โดย กาแฟดำ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ในยาม “หน้าสิ่วหน้าขวาน” สำหรับสื่อมวลชนไทยช่วงการทำข่าวและจัดรายการของการหาเสียงและต้องเผชิญกับนักการเมืองไร้จริยธรรมบางคน จำเป็นที่จะต้องสร้างความกระจ่างว่าด้วย “ความเป็นมืออาชีพ” ของวงการสื่อ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นักข่าวที่ต้องเผชิญกับความหยาบคายและท่าที “เอาแต่ได้” ของนักการเมืองบางคนต้องบอกกล่าวจุดยืนของความเป็นสื่อที่ไม่ยอมให้นักการเมืองมาขู่เข็ญคุกคามหรือหลอกใช้เป็นเครื่องมือจะต้องประกาศหลักการของการทำงานให้ชัดเจน
เพราะความเป็น “ศรีธนญชัย” ของนักการเมืองไทยไม่น้อย การอ้างจริยธรรมของสื่อบางครั้งก็ไม่เข้าหูเข้าตานักการเมืองที่กำลังหาเสียงอยู่
ดังนั้น ผมจะยกเอา “แนวปฏิบัติ และกรอบจริยธรรม” ของ BBC ของอังกฤษ (ที่นักการเมืองไทยชอบอ้างเป็นมาตรฐานสากล) มาให้ได้เห็นถึงหลักการทำงานของสื่อในการทำหน้าที่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง
เขากำหนดในคู่มือของเขาไว้อย่างนี้ว่า
“บีบีซี มีความมั่นคงแน่วแน่ต่อความเป็นกลางทางการเมือง ให้ความยุติธรรมเสมอหน้ากับทุกๆ ฝ่าย ความมั่นคงแน่วแน่นี้จะถูกทดสอบอย่างเข้มข้นจากประชาชน สื่อมวลชน กลุ่มการเมืองโดยเฉพาะในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง…”
คู่มือเล่มนี้เตือนสื่อเองว่า
“เราต้องระวังตัว เพราะนักการเมืองจากทุกค่ายคงต้องพยายามใช้บีบีซี หรือชี้นำแนวข่าวของบีบีซี ให้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตน…นักการเมืองบางค่ายอาจจะใช้วิธีกล่าวหาหรือร้องเรียน เพื่อสร้างแรงกดดันนักข่าว…ซึ่งในกรณีนี้ เรามีคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ แยกต่างหาก เพื่อพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป…”
และเสริมต่อว่า
“ในส่วนของนักข่าวหรือผู้ผลิตรายการคงจะต้องเตรียมเหตุผลต่างๆ มาสนับสนุนการตัดสินในการเลือกประเด็นข่าว และเนื้อหาสาระในข่าวที่รายงานออกไปว่า ผ่านการกลั่นกรองตามมาตรฐานความเที่ยงธรรม ไม่ถือหางฝ่ายใด ตามกรอบของบีบีซีแล้ว
O น้ำหนักและคุณค่าของข่าวจะเป็นตัวผลักดันการตัดสินใจที่จะคัดเลือกประเด็นข่าว และการคัดเลือกข้อมูลหรือบุคคลมาให้ความเห็นที่เป็นสาระมาประกอบเป็นเนื้อข่าวหรือนำมาออกรายการ
O การกำหนดประเด็น และสาระของข่าวหรือรายการ ระหว่างที่มีการหาเสียงเลือกตั้งจะต้องอยู่ในกรอบของการโต้เถียงอย่างเสรีมีประชาธิปไตย ทุกฝ่ายมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นเสนอนโยบายของตนอย่างสมน้ำสมเนื้อ ทุกฝ่ายจะถูกบีบีซีทดสอบ ทักท้วง ล้วงลูก อย่างเสมอหน้ากัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล
O การให้น้ำหนักแก่พรรคการเมืองต่างๆ เพื่อความเสมอหน้ากันนั้น อาจจะทำเป็นรายการเดียวจบหรือรายการที่ออกเป็นชุด ตลอดช่วงเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ผลิต
รายการจะต้องมั่นใจว่าภาพรวมในรายการที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนนั้นได้ให้ความเท่าเทียมกัน และให้สัดส่วนที่ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ
เขายืนยันเหมือนกับที่สื่ออาชีพไทยยืนยันเสมอว่า
“สื่อไม่มีหน้าที่ออกไปรณรงค์หรือยอมให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ทางการเมือง กลุ่มกดดัน หรืออุดมการณ์ใด…”
ผิดจากนี้ สื่ออาชีพไทยไม่ควรจะยอมเป็นอันขาด
เพราะประชาชนย่อมคาดหวังให้สื่อไทยมีมาตรฐาน และจริยธรรมเพื่อการทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550