โดย ศิษฎ์ สุนันท์สถาพร
หนังสือพิมพ์มติชน
ที่พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ไล่ฟ้องสื่อกรณีที่เสนอข่าวที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อภิปรายกันในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น
ในอดีตก็เคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำข้อมูลที่เพื่อนสมาชิกที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วสื่อนำไปวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็น แต่ถูกนักการเมืองที่เป็นทีมที่ปรึกษาของรัฐมนตรีรุมฟ้องให้ศาลลงโทษสื่อในทางอาญา และฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเป็นจำนวนเงินถึง 5,000,000 บาท
คือกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการในญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนหนึ่ง หลังจากการลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจบสิ้นแล้ว สื่อลงบทความในหนังสือพิมพ์ระบุว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอยู่เฉยไม่ได้ต้องจัดการกวาดบ้านด่วน
แม้การลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะมี ส.ส.ยกมือโหวตไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ภาพลักษณ์ในทางการเมืองด้วยข้อมูลของอิริค วูล์ฟกัง ราชายาเสพติดชาวเยอรมัน ที่คนแวดล้อมหรือบริวารของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือทีมที่ปรึกษาและสต๊าฟทำงานจำนวนหลายคนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้นให้การช่วยเหลือวูล์ฟกัง ทำให้กระแสสังคมค่อนข้างจะไม่ไว้วางใจบุคคลเหล่านั้นว่ามีความบริสุทธิ์เพียงใด
แสงแห่งสปอตไลท์เจิดจ้าฉายจับไปยังแร้งที่ร่อนบินฉวยคว้าเงินสินบนก้อนโต อันหว่านมาจากอิริค เนื่องจากเป็นเรื่องแปลกกับท่าทีของนักการเมืองเหล่านั้นที่ให้ความสำคัญต่อการร้องเรียนในเรื่องนี้ อันสะท้อนให้เห็นกลิ่นอะไรบางอย่างที่แปลก
แปลกกระทั่งทีมที่ปรึกษากฎหมายรัฐมนตรีแปรพื้นที่อันเคยเป็นของผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นสถานชุมนุมทนายความของนายอิริค วูล์ฟกัง
นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องร้องเรียนอย่างธรรมดา
นี่ย่อมมิใช่การทำหนังสือเชิงธุรการอย่างธรรมดา
ยิ่งประจักษ์ในจำนวนเงินที่คนของนายอิริค วูล์ฟกัง มิใช่เรื่องธรรมอย่างปกติ เพราะยิ่งทำให้มองเห็นภาพของแร้งที่บินว่อนด้วยความหิวกระหาย
หากนายอิริค วูล์ฟกัง ไม่มากด้วยเงินที่หว่านโปรย การร้องเรียนครั้งนี้คงไม่มากด้วยบทบาทและมากด้วยวิธีการถึงเพียงนี้
ณ วันนี้ความสนใจของสาธารณะยังคงความสงสัย แสงแห่งสปอตไลท์จึงฉายจับไปยังทีมที่ปรึกษาของรัฐมนตรีด้วยความตื่นเต้นและระทึกในดวงหทัย”
การแสดงความคิดเห็นของสื่อดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าเป็นการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะโดยแน่แท้ แต่กลับถูกนักการเมืองใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใส่ร้ายป้ายสีมาเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น
โดยกรณีการเสนอบทความดังกล่าวทำให้สื่อถูกนักการเมืองฟ้องหลายศาลหลายคดีด้วยกัน
แต่ขอยกคดีที่ศาลอาญามาเล่าสู่กันฟังเพราะรู้สึกว่าน่าสนใจ และเป็นคดีที่ยุติไปเรียบร้อยแล้ว เพราะศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาไปเมื่อเดือนกันยายน 2550 นี้เอง โดยใช้เวลาต่อสู้คดีนานเกือบ 9 ปี
คือคำพิพากษาฎีกาที่ 2543/2550 เรื่อง หมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ โจทก์ฟ้องเมื่อปี 2542 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์มีจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ลงบทความระบุชื่อโจทก์ในคอลัมน์วิเคราะห์และเชิงอรรถฯสถานการณ์
ต่อมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อความแม้จะไม่ระบุชัดแจ้งว่าโจทก์รับสินบนจากนายอูริค วูล์ฟกัง แต่การกล่าวถึงข้อเท็จจริงและความเห็นโดยธรรมแล้วพอสรุปให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าโจทก์มีส่วนในการรับสินบนจากนายอิริค วูล์ฟกัง ซึ่งเป็นการเสนอความเห็นที่ชี้นำผู้อ่านโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ปัญหาข้อนี้คู่ความไม่ได้ฎีกา จึงต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงได้รับการยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (3) หรือไม่
จะเห็นได้ว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทั้งรัฐมนตรีและโจทก์จึงเป็นผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง โจทก์จึงเป็นบุคคลที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามพฤติกรรมและย่อมวิพากษ์วิจารณ์ได้
เหตุคดีนี้เกิดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้อภิปรายเสนอข้อมูลต่างๆ ว่ามีการวิ่งเต้นช่วยเหลือนายอิริค วูล์ฟกัง ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบ โดยเสนอข้อมูลในการอภิปรายดังกล่าวและเสนอข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับกรณีนี้ เป็นการตั้งข้อสงสัยพฤติกรรมของโจทก์ว่า จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือนายอิริค วูล์ฟกัง หรือไม่เท่านั้น
กรณีนี้หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่
แม้ข้อความบางส่วนเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ติชม และวิพากษ์วิจารณ์มิได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงจริงว่าโจทก์รับสินบนแต่อย่างใด
ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงได้รับยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) แล้วพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า นักการเมืองอื่นเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นจำเลยที่ศาลจังหวัดสงขลาในข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาทในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน คอลัมน์เดียวกับคดีของโจทก์ คดีดังกล่าว จำเลยขอขมาและยอมรับว่าทำให้นักการเมืองคนนั้นเสียหาย คดีของโจทก์กับนักการเมืองคนดังกล่าวเป็นเหตุลักษณะเดียวกัน ข้อเท็จจริงเดียวกันจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรม
เท่ากับโจทก์อ้างว่าคดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวนั้น เห็นว่าแม้ในคดีที่นักการเมืองคนนั้นเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสงขลาต่อมานักการเมืองคนดังกล่าวกับจำเลยตกลงกันได้ และนักการเมืองคนนั้นขอถอนฟ้องแล้วก็ตามก็เป็นเรื่องระหว่างนักการเมืองคนนั้นกับจำเลยในคดีอาญาอื่นหาได้มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ศาลที่พิจารณาคดีจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาอื่น แม้คดีทั้งสองนั้นจะมีมูลกรณีเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน
ดังนั้น คดีนี้จึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีที่นักการเมืองเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลจังหวัดสงขลาในข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาทดังที่โจทก์เข้าใจ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน
ดีนะ ที่ศาลไทยมีมุมมองระหว่างกฎหมายหมิ่นประมาทกับการทำหน้าที่ของสื่อเพื่อประโยชน์สารธารณะกว้างขวางพอ
แต่กว่าสื่อจะต่อสู้คดีจนชั้นศาลฎีกานั้น เลือดตาแทบกระเด็นกระบวนการยุติธรรมมิใช่มีเพียงแค่ศาล ถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงแนวคิดและกระบวนการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในประเทศไทยแล้วหรือยัง
การทำหน้าที่ของสื่อแล้วถูกฟ้องศาลหาว่าใส่ร้ายป้ายสีนั้นจะมีกระบวนการทางสังคมเพื่อปกป้องผู้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะมากกว่าศาลได้ไหม
ควรมีเกณฑืในการพิจารณาที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทมาเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเสนอข่าวตามหน้าที่ของสื่อมวลชนหรือไม่
เราจะสร้างสมดุลระหว่างกฎหมายเกี่ยวกับการใส่ร้ายป้ายสีกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะได้อย่างไร
ที่มา มติชน วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10839 หน้า 6