โดย ทัศนีย์ บุนนาค
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ทิศทางอุตสาหกรรมเนื้อหาระดับโลก
ตลาดปูซานในเกาหลี แบริช และคานส์ในฝรั่งเศส ตลาดภาพยนตร์ซานตาโมนิกาในอเมริกา เทศกาลประกาศรางวัลรายการทีวียอดเยี่ยมที่สิงคโปร์ หรือเทศกาลภาพยนตร์การ์ตูนนานาชาติที่อานซี ฝรั่งเศสล้วนเป็นสิ่งดึงดูด นัดพบซื้อขาย ร่วมลงทุน หรือแสวงหาผู้กำกับ ครีเอทีฟมือดีของรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ รวมทั้งตัวแทนโฆษณา และบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการจอแก้วอย่างเทลโกมีเดีย วิวัลดี โซนี่ เวียคอม อาร์ทีแอล เทเลวีซา บีบีซี เอ็มทีวีเน็ตเวิร์ค เจ้าพ่อเคเบิล ผู้บริหารระดับสูงของสื่อประเภทจอทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ของประเทศต่างๆ โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตทีวี จอความถี่สูง โทรทัศน์ดิจิทัล หรือกลุ่มผู้ให้บริการบนจอประเภทต่างๆ เป็นต้น การขยายตัวของเทคโนโลยีทางการสื่อสารและการเพิ่มความคึกคักในเนื้อหาในอนาคตนั้น ย่อมเป็นโอกาสของอุตสาหกรรม เพราะนับวันความต้องการของตลาดเนื้อหาจะสูงขึ้น ดูง่ายๆ อย่างเอ็มพีบี ซึ่งเป็นองค์กรสื่อสำคัญของประเทศมาเลเซีย ก็ขยายวงเงินงบประมาณในการจัดหารายการทั้งภายในและต่างประเทศจาก 56.9 ล้านดอลลาร์ เป็น 71.2 ล้านดอลลาร์ หรือในจีนก็มีการตื่นตัวในการบริโภคไอพีทีวีเป็นล้านรายแล้ว เป็นต้น ในอนาคตหน้าตาของโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และโฆษณา คงจะปรับเปลี่ยนไปอย่างเหลือเชื่อ เมื่อเทียบกับหน้าตาของสื่อไฟฟ้าประเภทนี้เมื่อกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา นั่นเป็นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่รุดหน้าและขยายวงกว้างในการรุกตลาด ทั้งต้นสายการลงทุน การสร้างสรรค์รายการ และการผลิตในอุตสาหกรรมสื่อก็มีการไขว้ทางธุรกิจ เพื่อครอบครองพื้นที่ในการบริโภค และควบคุมกลยุทธ์ของการกำหนด วาระ ประเด็น เรื่องราว ในสินค้าใหม่ๆ ยุคโลกาภิวัตน์ที่จะมีรายได้มหาศาล โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของโทรทัศน์เคลื่อนที่บนจอโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ก็ดูจะเป็นตลาดก้าวหน้าในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จนมีการเตรียมการถึงนโยบายและกลยุทธ์การบริหารว่า ใครจะเป็นผู้จ่าย จะมีโฆษณาหรือไม่ ผู้ใช้บริการจะต้องรับผิดชอบ หรือเป็นบริการฟรี หรือในทางปฏิบัติพฤติกรรมการบริโภค ลักษณะธรรมชาติเชิงกายภาพของจอ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของเนื้อหา แนวทางการโฆษณาก็ต้องฉลาดและแหลมคมขึ้น เมนูกระตุ้นน้ำย่อยทางปัญญาหรืออารมณ์ ส่วนเนื้อหารายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่มีการวางตลาดนั้นก็มีให้เลือกมากมาย ทั้งตอนใหม่ๆ ของเรื่องเดิมๆ ที่เคยประสบความสำเร็จจากทั่วโลก และรายการที่แกะกล่องเอี่ยมอ่องรอการเปิดม่านในปี 2008 เป็นภาษาสากล แค่เรื่องราวอันเป็นหน้าต่างสู่ประเทศจีน ซึ่งเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ ก็มีสารพัดเรื่องราวให้บอกเล่าเป็นภาพจริงและจินตนาการได้ไม่รู้จบ เป็นบันทึกที่นำเสนอแนวตำนาน พงศาวดาร นวนิยาย หรือสถานการณ์ปัจจุบันก็เปรียบได้กับเอ็นไซโคพีเดียของรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่อุดมไปด้วยเนื้อหาอันเป็นความรู้ และแหล่งบันเทิงได้ไม่รู้จบหลากสาขา ส่วนอุตสาหกรรมสื่อของอินเดียก็พยายามเร่งเพื่อการขับเคลื่อนในตลาดโลกอย่างแข็งขันด้วยยอดเงินกว่าหนึ่งหมื่นสองพันล้านดอลลาร์ ว่าไปแล้วก็เหยียบห้าแสนล้านบาทด้วยคาดว่าจะโตไปแตะที่ 18 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นของอินเดียด้วยอาหารจานใหม่ๆ ที่ต้องใช้ศิลปะของการเล่าเรื่อง อันเป็นรูปแบบสีสันที่จะมาเขย่าตลาดนวัตกรรมโลก โตเอะ ผู้ผลิตการ์ตูนดังของค่ายญี่ปุ่นเอง ก็พยายามที่จะผลักดันเจ้าหนูดร้ากอนบอล เจาะตลาดมือถือขยายจากสินค้าประเภทดนตรีและริงโทน ไปยังตลาดเอเชียเพื่อให้การเดินทางด้วยรถไฟ เรือเมล์ ไม่เป็นอุปสรรคในการติดตามการผจญภัยของตัวการ์ตูน ขณะที่เกาหลีก็เข้มข้นในการผลักดันเรื่องราวของวัฒนธรรม ห้าพันปีของตน สิงคโปร์เองก็เข้าสู่ศึกเนื้อหาในตลาดโลก ด้วยการวางตำแหน่งเป็นศูนย์กลางตลาดกลางไอทีและตลาดเนื้อหาระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนนเพื่อรองรับการผลิต การร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำที่มีบทบาทในอุตสาหกรรม เนื้อหาของรายการทีวี เกม การ์ตูน เพลง ภาพยนตร์ การบริหารของสื่อ และการพิมพ์ แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกด้านอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวัน ก็ยังควักเงินในมูลนิธิตนเพื่อให้บริษัทไต้หวันผลิตรายการด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ต่างจากกลยุทธ์ที่บริษัทโฆษณาเข้าไปลงทุนในรายการโทรทัศน์ หรือมีอิทธิพลในการเลือกที่จะสนับสนุนรายการที่ผลิตจากประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของบริษัทแม่ แม้รัฐบาลอังกฤษเองก็พยายามอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนผลักดัน อำนวยความสะดวกที่จะสร้างสัมพันธ์กับตัวเล่นหลักในตลาดสร้างสรรค์เนื้อหาจากทั่วโลก เพื่อให้บริษัทของอังกฤษเติบโต และโดยเฉพาะองค์กรเล็กๆ สามารถมีที่ยืนด้วยความสำเร็จบนโต๊ะอาหารทางจิตวิญญาณของสหประชาชาติทางการค้าด้านสื่อสารมวลชน อันเป็นเครื่องมือทางอำนาจอันทรงพลังยิ่งของยุคใหม่ นโยบายสถานีโทรทัศน์ไทย บรรยากาศในสนามการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ทางจิตวิญญาณและบันเทิง กำลังวังชามหาศาลในช่วงของการเปลี่ยนแปลง ทั้งเทคโนโลยี ทั้งพฤติกรรมการบริโภค วิถีการสื่อสารสมาคม ซึ่งจะผลักดันให้คนรุ่นใหม่เป็นหนึ่งเดียว ฉะนั้นแต่ละสถานีโทรทัศน์กำลังค้นหาอะไร ผลกำไรธุรกิจ การให้ราคากับบันเทิง หรือคุณค่าทางสังคมเป็นหลักในการสร้างสรรค์ คัดเลือกรายการมายังเมนูสำหรับประชาชนและเด็กไทย รายการแบบใด ประเภทไหนจะได้ขึ้นโต๊ะเป็นจานหลักช่วงไพร์มไทม์ โลกของคนไทยจะกว้างหรือจำกัดในเวทีสหประชาชาติทางจอกันเล่า อะไรคือคำนิยามของตลาด หรือความสำเร็จของสถานี สัญลักษณ์ของการแข่งขันระหว่างสถานีคืออะไร คนไทยหรือเด็กไทยจะได้อะไรจากสิ่งที่สถานี หรือบริษัทโฆษณาป้อนให้ แต่ละสถานีมีอิสระในการตัดสินใจเลือกอย่างแท้จริงหรือไม่ ผู้ชมมีสิทธิในการเลือกอาหารทางจิตวิญญาณอันทรงคุณค่าให้กับตนเองแค่ไหน ประเทศต่างๆ มิได้เข้าสู่ตลาด หรือเทศกาลภาพยนตร์เพียงเพื่อค้นหา แต่เพื่อเข้าไปเพื่อรู้จักตำแหน่งตนในฐานะผู้ผลิต ผู้ค้าด้วย นี่ล่ะอ่อนไหวและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ถ้าสถานีโทรทัศน์ของไทยจะละเลยศักยภาพของผู้ชมด้วยเสรีภาพการเลือก ที่ถูกปกครองด้วยกำไรอันเป็นแรงแห่งสัญชาตญาณพื้นฐานทางจิตวิทยาของธุรกิจที่เรียกว่าการแข่งขัน สุดท้ายโจทย์จะอยู่ที่การเมืองเรื่องของนโยบายสาธารณะที่ถูกตอบแก้เชิงการค้า หรือชัยชนะของโอลิมปิกบันเทิงจะเหมาะสมหรือ แล้วไทยในโต๊ะอาหารทางปัญญาที่มีเรื่องเล่าให้บันเทิงในจอโลก 2008 จะอยู่ที่ใดกันเล่า |
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 |