เสียงจากสถานีวิทยุ ‘พลัดถิ่น’

โดย คำรณ อินธนูไชย
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

สภาพแวดล้อมทางการเมืองรูปแบบเผด็จการ รวมเข้ากับความยากเข็ญทางเศรษฐกิจที่โหดร้ายทารุณ จากการใช้อำนาจของรัฐบาลในบางประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา มักกลายเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดมีการตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงพลัดถิ่นของฝ่ายตรงกันข้ามขึ้นในต่างประเทศ โดยมีกลุ่มประชาชนพลเมืองของประเทศนั้นนั่นแหละที่ไม่เห็นด้วยเป็นผู้ดำเนินการ

สถานีวิทยุกระจายเสียงพลัดถิ่นดังกล่าวเหล่านั้นจะส่งกระจายเสียงกลับเข้าไปยังเป้าหมายในประเทศของตน ท้าทายต่อการตรวจเซ็นเซอร์ ตัดข้อความหรือเรื่องที่ไม่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดกวดขันของรัฐบาล จุดมุ่งหมายของสถานีวิทยุนั้นก็เพื่อต้องการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดแก่ผู้ฟัง ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการอภิปรายถกเถียงข้อโต้แย้งทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้แก่ผู้คนพลเมือง ตลอดจนฝ่ายการเมืองใดๆ ที่อยู่ตรงข้ามและถูกต้องตามกฎหมาย

กลุ่มผู้รับอาสาดำเนินการสถานีวิทยุพลัดถิ่นส่วนใหญ่เคยทำงานด้านสื่อมวลชนในประเทศของตนมาก่อน พวกเขามีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความต้องการของประชาชนที่จำเป็นต้องดิ้นรนต่อสู้อยู่เป็นประจำทุกวี่วัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกสะท้อนออกไปเป็นรายการกระจายเสียง นั่นเอง

ประเด็นสำคัญที่หลายท่านคงอยากรู้ว่า บรรดาสถานีวิทยุพลัดถิ่นเหล่านั้นจะอยู่ได้อย่างไร มีนักการเมือง เศรษฐี หรือองค์กรต่างประเทศใดอุ้มไว้ คำตอบจากข้อเท็จจริงก็คือ โดยปกติแล้วได้รับแรงสนับสนุนทางการเงินโดยรัฐบาลต่างชาตินั่นแหละที่มีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ รวมทั้งได้รับจากองค์กรด้านความช่วยเหลือทั่วไป ตลอดจนการบริจาคของบุคคลต่างๆ เพื่อจะให้สามารถส่งกระจายเสียงไปถึงยังผู้ฟังในประเทศของตนที่ถูกโดดเดี่ยวและอยู่ไกลโพ้น งานเช่นนี้จึงเป็นภารกิจที่จำต้องมุ่งมั่นทำให้สำเร็จ นักวิทยุกระจายเสียงพลัดถิ่นเหล่านั้นจะต้องพยายามวิ่งเต้นหาทุนรอนเพื่อดำเนินการสำรองไว้ให้พอเพียง ทั้งนี้ก็เพราะว่า เฉพาะค่าใช้จ่ายในการส่งกระจายเสียงระบบคลื่นสั้นเริ่มต้นไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 400 ดอลลาร์เข้าไปแล้ว

แน่นอน พวกเขาจำเป็นต้องมีสตาฟฟ์หรือทีมงานและบรรณาธิการข่าวที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งบางครั้งก็อาจถูกกล่าวหาว่าใกล้ชิดหรือเข้าข้างฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลปัจจุบันมากเกินไป จนถูกหมิ่นแคลนเย้ยหยันว่าเป็นเพียงสถานีวิทยุเถื่อนก็เป็นได้ หากว่าพวกเขาไม่อาจสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองและแนวคิดทางการเมืองได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะที่โฆษกของรัฐบาลได้แถลงออกมา

หนึ่งในความยากลำบากที่สุดที่สถานีวิทยุพลัดถิ่นเผชิญอยู่นั่นก็คือ การได้มาซึ่งข่าวที่เชื่อถือได้จากภายในประเทศของตน ทั้งนี้ก็เพราะว่า หากโครงสร้างพื้นฐานด้านการติดต่อสื่อสารด้วยนั้น ยังไม่ทันสมัยและวางใจได้มากนัก การติดต่อเสาะแสวงหาข้อมูลข่าวจากนักข่าวอาสาสมัครก็อาจมีความยุ่งยากพอสมควร ขณะเดียวกันระบบการติดต่อสื่อสารที่ยังไม่พัฒนาทันสมัยภายในประเทศดังกล่าวยังอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการกระจายข่าวระหว่างภูมิภาคภายในประเทศด้วยเช่นกัน

อนึ่ง ในช่วงที่หากมีเหตุการณ์รุนแรงและวุ่นวายโกลาหล ระบบโทรคมนาคมและสื่อมวลชนก็ยังอาจถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลตัดขาดมิให้รั่วไหลออกสู่โลกภายนอก สถานการณ์เช่นนี้ก็จะยิ่งทำให้สถานีวิทยุพลัดถิ่นหาข่าวได้ยากลำบากยิ่งขึ้น แม้ว่านักข่าวจะมีความฉลาดและเชี่ยวชาญแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่ทว่าก็มีความเสี่ยงภัยสูงที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเขาเองได้อยู่ดี หลายครั้งหลายหนที่เกิดวิกฤติ สถานีวิทยุพลัดถิ่นสามารถทำหน้าที่เป็นเสมือนท่อข่าวสารเพื่อให้ผู้คนตัดสินใจที่จะเข้าหรือออกจากประเทศ และเนื่องจากเหตุการณ์เคลื่อนไหวผันแปรไปอย่างรวดเร็ว การรายงานจึงจำเป็นต้องให้กระจายไปสู่สื่อต่างๆ ของโลกได้ด้วย

“เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า” เป็นตัวอย่างของสถานีวิทยุพลัดถิ่นขนาดเล็กๆ ตั้งอยู่ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์โน้น ขณะเดียวกันก็มีการแพร่ภาพโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต วิดีโอ ออดิโอ และอีเมลด้วย

จากการที่ได้กระจายเสียงและแพร่ภาพโทรทัศน์เหตุการณ์เดินขบวนของพระสงฆ์และประชาชนชาวพม่าที่นครย่างกุ้ง จนทางการทหารเข้าระงับเหตุและเกิดความวุ่นวายขึ้นเป็นข่าวไปทั่วโลกนั้น สถานีวิทยุและโทรทัศน์พลัดถิ่นแห่งนี้ได้เสนอข่าวอย่างละเอียดทุกระยะ จนดังขึ้นมาในแวดวงสื่อมวลชนนานาชาติ

แต่ต่อมาเมื่อรัฐบาลพม่าได้ออกคำสั่งตัดขาดระบบการสื่อสารทุกชนิดจนไม่อาจเล็ดลอดสู่ภายนอกประเทศได้ การเสนอข่าวความคืบหน้าของเหตุการณ์จึงมีอันชะงักลงชั่วคราว

อะเย จัน นาอิง บรรณาธิการอาวุโสของสถานีวิทยุพลัดถิ่นเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่าแห่งนี้ กล่าวว่า กว่าจะได้เรื่องราวของเหตุการณ์มาออกอากาศได้นั้น บรรดาผู้สื่อข่าวต้องเสี่ยงภัยอันตรายอย่างมหันต์เลยทีเดียว ว่าอย่างนั้น

“วิทยุเกาหลีเหนือเสรี” ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่เริ่มเปิดดำเนินการส่งกระจายเสียงระบบคลื่นสั้นจากกรุงโซล ในเกาหลีใต้ มาตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ.2548 นี้เอง ร่วมกันกับอีกหลายสถานีวิทยุพลัดถิ่นที่กระจายเสียงเข้าไปในดินแดนเกาหลีเหนือ โดยเป็นกระบอกเสียงให้แก่บรรดาชาวเกาหลีเหนือที่หนีเข้ามาอยู่กับฝ่ายตรงข้ามในเกาหลีใต้ และยังส่งข่าวคราวไปให้แก่ญาติพี่น้องของผู้ที่หนีออกมาในเกาหลีเหนือด้วย

สถานีวิทยุพลัดถิ่น วิทยุเกาหลีเหนือเสรี ก่อตั้งโดยนายคิม ซง-มิ่น อดีตนายทหารบกยศร้อยเอกแห่งเกาหลีเหนือ ส่วนคณะผู้ดำเนินการล้วนลี้ภัยออกมาจากเกาหลีเหนือทั้งสิ้น

กระบวนการส่งกระจายเสียงเข้าไปในเกาหลีเหนือมีรูปแบบความยุ่งยากในตัวของมันเองไม่เหมือนใคร เนื่องจากเครื่องรับวิทยุที่มีวางจำหน่ายอยู่ตามร้านเครือข่ายภายใต้การควบคุมของรัฐนั้น จะถูกปรับขนาดความยาวของคลื่นและความสามารถในการรับฟัง และต้องผ่านการตรวจสอบและลงทะเบียนแต่ละเครื่องไว้ด้วย

แต่กระนั้น รายงานข่าวต่างๆ จากสถานีวิทยุพลัดถิ่นและสถานีวิทยุต่างประเทศอื่นๆ ก็ยังพอรับฟังได้จากเครื่องรับวิทยุราคาถูกๆ ที่มีคนลักลอบนำเข้าไปจากจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการของเกาหลีเหนือมองว่า นี่เป็น “อาชญากรรมต่อต้านรัฐ” และอาจส่งผลให้มีการลงโทษด้วย ส่วนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือก็ถูกจำกัดให้ใช้กันเฉพาะข้าราชการและทหารเท่านั้น จึงไม่อาจส่งข่าวคราวให้แก่สาธารณชนได้

ไกลออกไปที่ทวีปแอฟริกาโน้น ก็มีเสียงจาก “วิทยุซิมบับเว แอฟริกา” ที่กระจายเสียงจากห้องส่งในประเทศอังกฤษให้รับฟังได้ และนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างของสถานีวิทยุพลัดถิ่นของชาวซิมบับเวผู้ลี้ภัยหนีออกนอกประเทศของตนเช่นกัน

ซิมบับเว (เดิมมีชื่อว่า “โรดีเซีย”) เป็นประเทศสาธารณรัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีป มีเมืองหลวงชื่อฮาราเร จำนวนประชากรทั้งประเทศประมาณ 15 ล้านคน สินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ ยาสูบ ทองคำ นิกเกิล น้ำตาล สิ่งทอ และผ้าพันแผลที่ทำจากฝ้าย เป็นต้น

ซิมบับเวได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปีพ.ศ.2525 ปัจจุบันมีนายโรเบิร์ต มูกาเบ ซึ่งครองอำนาจมายาวนานเป็นประธานาธิบดี ที่สหภาพยุโรปและอังกฤษกำลังต่อต้านอำนาจเผด็จการของเขาอยู่

วิทยุซิมบับเวแอฟริกา ก่อตั้งและดำเนินการโดยนักหนังสือพิมพ์ชาวซิมบับเว ตลอดเวลาของการกระจายเสียงไปยังดินแดนซิมบับเวมักถูกรัฐบาลซิมบับเวส่งคลื่นรบกวน ปัจจุบันทางสถานีวิทยุพลัดถิ่นแห่งนี้จึงได้พัฒนาบริการส่งข่าวสารสั้นในรูปของตัวหนังสือหัวข้อข่าวย่อๆ ควบคู่ไปด้วย

แต่ก็อีกนั่นแหละ การจ่ายกระแสไฟฟ้าไม่เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ โครงสร้างระบบโทรคมนาคมที่ยังล้าหลัง ประกอบกับประเด็นปัญหาที่ผู้สื่อข่าวที่มีความสามารถหลายคนในซิมบับเวได้ละทิ้งหนีออกจากประเทศไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้เป็นอุปสรรคต่อการรับรู้ข่าวสารของผู้คนชาวซิมบับเวอย่างน่าเสียดาย ผู้จัดการสถานีวิทยุซิมบับเวแอฟริกา ที่ประเทศอังกฤษเปิดเผยเช่นนี้ ทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวกับสถานีวิทยุพลัดถิ่น มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ถึงแม้การกระจายเสียงระบบคลื่นสั้นจะลดน้อยลงไปในหลายภูมิภาคของโลก แต่ทว่ามันก็ยังคงเป็นสื่อกลางได้อย่างดีให้แก่บรรดาสถานีวิทยุพลัดถิ่นอยู่ เนื่องจากสามารถส่งคลื่นตรงไปยังดินแดนเป้าหมายได้ แม้ว่าจะอยู่แสนไกลคนละทวีปก็ตาม

อนึ่ง เทคโนโลยีที่ทันสมัยในทุกวันนี้สามารถส่งกระจายเสียงได้ทุกแห่งหนอย่างสะดวกและเปิดเผย ด้วยกำลังคนเพียงไม่กี่คน ขณะเดียวกันหลายสถานียังดำเนินการแพร่ภาพข่าวทางโทรทัศน์เพิ่มขึ้นอีกด้วย แต่วิทยุระบบคลื่นสั้นก็ยังมีบทบาทสำคัญอยู่มาก เนื่องจากสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2550 13:09:00

แท็ก คำค้นหา