิด ทัศนคติ วัฒนธรรมที่ดี ความกระจ่างทางด้านความคิดและความเป็นไปในสังคม” : (Rebertnm K. Avery : The Museum of Broadcasting Communication)

สื่อสาธารณะที่แท้จริง จึงต้องเข้าถึงประชาชนทุกคน (Universality) มีความหลากหลาย (Diversity) มีความเป็นอิสระ (Independence) และมีความแตกต่าง (Distructiveness) (ที่มา : สื่อสาธารณะ อุปกรณ์สำหรับประเทศไทย (ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์, วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร)

แนวคิดพื้นฐานสื่อสาธารณะ

แนวคิดพื้นฐานของสื่อสาธารณะ คือ การหาคำตอบว่า สื่อสาธารณะคืออะไร และทำไมจึงต้องมีสื่อสาธารณะ โดย Cave and Brown (1990) Allan Brown (1996) เสนอว่า หลักพื้นฐานของสื่อเพื่อสาธารณะ คือ การกระจายเสียงควรมีวัตถุประสงค์มากกว่าการให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมและผู้ฟัง และมิได้มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดให้แก่ผู้ผลิต เช่นเดียวกับสื่อเชิงพาณิชย์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ British Peacock Report (United Kingdom Home Office, 1986) ซึ่งอธิบายว่าสื่อเพื่อสาธารณะคือ “ความพยายามเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าที่มากำหนดรูปแบบรายการ ให้มาจากนโยบายสาธารณะแทน”

เนื่องจากความสำคัญของระบบการกระจายเสียงที่มีศักยภาพสูงต่อระบบการเมือง สังคม และวัฒนธรรมเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า หากประชากรในประเทศใดได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแล้วรัฐบาลของประเทศนั้นย่อมไม่สามารถควบคุมระบบสื่อสารเพื่อใช้ในทางมิชอบได้ เหตุผลสำคัญอีกเหตุผลหนึ่งมาจากความไม่เชื่อมั่นในกลไกตลาดว่าจะทำให้ระบบการกระจายเสียงเป็นไปเพื่อการบริการสาธารณะได้ เนื่องจากหากปล่อยให้ระบบกระจายเสียงอยู่ในการครอบครองของนักธุรกิจหรือกลุ่มทุน สื่อนั้นย่อมมุ่งสร้างเนื้อหาเพื่อให้มีผู้ชมรายการมากที่สุด

เพราะจะทำให้ตนได้รับรายได้จากการโฆษณามากที่สุดตามมา ดังนั้นระบบการกระจายเสียงเพื่อประโยชน์ของสาธารณะถึงไม่สามารถเป็นระบบธุรกิจที่มุ่งหวังกำไรสูงสุดได้

เปรียบเทียบความแตกต่างของสื่อเพื่อสาธารณะกับสื่อเชิงพาณิชย์ Atkinson (1997) ได้ชี้ให้เห็นถึงปรัชญาพื้นฐานที่แตกต่างกันใน 3 ด้าน คือ

สื่อสาธารณะ สื่อเชิงพาณิชย์
ประชากร (Citizen) ผู้บริโภค (Consumer)
วัฒนธรรม (Culture) เศรษฐกิจ (Economy)
พื้นที่สาธารณะ (Publice Sphere) ตลาด (Market)

ความหมายของการเปรียบเทียบข้างต้น คือ สื่อสาธารณะมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าถึงประชากรของประเทศโดยมุ่งเน้นการสร้างและส่งเสริมวัฒนธรรมด้านต่างๆ โดยเป็นเสมือน “พื้นที่สาธารณะ” ของประชาชนทุกคนในประเทศ ในขณะที่สื่อเชิงพาณิชย์มีเป้าหมายทางการค้าและมีรายได้หลักมาจากค่าโฆษณา ผู้ชมรายการจึงเปรียบเสมือนเป็นผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้าต่างๆ สื่อเชิงพาณิชย์จึงเปรียบเสมือนเป็นตลาดที่เป็นพื้นที่ให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกัน ความแตกต่างที่ชัดเจนของสื่อเพื่อสาธารณะและสื่อเชิงพาณิชย์ อยู่ที่จุดมุ่งหมายในการดำเนินงานว่า จะมุ่งเพื่อการค้าหรือมุ่งเพื่อสร้างคุณภาพให้กับสังคม ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวก็จะส่งผลต่อนโยบาย และแนวทางต่างๆ ของสื่อตามมา

Brown (1996) กล่าวว่าเหตุผลของการมีสื่อเพื่อสาธารณะ คือ การตระหนักถึงความสำคัญของสื่อกระจายเสียง ที่มีศักยภาพต่อทัศนคติ และความเชื่อของคนในสังคม โดยไม่มีรูปแบบที่เป็นสากลของสื่อกระจายเสียงเพื่อสาธารณะ ทั้งในด้านโครงสร้าง การควบคุม หรือเนื้อหา ซึ่งล้วนแต่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ ตามบริบทและการพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 16 มกราคม พ.ศ. 2551 15:56:00
ไทยพีบีเอส :สื่อของประชาชน (2)
นงค์นาถ ห่านวิไล
อย่างกล่าวมาในตอนที่แล้วว่า เหตุผลของการมีสื่อเพื่อสาธารณะ คือ การตระหนักถึงความสำคัญของสื่อกระจายเสียง ที่มีผลต่อทัศนคติ ความเชื่อของคนในสังคม โดยไม่มีรูปแบบที่เป็นสากลทั้งในด้านโครงสร้าง การควบคุม เนื้อหา ซึ่งล้วนแต่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ ตามบริบทและการพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

ในบ้านเรา ผู้บริโภคสื่อทีวีช่องใหม่ หรือ ไทย พีบีเอส : Thai PBS ได้รับชมรายการฟรี แต่ในประเทศอังกฤษ ทีวีประเภทเดียวกันนี้ เขาเก็บภาษีจากผู้ชม ในรูปของค่าธรรมเนียม (TV License Fee) โดยบังคับเก็บจากคนที่มีทีวีอยู่ในบ้าน เพื่อนำเงินมาผลิตรายการที่มีคุณภาพให้กับคนทั่วเกาะอังกฤษ ซึ่งการทำแบบนี้ แน่นอนว่า ทีวีช่องนั้น จะปลอดรอดจากเงื้อมมือของการเมือง

สำหรับบ้านเรา การนำรายได้จากภาษีสรรพสามิต เหล้า บุหรี่ ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นคนจัดเก็บนำมาสนับสนุนการผลิตรายการ ของ Thai PBS ยังหวาดหวั่นอยู่เช่นกันว่า หากนักการเมืองพวก “มือถือสากปากถือศีล” ที่มักพูดว่าจะปฏิรูปสื่อเพื่อประชาชนเจ้าของประเทศ แต่พอได้เป็นรัฐบาล ก็สลับร่างเป็นนายของประชาชน และเริ่มปฏิบัติการแทรกแซงสื่อ (เพราะกลัวว่าประชาชนจะฉลาดแล้ว หัวแข็ง ปกครองยาก ) เมื่อเข้ามาบริหารประเทศจึงต้องเข้าไปเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมาย เรื่องนี้การรวมตัวของภาคประชาชนเท่านั้น ที่จะมีพลังมากพอ ในการรักษาสื่อของประชาชนไว้

เพราะทุกยุคทุกสมัย สื่อ ถูกใช้ โดยรัฐบาล ชนชั้นปกครอง และธุรกิจ ประชาชนมีโอกาสใช้สื่อน้อยมาก

ทีวีสาธารณะ จึงเป็นสมบัติชิ้นใหม่ที่สำคัญยิ่งของคนไทยยุคนี้

ทั้งนี้เนื่องจาก สื่อสาธารณะ ไม่ว่า วิทยุ โทรทัศน์ ก็ตาม ประชาชนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงได้ อันเป็นหลักการพื้นฐาน ของสื่อแขนงนี้

การเข้าถึงของประชาชนทุกคน (Universality) โดยไม่ได้ขึ้นกับรายได้ หรือ สถานะทางสังคม ( แบบรายการคุณภาพ ในเคเบิลทีวี บ้านเรา คนรายได้สูงเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าถึง) ซึ่งไม่ได้หมายความว่า สื่อกระจายเสียงเพื่อสาธารณะจะต้องมุ่งหวังให้มีความนิยมสูงสุดดังเช่นสื่อเชิงพาณิชย์ แต่หมายความว่า รายการของสื่อกระจายเสียงเพื่อสาธารณะ จะต้องเข้าถึงประชาชนทั้งหมด เช่นเดียวกับ “ประชาธิปไตย” ที่จะต้องเป็นของทุกคนโดยมิได้ละเลยชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ ในสังคม

มีความหลากหลาย (Diversity) จะต้องมีความหลากหลายอย่างน้อยที่สุดใน 3 ทางได้แก่ในด้านของเนื้อหารายการ กลุ่มผู้ชมที่เป็นเป้าหมาย และหัวข้อที่นำมาวิจารณ์

มีความเป็นอิสระ (Independence) หมายถึงจะต้องสามารถนำเสนอความคิดได้อย่างมีอิสระโดยปราศจากอิทธิพลจากการเมือง และธุรกิจ ซึ่งจะทำให้สื่อสาธารณะได้รับความเชื่อถือจากประชาชน

มีความแตกต่าง (Distinctiveness) สื่อสาธารณะ จะต้องมีความแตกต่างจากสื่อเชิงพาณิชย์ ทั้งในแง่ของคุณภาพ และลักษณะของรายการ โดยผู้ผลิต สื่อสาธารณะ ต้องนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับประชาชนอยู่เสมอ ข้อนี้มีความจำเป็นยิ่ง เพราะหากรายการของสื่อสาธารณะดูน่าเบื่อ ผู้บริโภคสื่อ ก็จะกลับไปดู รายการน้ำเน่าเหมือนเดิม ขณะเดียวกัน หากสามารถผลิตรายการให้คนในประเทศนิยมชื่นชอบ ก็จะช่วยยกระดับมาตรฐานรายการในสื่อ บรอดคาสติ้งของเมืองไทยไปด้วย นั่นหมายความว่า สื่อฟรีทีวีช่องอื่นๆก็จะมีการปรับตัวตาม

อย่างไรก็ตาม ในส่วน เนื้อหารายการ (Program Content) แก่นสำคัญคือ ความอิสระ ความเป็นธรรม และประโยชน์กับประชาชน ต้องนำเสนอในสิ่งที่ ไม่เอนเอียงเข้าหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สิ่งที่สื่อสาธารณะนำเสนอสู่สังคมจึงต้องให้ความสำคัญในการอธิบายเชิงลึกและสร้างแสงสว่างแห่งปัญญาให้กับสังคม ด้วยการผลิตรายการเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ (General Interest and Service Programming) เช่น การนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ และการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้ผู้บริโภค การบริการชุมชน ฯลฯ เพื่อให้สื่อได้ใกล้ชิดกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน ควรมีรายการที่มีจุดเด่น หรืออาจเรียกว่า รายการเรียกเรทติ้ง ก็ต้องมี ซึ่งทีวี สาธารณะ อาจนำเสนอรายการด้านศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นแบบช็อคผู้ชมก็ได้ เช่น คอนเสิร์ต ดนตรี หรือรายการปกิณกะบันเทิงต่างๆ เช่นเดียวกับสื่อเชิงพาณิชย์ เพื่อไม่ให้ถูกโจมตี จากฝ่ายไม่เห็นด้วย ที่มักมองว่า สื่อสาธารณะน่าเบื่อ

แต่การนำเสนอรายการของทีวีสาธารณะมีโจทย์ใหญ่ คือ ความแตกต่างและโดดเด่นกว่า เช่น เกมโชว์ ก็สามารถทำได้ ให้มีความบันเทิงควบคู่ไปกับการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ การนำเสนอละครซึ่งใช้งบประมาณต่ำกว่า แต่มีเรื่องราวที่ทันสมัย ละครประวัติศาสตร์ ที่สอนเรื่องราวในอดีตและเกิดประโยชน์ต่อปัจจุบัน ก็สามารถทำได้ อยู่ที่วิธีการเดินเรื่อง และการนำเสนอ

ทั้งนี้ การนำเสนอเนื้อหาของชาติเพื่อส่วนรวม (National Content) ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นบทบาทของสื่อสาธารณะ ในฐานะสื่อกลางของประเทศ รายการทีวีสาธารณะ จึงควรให้ความสำคัญต่อความเป็นชาติในด้านต่างๆ ด้วย เช่น วัฒนธรรม คุณค่า ประเพณีของสังคม ฯลฯ

สมชัย สุวรรณบรรณ อดีต บรรณาธิการบริหารเอเชีย ตะวันออกเฉียงไต้ บีบีซี ภาคบริการโลก ลอนดอน ได้นำเสนอ ข้อเขียนไว้เมื่อ สิงหาคม 2550 โดยกล่าวถึงรายการคุณภาพที่ปลุกให้คนอังกฤษมีความรักหวงแหนสมบัติของชาติ มีเรทติ้งสูง ขนาดสื่อเพื่อการพาณิชย์ ยังสู้ไม่ได้ นั่นคือ มีรายการชุด restoration

รายการนี้ผลิตติดต่อกันมาสองสามปี เป็นรายการกึ่ง reality ที่กำลังเป็นที่นิยมกัน โดยประกาศให้ประชาชนแต่ละท้องถิ่น รวมตัวกันเสนอ สถานที่หรือสิ่งปลูกสร้าง อาจจะเป็นโบราณสถาน อาคาร วัด ป่า สิ่งปลูกสร้าง ที่ถูกปล่อยปละละเลย ให้ได้รับการเหลียวแล โดยกลุ่มที่เสนอมานั้นจะต้องหาคนดังในพื้นที่ของตนมาออกรายการพร้อมด้วยสารคดีให้เหตุผลความสำคัญที่ควรจะได้รับเงินไปบูรณปฏิสังขรณ์ เก็บสมบัติของชาตินั้นให้ลูกหลานสืบไป เป็นการจัดรายการแข่งขันกันเพื่อชิงงบประมาณ โดยมีผู้ชมทางบ้านส่งเท็กซ์ เข้าไปลงคะแนนเสียง แบบคล้ายการประกวดร้องเพลง รายการอย่างนี้ ผู้ชมทางบ้านได้ประโยชน์จากความรู้ที่ผู้จัดเอามาประกวดกัน คนในท้องถิ่นได้ประโยชน์ถ้าชนะจะได้เงินงบประมาณมาบำรุงรักษาสมบัติของชาติ แม้จะแพ้คะแนนเสียงไม่ได้เงิน แต่ก็ทำให้ผู้คนทั้งประเทศได้รู้จักสมบัติของชาติที่ว่านั้น เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเนื้อหารายการใดๆก็ตาม หัวใจสำคัญ คือ ความเป็นอิสระ เมื่อประโยชน์ทางธุรกิจไม่มีอิทธิพลต่อสื่อ ไม่เป็นสื่อที่นำเสนอประเด็นของรัฐเพียงด้านเดียว หรือ เป็นสื่อที่พูดแทนพรรคการเมืองใดๆ สื่อนั้นคือสื่อของประชาชน

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 17 มกราคม พ.ศ. 2551 13:36:00

แท็ก คำค้นหา