ทีวีสาธารณะ ต้องทำให้เป็นจริง

โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่
หนังสือพิมพ์มติชน

 

ผมรู้สึกยินดีเมื่อไอทีวีเปลี่ยนมาเป็นทีไอทีวีภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะไอทีวีที่อยู่ภายใต้บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ใช้อาคารชินวัตรเป็นสำนักงาน ไม่ได้เป็นทีวีเสรีดังที่ผมคาดหวัง แท้ที่จริงก็เป็นทีวีเชิงพาณิชย์ที่เกรงกลัวผู้มีอำนาจ (ที่เป็นเจ้าของสถานี) และมุ่งทำการค้าหาผลกำไรจากการโฆษณาเหมือนกับทีวีช่องอื่นๆ

และเมื่อไอทีวีที่เป็นทีวีเสรีแต่ในนาม จะก้าวไปสู่การเป็นทีวีสาธารณะผมจึงรู้สึกตื่นเต้นและเฝ้ารอเมื่อไรกฎหมายจะออกมาบังคับและนำไปสู่การปฏิบัติจริงๆ ได้เสียที

จากสภาพของปัญหาทางการเมืองที่ล้มลุกคลุกคลานมาอย่างยาวนาน ผู้มีอำนาจทางการเมืองทุจริตโกงกิน เล่นพรรคเล่นพวก ไม่มีฝีมือในการบริหารประเทศ เอาแต่กดขี่ข่มเหงฝ่ายตรงข้าม มองเห็นการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นศัตรูที่ต้องกำราบปราบปรามให้เข็ด ทีวีเมืองไทยไม่เคยแสดงบทบาทของการเป็นสื่อมวลชนที่รับผิดชอบต่อวิชาชีพ

ข่าวสารที่ทีวีนำเสนอจึงเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้มีอำนาจชุดแล้วชุดเล่า ไม่เคยมีรายการที่เปิดโปงความชั่วร้ายของผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการ ไม่มีการวิเคราะห์วิจารณ์เพื่อนำเสนอความจริงและความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งต่างกับหนังสือพิมพ์ราวฟ้ากับดิน

เปิดทีวีดูไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยที่บ้านเมืองเป็นเผด็จการ เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ก็มีแต่รายการที่เน้นความบันเทิง ประเภทละครน้ำเน่า ตลกขบขัน แล้วก็สลับด้วยการโฆษณาขายสินค้าฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย

สภาพการณ์เช่นนี้พอจะเข้าใจได้เพราะทีวีเป็นของรัฐ คนมีอำนาจพยายามเข้าแทรกแซง ไม่ต้องการให้ทีวีเสนอข่าวและรายการที่จะกระทบต่อหมู่คณะของพวกตน

เมื่อพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ได้รับการลงพระปรมาภิไธยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 มกราคม 2551 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2551 กำหนด ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวัดประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั่นหมายถึงตั้งแต่เวลา 24.00 น. ของวันที่ 15 มกราคม 2551 ผลแห่งกฎหมายได้ก่อให้เกิดองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นนิติบุคคล เรียกโดยย่อว่า ส.ส.ท. ให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Thai Public Broadcasting Service” เรียกโดยย่อว่า TPBS ทำหน้าที่เป็นองค์การสื่อสาธารณะด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ แต่ดำเนินการภายใต้ทุน ทรัพย์สินและรายได้ขององค์การ

ในกฎหมายที่มีอยู่ 61 มาตรา นอกเหนือไปจากการกำหนดโครงสร้างขององค์การที่ประกอบไปด้วยคณะกรรมการนโยบาย,คณะกรรมการบริหาร,อำนวยการ,เงินทุน,จริยธรรมวิชาชีพ,สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ,การบัญชี การตรวจสอบและการประเมินผลแล้ว การเผยแพร่รายการก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

มาตรา 43 ของกฎหมาย กำหนดว่ารายการที่นำเสนอต้องมีเนื้อหาและคุณค่ามี 7 ประการ ได้แก่

1.ข่าวสารที่มีผลกระทบต่อสาธารณะที่เสนออย่างเที่ยงตรง รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ รอบด้าน และเป็นธรรม ในสัดส่วนที่พอเพียงในช่วงที่มีผู้รับชมและรับฟังมาก

2.รายการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นที่สำคัญต่อสาธารณะ ซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างกันในสังคม บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง มีสมดุลของความคิดเห็นฝ่ายต่างๆ และมีการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล

3.รายการที่ส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและรายการที่ส่งเสริมการศึกษาในวิทยาการสาขาต่างๆ และการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนอย่างเพียงพอ โดยคำนึงถึงเวลาสะดวกต่อการรับชมและรับฟัง

4.รายการกีฬา นันทนาการ และรายการที่ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน

5.รายการที่ส่งเสริมเอกลักษณ์ของความเป็นไทย คามหลากหลายทางวัฒนธรรมและความสมานฉันท์ในสังคม ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมมีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอข้อมูลของตน

6.รายการบันเทิงที่สร้างสรรค์ ส่งเสริมคุณค่าที่ดีงามของสังคม หรือยกระดับสุนทรียภาพของประชาชน

7.รายการที่เป็นการสนับสนุนผู้ผลิตรายการอิสระ ซึ่งต้องจัดสรรเวลาให้อย่างเพียงพอ

ข้อกำหนดของกฎหมายนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการต่างๆ และผู้อำนวยการจะต้องเข้าไปดูแลเพื่อให้รายการมีคนดู เมื่อดูแล้วได้รับสารประโยชน์ มีเรื่องราวมากมายที่ควรจะถูกนำเสนอจากสื่อทีวีซึ่งมีทั้งภาพและเสียงแต่ทีวีเชิงพาณิชย์อันประกอบ ด้วยเจ้าของสถานีและผู้ผลิตรายการไม่เคยให้ความสนใจ ด้วยคิดว่า นำเสนอไปแล้ว ไม่มีคนดู โฆษณาไม่เข้า สู้รายการประเภทน้ำเน่า ที่มอมเมาให้ประชาชนตกเป็นทาสการบริโภคไม่ได้

เคยถามตัวเองบ้างไหมว่า ประเทศไทยที่มีเอกลักษณ์ประจำชาติในเรื่องของศิลปะการแสดงที่เป็นวัฒธรรมอยู่ ซึ่งบรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้ เช่น ลิเก เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว โขนสด โขนใหญ่ หมอลำ กันตรึม ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงอีแซว มโนห์รา หนังตะลุง ร็องเง็ง ฯลฯ กำลังสูญสลายตายจากไป ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่เป็นที่ชื่นชอบ (รังเกียจ) ของเด็ก เยาวชนและวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน

นั่นเป็นเพราะอะไร แน่นอนมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งคือความไม่ตระหนักของสื่อทีวี ซึ่งเป็นเช่นนี้มานานเนกาเล แต่น่าเจ็บใจตรงที่ ของดีที่คนรุ่นปู่รุ่นย่า รุ่นชวดรุ่นทวดกลับมองข้าม แต่กลับไปนิยมส่งเสริมวัฒนธรรมตะวันตก โดยคิดว่าเท่และมีรสนิยม

ทีวีสาธารณะจะต้องไปอุดช่องว่างในส่วนนี้โดยเร็ว ก่อนที่ความเป็นเอกลักษณ์ของศาลในด้านวัฒนธรรมการแสดงแบบพื้นบาทจะเหลือไว้แค่เพียงเกร็ดประวัติศาสตร์ที่อยู่แต่ในตำรา

ในเรื่องของข่าว ทีวีเชิงพาณิชย์ทุกช่องนำเสนอไม่แตกต่างกัน เรียกว่าเปิดไปดูช่องไหนก็ได้ บางช่องนำเสนอข่าวประจำวันแบบขอไปที ไม่มีอะไรที่จะบอกกับผู้ชมเลยว่า การทำข่าวมานำเสนอนั้นได้ผ่านการคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานของความรับผิดชอบในฐานะเป็นสื่อมวลชนที่ดี แหล่งข่าวคนนั้นพูดที พูดคนละนิดคนละหน่อย ผู้ประกาศหยิบเอาบางประเด็นมาบอกแล้วให้ดูภาพเหตุการณ์เล็กน้อย จากนั้นก็ผ่านไปข่าวอื่น

ไม่ต้องพูดถึงการเจาะลึกเบื้องหลัง การวิเคราะห์เพื่อความกระจ่าง การเป็นเวทีกลางให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา การแสดงศักยภาพของการนำเสนอความจริงเพื่อตรวจสอบอันจะนำไปสู่การขจัดความฉ้อฉลและการตลบตะแลงของผู้ปกครอง ฯลฯ เรื่องราวเหล่านี้ไม่มีให้ดูทางทีวีเชิงพาณิชย์

คลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติได้ถูกใช้ไปกลุ่มคนที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะมานานมากเกินไปแล้ว

ทีวีสาธารณะที่เกิดขึ้นใหม่นี้จะต้องรื้อฟื้นการนำเสนอข่าวสมัยที่นายสมเกียรติ อ่อนวิมล เคยปฏิวัติการนำเสนอข่าวทางช่อง 9 เมื่อปี 2527 และการนำเสนอข่าวของไอทีวีในยุคบุกเบิกเมื่อปี 2538 กลับมาอีกครั้ง และนำเอาแบบอย่างดีๆ ที่ทีวีช่องเนชั่นและทีวีผ่านดาวเทียมอย่างเอเอสทีวีมาเป็นแนวทางเพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

การนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์บางอย่างที่ได้รับความยอมรับเชื่อถือจากผู้อ่านก็ต้องนำมาปรับในรายการข่าวของทีวีสาธารณะด้วย

สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาคือ คนทำงานในทีวีสาธารณะ นอกจากจะต้องอาศัยฝีมือแล้ว จิตใจที่เป็นทีวีสาธารณะจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ นั่นคือ การใช้เสรีภาพเพื่อเสนอความจริงเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ

ความคิดที่จะนำทีไอทีวีกลับไปสู่ทีวีเชิงพาณิชย์เหมือนเก่าควรจะหมดไปได้แล้ว

ที่มา มติชน วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10904 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา