โดย ทิพย์อักษร มันปาติ
สำนักข่าวประชาธรรม
เผยแพร่เมื่อ 15 พ.ย.50)
ระยะเวลาที่เหลือของรัฐบาลขิงแก่ ก่อนจะหมดอายุลงพร้อมกับมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ในปลายปีนี้ สนช. ยังคงมีคิวแน่นเอียดของกฎหมายหลายฉบับที่จ่อหน้ารอการพิจารณาผ่านออกมาบังคับใช้ ในขณะที่ประชาชนมีความเป็นห่วงอย่างที่สุดต่อร่างกฎหมายหลายตัว ที่มีหน่วยงานรัฐเป็นผู้เสนอโดยขาดการมีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลจากภาคประชาชน
ในวันที่ 14 พ.ย. 2550 จะมีกฎหมายอีกอย่างน้อย 3 ฉบับ ที่ สนช. กำลังจะพิจารณาคือ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ…, ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ…, และ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ. … กฎหมายสื่ออีกฉบับที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่หลายจุด จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิทยุชุมชน สื่อภาคประชาชนอย่างไร เส้นทางการปฏิรูปสื่อจะไปต่ออย่างไรภายใต้เงื่อนไขนี้ อ่านบทสัมภาษณ์ทัศนะ นักวิชาการสื่อสารมวลชน นักเคลื่อนไหวสื่อภาคประชาชน และคนทำงานวิทยุชุมชน ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ สิ่งที่เป็นกังวลอย่างยิ่งก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ นี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกฎหมายที่สนับสนุนสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งนี้ ตามปกติรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่ ซึ่งการกำหนดเจตนารมณ์ใดๆ ลงไปในกฎหมายแม่นั้น กฎหมายลูกจะต้องออกมาให้เกิดความเป็นธรรมอย่างสอดคล้องกับสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น หากพูดถึงสิทธิทางศาสนา กฎหมายลูกว่าด้วยเรื่องดังกล่าว ก็ไม่มีสิทธิจะไปบังคับคนให้ปิดสุเหร่า เป็นต้น นั่นคือสิ่งที่เห็นในเชิงกายภาพ ในขณะที่กฎหมายลูกฉบับร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ สะท้อนให้เห็นว่า มีกลุ่มคนที่กลัวสูญเสียอำนาจ ก็เลยพยายามใช้ พ.ร.บ.นี้เพื่อที่จะดึงรั้งอำนาจและสิทธิประโยชน์ที่เคยมีให้กลับมาไว้คงเดิม จึงเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น เพราะแทนที่กฎหมายฉบับนี้จะไปสอดคล้องสิทธิเสรีภาพทางการสื่อสารของภาคประชาชนตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญ 2540 และมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ว่าด้วยคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ กลับกลายเป็นว่ากฎหมายที่กำลังจะพิจารณากัน ได้ไปโต้แย้งกับกฎหมายแม่ เพราะว่าหลายส่วนพยายามที่จะทำให้อำนาจประชาชนเล็กลง แล้วทำให้อำนาจรัฐขยายใหญ่ขึ้น ทั้งๆ ที่หลักการและหัวใจสำคัญนั้นต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกันทุกภาคส่วน คือ ลดอำนาจรัฐแล้วขยายอำนาจประชาชน อันเป็นหลักการของรัฐธรรมนูญ “กฎหมายฉบับนี้ทำตรงกันข้ามเลยคือ เป็นการคงอำนาจรัฐ เช่น การที่มาบอกว่าให้กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินกิจการกระจายเสียงต่อไปในส่วนที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ก็แปลว่าคลื่นส่วนตัวของกรมประชาสัมพันธ์นั้นไม่จำเป็นต้องลดเลย จริงๆ แล้วก็ไม่ปฏิเสธหรอกว่า รัฐเองก็มีสิทธิที่จะทำหน้าที่ดูแลคลื่นด้วย แต่การบอกว่ารัฐมีสิทธิก็เท่ากับว่าหลีกกระบวนการพิจารณาความเหมาะสมอย่างเสมอภาคด้วย” อาจารย์เห็นว่าทัศนวิสัยของเส้นทางการปฏิรูปสื่อในตอนนี้เป็นอย่างไร เมื่อก่อนเวลาเราพูดถึงการปฏิรูปสื่อ มันมาจากฐานความคิดที่ว่าต้องเกิดการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่กันใหม่ แม้ตอนนี้หลายคนจะพูดว่าไม่สนใจคลื่นความถี่กันแล้วเพราะปัจจุบันนี้เทคโนโลยีมันเปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของการใช้ทรัพยากรตรงนี้ต้องมีความเท่าเทียมและเป็นธรรม นั่นคือต้องมีการมาจัดสรร จัดระบบใหม่เพื่อให้เกิดทางเลือกให้กับประชาชนด้วย ตาม มาตรา 88 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ระบุว่า ให้รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงาอื่นของรัฐที่ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์อยู่ในวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้ บังคับ ประกอบกิจการนั้นได้ต่อไปจนถึงวันที่กำหนดในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคน ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ประสงค์จะประกอบกิจการต่อไป ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการจากคณะกรรมการ เนื้อหานี้ชี้ให้เห็นว่าเป็นการคงสิทธิเดิม ทั้งๆ ที่ข้อถกเถียงหลักที่ผ่านมา ที่เกิดการผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 40 ก็เพราะเกิดการไม่สมดุลของการใช้ทรัพยากร ซึ่งภาครัฐและกลุ่มธุรกิจมีช่องทางที่เป็นปากเสียงของตัวเองมากเกินพอ ในขณะที่ประชาชนมีน้อยเกินไป ในมาตรา 89 ก็เช่นเดียวกัน พูดถึงผู้ได้รับอนุญาต ได้รับสัมปทานหรือสัญญาจากส่วนราชการ ซึ่งก็เป็นธุรกิจเอกชนเพียวๆ ก็ให้สิทธิดำเนินกิจการต่อไปได้ ฉะนั้นผลกระทบก็คือว่า เมื่อทุกอย่างได้ถูกจับจองอยู่แล้ว โอกาสที่วิทยุของภาคประชาชนจะเกิดขึ้นก็ยากมาก ซึ่งวิทยุภาคประชาชนดังกล่าวหมายถึง วิทยุภาคประชาชนของคลื่นกระแสหลักรายเล็กๆ กับวิทยุของประชาชนที่เป็นวิทยุชุมชน เพราะว่าเมื่อคลื่นมันถูกยึดครองไปแล้วก็เหมือนกับว่าเป็นทรัพยากรที่ถูกจัดสรรไปในกลุ่มของที่เคยใช้ประโยชน์ ส่วนคนที่ยังไม่เคยใช้จะมาขอสิทธิ์ใช้บ้างก็จะมีโอกาสน้อยลง “คนส่วนใหญ่ต้องตั้งคำถามนะว่า การต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือเป็นกำเนิดของการปฏิรูปสื่อนั้น เป็นการต่อสู้ที่เสียแรงหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เคารพเสียงประชาชนเลย เพราะสามารถที่จะออกกฎหมายลูกให้ขัดแย้งกับกฎหมายแม่ได้” ถ้าอย่างนั้นการมีรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ไม่มีประโยชน์? ใช่แน่นอน ในกรณีของรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นสถานการณ์เช่นเดียวกันเลย คือ แสดงให้เห็นว่าไม่มีการเคารพเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นที่แน่นอนว่าสังคมอำนาจนิยมที่ไม่เคยแบ่งปันอำนาจ ฉะนั้นคนที่เคยมีอำนาจแล้วจะลดอำนาจลงเพื่อให้คนอื่นได้มีอำนาจเพิ่มขึ้นมาบ้างมันกลายเป็นเรื่องสูญเสีย แล้วก็เลยเอาข้ออ้างต่างๆ มาเข้าข้างตัวเอง แต่เวลาที่อ้างโดยเอาสถานการณ์ความไม่เรียบร้อยของวิทยุชุมชนเพื่อที่จะลดสิทธิการใช้เสียงของประชาชน ตรงนี้เป็นการอ้างที่ไม่ชอบธรรม เพราะสังคมไทยได้ก้าวมาไกลเกินกว่าที่จะกลับไปอภิปรายจุดนั้นแล้ว เรายอมรับกันแล้วว่าประชาชนมีสิทธิและมีเสียง จึงจำเป็นต้องมีเสรีในการใช้สื่อ ดิฉันมองว่าแนวทางช่วงแรกของวิทยุชุมชนอาจจะมีการยับยั้งไม่อยู่ มีความวุ่นวาย สับสน ความผิดประเภท ผิดคำนิยาม ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นธรรมชาติ แต่เชื่อว่าในท้ายที่สุด วิทยุชุมชนก็จะเกิดการปรับตัว และจัดระเบียบตัวเอง หรือสังคมจัดระเบียบ ตรงนี้ตัวภาคประชาชนก็จะต้องทำตัวเองให้แจ่มชัดคือไม่รับโฆษณา ส่วนวิทยุธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจะขอใช้สิทธิ์ของการเป็นภาคธุรกิจ ตรงนี้เป็นช่วงสับสน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวลกันจนถึงขั้นมีความพยายามที่จะออกกฎหมาย พ.ร.บ. แบบนี้ออกมา กรณีคุณเสถียร จันทร จ.อ่างทอง ถูกจับกุมในข้อหามีเครื่องส่งวิทยุโทรคมนาคมไว้ในครอบครองและใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีนี้อาจมองได้เลยว่าเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการหยิบกฎหมายเก่ามาใช้ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐจะข่มขู่คุกคามให้ประชาชนปิดปาก เพราะหากจะฟ้องร้องดำเนินคดีแบบคุณเสถียรก็ต้องทำกับวิทยุชุมชนทั้งประเทศ และแม้ว่ารัฐจะฟ้องวิทยุชุมชนทั้งประเทศ ก็เป็นการขัดแย้งกับนโยบายอื่นๆ ของรัฐเสียเองที่อนุโลมเรื่องการรับรองสิทธิของวิทยุชุมชน โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดเจนคือ มติ ครม. 16 กรกฎาคม 2545 ที่รับรองการดำรงอยู่ของวิทยุชุมชน เมื่อรัฐรับรองการดำรงอยู่ของวิทยุชุมชนแล้ว การไปห้ามก็คือผิด เป็นการเอากฎหมายเล็กมาค้านกฎหมายใหญ่ เอาข้อปฏิบัติของเจ้าหน้าที่มาค้านนโยบายการบริหารประเทศ ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยยังไม่สามารถที่จะหลุดจากโครงสร้างของอำนาจนี้ไปได้เท่าที่ควรจะเป็น กฎหมายลูกที่ขัดกับกฎหมายแม่ เห็นชัดว่าไร้ความเป็นธรรม แน่นอน เพราะเป็นการตบหน้าประชาชนทั้งประเทศ และตบหน้าตัวเองที่มีรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีความพยายามจะปฏิรูปสื่อ แต่กลับมาแขวนชีวิตของตัวเองเอาไว้กับกฎหมายเล็กกฎหมายน้อย “ร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการ เป็นกฎหมาย จีเอ็มโอ เปลี่ยนสายพันธุ์รัฐธรรมนูญ โดยการตัดตอน ต่อกิ่ง แปลกปลอมเข้ามาอยู่ในต้นไม้รัฐธรรมนูญ ที่พยายามปฏิรูปสื่อ สะท้อนให้เห็นว่า สิทธิของประชาชนถูกเอาเปรียบจากคนที่ได้เปรียบอยู่แล้ว และเป็นกลุ่มคนที่พยายามจะคงอำนาจตัวเองไว้ กฎหมายภาคประชาชนถูกกระทำชำเรา เพราะแม้จะเป็นกฎหมายเล็กๆ แต่ก็เอามาแก้รัฐธรรมนูญได้หมดเลย ดังนั้น การมีรัฐธรรมนูญไว้ ก็แค่ทำให้ประชาชนดีใจเฉยๆ” อะไรคือสิ่งที่ควรตั้งรับ และจับตา? เข้าใจว่าทุกคนล้า ทั้งนักวิชาการ และภาคประชาชน ตอนนี้สังคมไทยทั้งหมดกำลังป่วยไข้ เพราะเหมือนกับว่าเรากำลังจะปรับตัวไปสู่สิ่งที่ดีงาม แต่ในการปรับตัวนั้นก็ยังมีคนที่ไม่คุ้นชิน จึงมีกระบวนการที่ต้านเยอะ แต่อยากจะให้มองว่าสภาวการณ์แบบนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา อยากจะให้กำลังใจว่าการต่อสู้เรียกร้องเป็นสิ่งที่สำคัญ ยิ่งเมื่อใกล้จะประสบความสำเร็จคนก็ยิ่งไม่อยากสูญเสีย หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ตัวและยังไม่คัดค้าน แต่เมื่อรู้ตัวแล้วว่ากำลังจะสูญเสีย คนคัดค้านก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราต้องยืนหยัดด้วยว่าเรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเดินรอยตามสิทธิที่มีอยู่ ประเทศไทยไม่สามารถต้านกระแสของทั้งโลกได้หรอก เพราะโลกทั้งโลกก้าวเข้าไปสู่การมีส่วนร่วม หากประเทศไทยไม่เปิดโอกาสให้คนลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของประเทศก็คงไม่เจริญ เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อบ้านเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไปได้อย่างไร และเช่นเดียวกัน ประเทศที่เจริญกว่าเราก็คงนึกไม่ออกเหมือนกันในกรณีของประเทศไทยว่าทำไปได้อย่างไร “สิ่งที่เป็นรูปแบบที่เหมาะสมของยุคสมัยของโลกที่เจริญแล้ว คือ ทุกคนต้องมีสิทธิ์มีส่วนในการปกครองประเทศ ซึ่งต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นั่นเป็นกระบวนการสำคัญในการดูแลประเทศเพราะทุกคนไม่สามารถก้าวขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ฉะนั้นถ้าหากปิดกั้นความคิดเห็นเสียแล้วก็คือการผูกขาดเสรีภาพประชาธิปไตย” นางสาวปัณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ พ.ร.บ. ตัวนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ มีการจัดแบ่งประเภทการประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ ตามมาตรา 18 มีการแบ่งชัดเจนเรื่องประเภทใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ 3 ประเภทคือ แบบสาธารณะ แบบกิจการชุมชน และแบบธุรกิจ อย่างไรก็ตามข้อเสียก็มีเยอะกว่า โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าไม่มีความคืบหน้า ซ้ำยังถดถอย เพราะ พ.ร.บ.นี้ ไม่มีความความเป็นธรรมและเท่าเทียมในการปฏิบัติ ในขณะที่หัวใจสำคัญของการปฏิรูปสื่อคือ การที่ทุกคนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกรมประชาสัมพันธ์ นายทุนสื่อกลุ่มใหญ่ คนจนชาวบ้าน ชาวนา ชาวไร่ ก็ต้องมีสิทธิ มีความเท่าเทียมที่จะเข้าไปใช้ เข้าไปเป็นเจ้าของทรัพยากรคลื่นความถี่ด้วย แต่ พ.ร.บ. ประกอบฯ ในส่วนของบทเฉพาะกาล ได้เพิ่มเข้ามาหลายมาตรา แต่กลับไม่ได้คุ้มครองวิทยุชุมชนของภาคประชาชนเลย ไม่ได้คุ้มครองวิทยุธุรกิจขนาดเล็กด้วย ไม่กล่าวถึงสื่อของภาคประชาชนเลย กล่าวถึงแต่สื่อของรัฐ สื่อที่ได้รับสัมปทานเท่านั้น ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ. นี้ ให้สิทธิของกรมประชาสัมพันธ์ หรือว่าสถานีวิทยุสัมปทานที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานีวิทยุของสื่อกระแสหลัก หรือของหน่วยงานราชการหน่วยงานต่างๆ จึงเท่ากับว่า พ.ร.บ. นี้ให้สิทธิกลุ่มเหล่านี้อยู่เหนือ พ.ร.บ. เสียเอง โดยยังให้กลุ่มเหล่านี้ยังสามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ “เห็นชัดในบทเฉพาะกาลว่า ไม่ได้ให้การคุ้มครองวิทยุชุมชน หรือเอ่ยถึงวิทยุชุมชน และวิทยุขนาดเล็กเลย ไม่มีการพูดถึงการเกิดขึ้นของวิทยุชุมชน หรือวิทยุขนาดเล็กที่เกิดขึ้นมาตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 เลย นั่นแปลว่าคนที่เขียน พ.ร.บ. นี้ ไม่ได้ให้ความใส่ใจเรื่องวิทยุชุมชนเลย ละเลยความเท่าเทียมและเป็นธรรม” สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมเท่าเทียม ถูกภาครัฐเพิกเฉย? ใช่ค่ะ เครือข่ายสื่อภาคประชาชนเคยเสนอหลายครั้งแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญใด หรือกฎหมายฉบับใด ต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมและเป็นธรรม คุณจะเลือกปฏิบัติไม่ได้ ถ้าจะปิดสถานีวิทยุชุมชน ก็ต้องปิดวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ด้วย ถ้าหากว่าคุณเคารพกฎของรัฐธรรมนูญจริง ต้องคำนึงถึงสิทธิเท่าเทียมและเป็นธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าต้องปิดก็ปิดหมด กล้าที่จะปิดตัวเอง กล้าหาญยอมพร้อมที่จะปฏิบัติตนอย่างเท่าเทียมกันกับประชาชนทุกคนทั่วประเทศ แล้วค่อยมาเริ่มต้นกันใหม่ ซึ่งส่วนตัวแล้ว ไม่เชื่อว่าสถานีวิทยุของราชการจะปิดตัวเองอย่างแน่นอน มีแต่จะคงคลื่นตัวเองไว้ และพร้อมจะขยายคลื่นต่อไปอีก ไม่เคยมาคุ้มครองหรือสนับสนุนวิทยุชุมชนให้เกิดขึ้นจริง ประเด็นสำคัญคือ ประการแรก จะทำอย่างไรให้มีการจัดระบบใหม่ให้อิงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทั้งปี 2540 และ 2550 ที่ระบุชัดเจนว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะของประชาชนทุกคน ประการที่สอง ต้องมีการจัดสันปันส่วนคลื่นความถี่ที่เป็นธรรม เท่าเทียม และชัดเจน แต่หาก พ.ร.บ. นี้ ผ่านออกมาอย่างไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ ภาคประชาชนก็พร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้อง หากจะปิดสถานีวิทยุก็ต้องปิดให้หมด อย่าเลือกปิดที่ใดที่หนึ่งเพราะไม่ยุติธรรม ที่ผ่านมาวิทยุชุมชนได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐอย่างไรบ้าง นับตั้งแต่มีการก่อรัฐประหาร 19 ก.ย. 2550 ถือว่าเป็นยุคมืดของวิทยุชุมชน เพราะวิทยุชุมชนได้เจอเหตุการณ์ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนหลายครั้ง หากการแสดงความคิดเห็นของวิทยุชุมชนใดไม่ตรงกับผู้ที่มีอำนาจก็อาจจะต้องถูกปิด ถูกคุกคามได้ เช่น ตั้งแต่มีการยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดก่อน ก็มีทหารนำรถถัง หรือเข้าไปสอดส่องดูการดำเนินรายการของสถานีวิทยุชุมชน หรือวิทยุชุมชนบางแห่งก็ต้องปรับเปลี่ยนคลื่นสัญญาณให้ได้มาตรฐาน ซึ่งชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือดี เพื่อไม่ให้คลื่นสัญญาณไปรบกวนคลื่นอื่นๆ แต่สถานีวิทยุชุมชนบางที่ เช่น อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ก็ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก เนื่องจากว่าถูกหน่วยงานราชการห้ามพูดภาษาท้องถิ่น ด้วยเหตุที่อ้างว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ในขณะที่ความเป็นจริง ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ อ.เวียงแหง เป็นชาวไทใหญ่ ที่อพยพมาจากประเทศพม่าจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้ภาษาท้องถิ่นคือ ภาษาไทใหญ่สื่อสาร เพราะผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นคนไทใหญ่ พูดภาษาไทยไม่ได้มาก รายการวิทยุก็เป็นรายการพูดคุยเรื่องการทำมาหากิน สุขภาพ เรื่องแรงงานข้ามชาติ วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น พูดคุยถึงสิ่งที่ดีซึ่งเป็นประโยชน์กับชาวบ้าน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย อีกกรณีหนึ่งคือ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2550 ซึ่งเป็นวันประชุมประจำเดือนของคณะกรรมการและอาสาสมัครผู้ดำเนินรายการของจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนและชมรมกะเหรี่ยงสัมพันธ์ ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ขณะที่ชาวบ้านกำลังประชุมวิทยุชุมชน ก็มี ร.ต.ชวลิตร ศิริทรัพย์ เจ้าของวิทยุชุมชนฮอด เรดิโอ ซึ่งเป็นวิทยุชุมชนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เข้ามาแจ้งในที่ประชุมว่า ต่อไปนี้ชาวบ้านจะจัดรายการวิทยุชุมชนเป็นภาษากะเหรี่ยงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะ กอ.รมน.ไม่อนุญาต จะอนุญาตเฉพาะภาษากลางและภาษาคำเมืองเท่านั้น หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกปิดสถานี เป็นต้น “การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญอยู่แล้ว แต่อย่ามาอ้างเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แล้วบอกว่าไม่สามารถปิดสถานีของรัฐหรือส่วนกลางได้ แต่วิทยุของชุมชนปิดได้ โดยไม่คำนึงว่าคนในชุมชนจะได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น ถ้าหากคิดว่าการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญจริง ก็ต้องไม่เลือกปฏิบัติกับสถานีใดสถานีหนึ่ง การสั่งปิดแต่วิทยุชุมชนแบบนี้ คนในชุมชนก็ย่อมได้รับผลกระทบ” นายณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ประธานบริหารวิทยุชุมชน เอฟเอ็ม 89.00 MHz อ.เวียงแหง จ. เชียงใหม่ สิ่งที่กังวลเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ คือ จะเป็นการปิดกั้นสื่อภาคประชาชนที่ต้องการทำสื่อเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาภาครัฐเป็นฝ่ายยัดเยียดข้อมูลให้ประชาชนอยู่ด้านเดียว แต่การเกิดสื่อของชุมชนดังเช่นวิทยุชมชุม โดยมีคนในชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้เข้ามาจัดการรายการเอง ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 นับเป็นการทำหน้าที่ของคนในชุมชนในการสะท้อนปัญหาต่างๆ ในชุมชนท้องถิ่นให้คนได้รับทราบ ซึ่งตรงนี้ชุมชนเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง สิ่งสำคัญคือ ชุมชนทั่วประเทศต้องตระหนักถึงความสำคัญของสื่อในชุมชน ซึ่งได้เกิดขึ้นมาตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 เราต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องให้รัฐได้รับทราบความต้องการของเราอย่างแท้จริง ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในอาทิตย์หน้า ตัวแทน ชุมชน และเครือข่ายสื่อ จะขอต่อสู้เรียกร้องให้มีการยุติการนำกฎหมายนี้เข้าสภา เพราะมีหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง “สื่อภาคประชาชน และการปฏิรูปสื่อที่แท้จริง จะต้องให้ชุมชนเป็นผู้มีอำนาจบริหารจัดการอย่างแท้จริง โดยไม่ให้ภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในส่วนการจัดการ แต่รัฐควรทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนทุนในการจัดการ ให้ความรู้ให้ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ให้ชุมชนจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลและจัดการกันเอง เพื่อพัฒนาสื่อชุมชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” |