กทช.เข็นมือถือเบอร์เดียวทุกระบบ เบอร์เดิมจ่าย300บ.ย้ายได้ทุกค่าย

“กทช.” เข็นเต็มสูบ “เบอร์เดียวทุกระบบ” เตรียมเปิดเวทีประชาพิจารณ์เดือน มี.ค. กำหนดค่าธรรมเนียมเปลี่ยนระบบไม่เกิน 300 บาท ให้โอเปอเรเตอร์จัดการย้ายค่ายให้ลูกค้าภายในไม่เกิน 3 วัน ฟากยักษ์ “มือถือ” ยอมรับเพิ่มทางเลือกผู้บริโภคพร้อมเตรียมรับมือลูกค้าย้ายค่าย แถมผู้ให้บริการมีภาระเพิ่มขึ้น เหตุต้องลงทุนเพิ่มอีกเจ้าละ 300-400 ล้านบาท

 

นายประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทช.ได้ยกร่างประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์สิทธิการคงเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (number portability) เสร็จเรียบร้อยแล้ว หมายถึงการให้สิทธิเลขหมายโทรศัพท์เป็นของลูกค้าไม่ว่าจะย้ายไปใช้บริการของค่ายไหน โดย กทช.จะจัดให้มีผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลกลาง สำหรับเก็บข้อมูลเลขหมายโทรศัพท์ทุกประเภท โดยมี 3 ทางเลือก คือ 1.กทช.เป็นผู้คัดเลือกบริษัทผู้ให้บริการ 2.ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือร่วมลงทุนตั้งบริษัทขึ้นมาให้บริการ และ 3.เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาขอรับใบอนุญาต clearing house จาก กทช.

 

สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของ clearing house ไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน แต่เขียนกว้างๆ ว่าจะต้องเป็นค่าธรรมเนียมในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งในทางปฏิบัติผู้ที่เป็น clearing house กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อาจตกลงแบ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมร่วมกันก็ได้

 

นายประสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนขั้นตอนการคงสิทธิเลขหมาย ผู้ใช้บริการจะต้องแจ้งต่อผู้ให้บริการรายใหม่ที่ต้องการใช้งาน จากนั้นผู้ให้บริการรายใหม่จะแจ้งต่อผู้ให้บริการรายเดิมว่า ผู้ใช้บริการต้องการย้ายโครงข่าย หลังจากนั้นผู้ให้บริการรายเดิมจะดำเนินการให้ลูกค้าชำระเงินที่ค้างอยู่ให้หมด แล้วเข้าสู่กระบวนการโอนเลขหมายไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ ซึ่งกำหนดเวลาให้ดำเนินการภายใน 3 วัน และต้องแจ้งแก่ลูกค้าทาง SMS ว่า จะทำการ cut over จากโครงข่ายเก่าไปโครงข่ายใหม่ในวันและเวลาใด

 

“สาเหตุที่เราให้ลูกค้าไปแจ้งความประสงค์กับผู้ให้บริการรายใหม่เลย เพราะผู้ให้บริการที่มีลูกค้าอยู่แล้วย่อมไม่อยากจะเสียลูกค้าไป และอาจหน่วงเหนี่ยวหรือทำให้ใช้เวลานาน ก็เลยให้ไปแจ้งกับ โอเปอเรเตอร์รายใหม่เลย ส่วนค่าธรรมเนียมการทำ number portability จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง 2,000 กว่าราย พบว่าราคาที่ยอมรับได้มากที่สุดอยู่ที่ 300 บาท จึงกำหนดเพดานการคิดค่าธรรมเนียมไว้ในอัตรานี้”

 

สำหรับผู้ใช้บริการมือถือแบบพรีเพด กทช. กำหนดให้ผู้ใช้มีการลงทะเบียนพรีเพด ดังนั้นหากต้องการคงสิทธิเลขหมายก็สามารถแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของได้ ยกเว้นแต่ผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนเพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นเจ้าของเลขหมาย ทั้งนี้การทำ number portability ของโทรศัพท์แบบพรีเพด จะสะดวกกว่าแบบโพสต์เพดเนื่องจากไม่มียอดค่าบริการคงค้าง สามารถเข้าสู่กระบวนการย้ายเลขหมายได้ทันที

 

นายประสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า ประกาศฉบับนี้น่าจะบังคับใช้ได้ภายในเดือนมีนาคมศกนี้ และให้เวลาผู้ประกอบการในการเตรียมตัวเป็นเวลา 1 ปี ดังนั้นคาดว่าน่าจะเริ่มใช้ระบบ number portability ได้จริงประมาณสิ้นปีนี้

 

“หลังจากที่มี number portability แล้วคาดว่าระยะแรกจะมีผู้ใช้บริการใช้สิทธิดังกล่าวประมาณ 10% และเมื่อคุ้นเคยกับขั้นตอนแล้วก็จะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป เหตุที่การเปลี่ยนโครงข่ายอยู่ในสัดส่วนดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์แบบพรีเพดจำนวนมาก และการที่ผู้ใช้จะทิ้งเลขหมายเดิมไปซื้อเลขหมายใหม่ง่ายและมีต้นทุนต่ำกว่าการขอใช้สิทธิการคงเลขหมายเดิมนั่นเอง

 

ด้านนายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการสำนักงาน กทช. กล่าวว่า ร่างประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์สิทธิการคงเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของ กทช.ไปครั้งหนึ่ง และอยู่ระหว่างการแก้ไขเนื้อหาตามที่ กทช.ให้ความคิดเห็น โดยจะมีการนำเข้าที่ประชุม กทช. เพื่อพิจารณาอีกครั้งและหากไม่มีการแก้ไขสาระสำคัญเพิ่มเติมแล้ว สำนักงาน กทช.จะดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะช่วงปลายเดือน มี.ค.2551

 

นายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์สิทธิการคงเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่มีผลบังคับใช้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของ กทช.อยู่แล้ว และขณะนี้ก็ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อศึกษาข้อมูลและทดลองเป็นการภายในระหว่างกันไปบ้างแล้ว โดยจะมีการทดสอบไปเรื่อยๆ ส่วนจะเริ่มใช้เมื่อไรขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของ กทช. เช่น ถ้ากำหนดให้โอนลูกค้าระหว่างบริการภายในบริษัทเดียวกันก็จะทำได้เลย และถ้าข้ามบริษัท เช่น จากเอไอเอสไปยังดีแทค แล้ว กทช.กำหนดให้การโอนโครงข่ายต้องทำภายใน 1 เดือน ก็จะเริ่มได้เร็วเช่นกัน เพราะมีเวลาให้ โอเปอเรเตอร์ดำเนินการ

 

ทั้งนี้จากการทดสอบระบบดังกล่าวต้องยอมรับว่า การจัดการฐานข้อมูลลูกค้าค่อนข้างยุ่งยาก และทำให้ผู้ให้บริการต้องลงทุนเพิ่มรายละไม่ต่ำ 10 ล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย

 

สำหรับกรณีที่ กทช.กำหนดให้มีการตั้งศูนย์ข้อมูลกลางแยกต่างหาก ตนมองว่าอาจทำให้ต้นทุนในการให้บริการระบบดังกล่าวสูงขึ้น เพราะผู้ให้บริการเคลียริ่งเฮาส์ก็ย่อมต้องหากำไร ดังนั้นหากเป็นการลงทุนโดย กทช.น่าจะดีกว่า

 

“เราเห็นด้วยว่ามีประโยชน์กับผู้บริโภค แต่ก็ไม่คิดว่าเมื่อเปิดให้บริการแล้วจะเข้ามาใช้กันมาก หากพิจารณาจากในต่างประเทศที่เปิดให้บริการแล้ว พบว่าทำได้สักพักก็เลิกไปส่วนหนึ่ง เพราะการแข่งขันในปัจจุบันทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้นอยู่แล้ว อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันก็เปลี่ยนไป ไม่จำเลขหมายแต่ใช้โฟนบุ๊กในเครื่อง ดังนั้นการคงเลขหมายเดิมไว้จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญเหมือนในอดีต”

 

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นัมเบอร์พอร์ตอย่างน้อยให้อำนาจผู้บริโภค เดิมถ้าผู้บริโภคไม่พอใจบริการหรืออยากทดลองระบบใหม่ก็เปลี่ยนไม่ได้เพราะเบอร์ฟิกซ์อยู่กับโอเปอเรเตอร์ ไม่อยากเปลี่ยนเบอร์ แต่ต่อไปทำได้ง่ายขึ้นซึ่งจะผลักดันให้โอเปอเรเตอร์ ต้องตื่นตัวมากที่สุดในการรักษาลูกค้าเอาไว้ ต้องไม่ทำให้ลูกค้าไม่พอใจ เพราะเปลี่ยนค่ายง่ายมาก ซึ่งตนมองว่าจะลดความได้เปรียบระหว่าง โอเปอเรเตอร์ไปด้วย แต่ขึ้นอยู่กับการกำหนดเงื่อนไขของ กทช.ทั้งในแง่ระยะเวลาดำเนินการและค่าธรรมเนียม

 

“เรื่องเคลียริ่งเฮาส์ หรืออะไรต้องอยู่ที่ระเบียบของ กทช. ถ้าระเบียบออกมา ลูกค้าเห็นว่ามีประโยชน์ โอเปอเรเตอร์ก็ต้องทำ เพราะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งดีกับผู้บริโภค นัมเบอร์พอร์ตเกิดแน่ แต่คงจะค่อยๆ เกิด โอเปอเรเตอร์คงรักษาฐานของตนเองเต็มที่ ไม่ยอมให้ลูกค้าไป โดยการให้ผลประโยชน์กับลูกค้า แต่ถามว่าโอเปอเรเตอร์รายเล็กหรือรายใหญ่ได้เปรียบ พูดยาก บ้างก็ว่าเป็นโอกาสของรายเล็กในการดึงลูกค้าจากรายใหญ่ แต่ในทางกลับกันตนมองว่ารายใหญ่อาจทุ่มตลาดเพื่อดึงลูกค้าจากรายเล็กก็ได้”

 

ขณะที่นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการพาณิชย์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า หากเริ่มทำเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่คงมีผลไม่มากนักต่อตลาด เพราะปัจจุบันตลาดที่มีการเติบโตเป็น กลุ่มลูกค้าพรีเพด ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญหรือยึดติดกับเลขหมายเท่ากับลูกค้าแบบจ่ายรายเดือน แต่ดีในแง่เป็นทางเลือกสำหรับลูกค้า

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3976 (3176) หน้า 1

แท็ก คำค้นหา