มาตรฐานคนข่าว BBC สัมภาษณ์นักการเมือง

…”ต้องไม่ละเว้นคำถามที่ผู้ชมผู้ฟังต้องการรู้คำตอบ”

โดย กาแฟดำ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

หัวหน้าพรรคบางพรรคปฏิเสธไม่ยอมร่วมการ “ดีเบต” กับหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นโดยอ้างว่าไม่ต้องการ “ทะเลาะ” กับคนอื่น…หรือไม่ก็อ้างว่าไม่ชอบรูปแบบการ “เผชิญหน้า” กัน แต่อยากจะให้มีการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวทางทีวีมากกว่า

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : หัวหน้าพรรคการเมืองที่พูดอย่างนี้แปลว่าไม่เข้าใจคำว่า “ดีเบต” ทางการเมืองที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องการจะเห็นและได้ชมได้ฟังด้วยตนเอง

การตอบคำถามในรายการวิทยุหรือทีวี “สองต่อสอง” นั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำหน้าที่แสดงจุดยืนและแนวทางของพรรคของตนเองเท่านั้น แต่เมื่อประชาชนเองต้องการที่จะสามารถ “เปรียบเทียบ” กันอย่างชัดเจน ก็จะต้องมาในรูปแบบของการ “ดีเบต” (debate) ที่หัวหน้าพรรคต้องตอบคำถามเดียวกันในเวลาที่กำหนดเท่ากันและในบรรยากาศที่สดๆ เช่นกัน

การดีเบตไม่ใช่การ “ทะเลาะ” กันอย่างที่หัวหน้าพรรคบางพรรคพูดบิดเบือน เพราะหัวหน้าพรรคที่เข้าร่วมรายการสดทางโทรทัศน์รูปแบบนี้ไม่จำเป็นต้องตอบคำถามหากไม่อยากจะตอบ…หรือจะเลือกตอบแบบที่ตนเองถนัดก็ได้ เป็นสิทธิของตนเอง

เพราะท้ายสุดประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าหัวหน้าพรรคคนไหนมี “กึ๋น” มากกว่าใคร

เหตุผลที่แท้จริงของนักการเมืองที่ไม่ยอมเข้าร่วมการ debate นั้น ก็คือความไม่มั่นใจในตนเองว่าจะสามารถตอบคำถามสดๆ ที่ไม่ได้มีการ “เตี๊ยม” กันได้หรือไม่

อีกเหตุผลหนึ่งคือการที่หัวหน้าพรรคบางพรรคเห็นว่าถ้าหากตน “ได้เปรียบ” ก็จะเข้าร่วม แต่ถ้า “เสียเปรียบ” ก็จะปฏิเสธ….และไม่ปฏิเสธเปล่าๆ แต่ยังกล่าวหาผู้จัดรายการนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนว่าจงใจจะสร้างความเสียหายให้กับตนเองเสียอีก

จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องตัดสินใจเองว่าเหตุไฉนนักการเมืองจึงมักจะโทษพิธีกรที่ทำหน้าที่ของตนอย่างมืออาชีพว่ามีอคติต่อตน

สถานีโทรทัศน์มาตรฐานโลกอย่าง BBC ของอังกฤษเขาเขียนไว้เป็น “แนวปฏิบัติและกรอบจริยธรรม” (Editorial Guidelines, The BBC’s values and standards) ไว้เป็นคู่มือสำหรับคนข่าวมืออาชีพของเขาทีเดียวว่า

“ในการสัมภาษณ์ทางการเมืองนั้น นักข่าวและผู้ผลิตรายการของบีบีซีจะต้องมีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าต้องการข้อมูลหรือประเด็นอะไรบ้าง….การกำหนดรูปแบบของรายการและเนื้อหาสาระของการตั้งคำถามจะต้องหนักแน่น ไม่ละเว้นคำถามที่ผู้ชมผู้ฟังต้องการรู้คำตอบ…

บีบีซีไม่จัดรายการหรือตั้งแนวคำถามที่ทำให้ผู้ชมผู้ฟังรู้สึกว่าส่อไปในทางเกรงอกเกรงใจผู้มีอำนาจ ถ้ามีการหลบเลี่ยงไม่ตอบคำถามตรงๆ เราก็ต้องดึงกลับประเด็น แล้วถามซ้ำให้ได้คำตอบที่ตรงกับคำถาม…

นักข่าวบีบีซีจะต้องให้ความยุติธรรมเสมอหน้ากัน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เราต้องตั้งคำถามหนักแน่นและรุกไล่แบบเดียวกัน เราจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีความคงเส้นคงวากับนักการเมืองทุกสีสัน….”

นี่คือมาตรฐานของสื่อและนักการเมืองในประเทศที่เขาเคารพในสติปัญญาของประชาชนเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง

ดังนั้นเมื่อหัวหน้าพรรคไหนขู่เข็ญคุกคามนักข่าวว่า ถ้าถามคำถามที่ตนไม่ต้องการตอบจะโดนตอบโต้ด้วยวาจาหยาบคายและหยาบโลน ย่อมสะท้อนถึงความ “น้ำเน่า” ของบางแวดวงการเมืองไทยวันนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

แท็ก คำค้นหา