กฎหมายทีวีสาธารณะผ่าน…พันธกิจเพื่อคุณภาพเพิ่งจะเริ่มต้น

โดย กาแฟดำ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

คนไทยที่ต้องการได้สถานีโทรทัศน์สาธารณะที่ตนมีสิทธิมีเสียงในการกำหนดผังรายการ และพ้นจากวงจรแห่งธุรกิจกำไรขาดทุนกำหนดเนื้อหาของสื่อควรจะต้องขอบคุณสมาชิก 106 ท่าน ที่ยกมือให้ผ่านกฎหมาย (ต่อเสียง 44 เสียงที่เห็นเป็นอีกอย่าง) เพื่อก่อตั้ง “public service broadcasting station” แห่งแรกของประเทศ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : แต่การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยเป็นเพียงก้าวแรกของกระบวนการที่จะสร้างสถานีโทรทัศน์ที่ประชาชนจะเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

เพราะจะเป็นทีวีที่ไม่ต้องอาศัยรายได้จากโฆษณา (ซึ่งแปลว่ารายการที่มี ratings สูงเท่านั้นจึงจะอยู่ได้ รายการมีคุณภาพจริงๆ จะถูกเขี่ยออก) และไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแล และควบคุมของรัฐบาล หรือหน่วยราชการอีกต่อไป

เพราะหัวใจของกฎหมายใหม่ที่เป็นเรื่องใหม่อย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยคือการมี “สภาผู้ชมผู้ฟังรายการ” หรือที่ต่างประเทศเรียกว่า “audience councils” เพื่อเป็นกลไกการตรวจสอบคุณภาพของรายการทั้งหลาย

แทนที่จะให้ธุรกิจจ้างบริษัททำ ratings ตามระบบที่ยังถูกซักถามเรื่องความถูกต้องแม่นยำ ทีวีสาธารณะก็จะอยู่ภายใต้การตรวจสอบ วัดผล และประเมินคุณค่าโดยตัวแทนของประชาชนคนดู

ไม่มีรัฐมนตรีหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่โทรศัพท์ไปสั่งการทั้งทางลับ และทางแจ้งว่าให้คนนั้นคนนี้จัดรายการหรือให้รายการนั้นรายการนี้อยู่ในผังอย่างไร…ไม่มีผู้ลงโฆษณารายไหนมาบอกว่าชอบหรือไม่ชอบรายการนั้นรายการนี้เพราะขัดหรือสอดคล้องกับผลประโยชน์แห่งตน

เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่นี้จะมาจากภาษีเฉพาะกิจเพื่อรักษาความเป็นอิสระของความเป็นสื่อเพื่อปวงชน เพื่อให้รายการมีคุณภาพสำหรับทุกครอบครัวเกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตรายการทีวี และวิทยุที่มีคุณภาพเกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างเป็นกิจจะลักษณะเสียที

รายการโทรทัศน์ของไทยจะได้ไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าของสถานีโทรทัศน์เพียงหยิบมือเดียว ที่ยอมตามอิทธิพลการเมืองและธุรกิจเพียงเพื่อทำกำไรให้กับนายทุนไม่กี่คนในประเทศนี้เท่านั้น แต่การบรรลุถึงเป้าหมายของการเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อปวงชนนั้น ไม่ได้เกิดโดยอัตโนมัติเพียงเพราะมีกฎหมายออกมารองรับการก่อตั้งเท่านั้น…ท้ายที่สุด ทุกฝ่ายในสังคมจะต้องช่วยกันผลักดัน สนับสนุน และส่งเสริมให้ “สื่อเพื่อประชา” เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้ เส้นทางข้างหน้ายังมีปัญหาและขวากหนามมากมายนัก ตั้งแต่การแต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบาย” เพื่อดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านให้ราบรื่น เพื่อทางพื้นฐานการบริหารสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่นี้อย่างเป็นมืออาชีพ

ที่สำคัญที่สุดคือการเข้าใจความแตกต่างของ “ทีวีสาธารณะ” กับ “ทีวีเพื่อการพาณิชย์” และ “ทีวีของรัฐบาล” ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง

แต่ความเข้าใจของสังคมไทยหลายส่วนยังสับสน และแม้กระทั่งคนในสื่อเอง บางครั้งก็ยังแยกแยะไม่ออกว่าทีวีช่องนี้จะต่างกับช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์อย่างไร หรือมีอุดมการณ์และเป้าหมายคนละโลกกับทีวีช่อง 3, 5, 7, 9 หรือสถานีเคเบิลต่างๆ อย่างไร จึงยังเห็นพาดหัวหนังสือพิมพ์บางฉบับทำนองว่า “ทีไอทีวีป่วน กลัวตกงาน” หรือ “บริษัทโฆษณาเมินทีวีช่องใหม่” หรือมีคำถามว่าทำไมไม่เอาช่อง 11 ทำเป็นทีวีสาธารณะ และให้ทีไอทีวีเป็นทีวีพาณิชย์ต่อไป

ด้านหนึ่ง สังคมไทยบางส่วนก็เรียกร้องต้องการข่าวทีวีและวิทยุที่มีคุณภาพ เป็นกลาง กล้ารายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของใคร

แต่อีกด้านหนึ่งสังคมไทยอีกบางส่วนก็ยังติดค่านิยมว่าทีวีต้องมีโฆษณาจึงจะอยู่ได้ ต้องมีละครน้ำเน่าจึงจะมีคนดู ต้องให้รัฐบาลคุมอยู่จึงจะไม่ “ป่วน”

ดังนั้น ภารกิจประการแรกของคนที่จะมาเป็น “คณะกรรมการนโยบาย” จะต้องเข้าใจความเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะให้ถ่องแท้แน่นอนเสียก่อน หาไม่แล้วก็จะสับสนงุนงงเสียเอง ซึ่งจะทำให้การก่อเกิดของสิ่งดีๆ ในเมืองไทยเป็นหมันไปเสียก่อน

หัวใจของสถานีโทรทัศน์สาธารณะที่เป็น “ทีวีเสรี” ในความหมายที่แท้จริงก็คือการมีคณะกรรมการบริหารที่เป็นอิสระและเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ตามมาด้วยการตั้ง “สภาผู้ชมผู้ฟังรายการ” จากบุคคลอาชีพต่างๆ ในภาคต่าง ๆ ของประเทศที่ต้องสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุณสมบัติสำคัญข้อที่สามคือการเปิดกว้างให้ผู้ผลิตรายการอิสระจากทั่วประเทศสามารถเข้ามาร่วมเสนอรายการอย่างเปิดกว้าง ได้มาตรฐานและสอดคล้องต้องกันกับความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง

แค่กฎหมายฉบับนี้ “ไม่แท้ง” อย่างที่กลัวกันตอนต้นๆ ไม่ได้หมายความว่าเด็กคลอดใหม่รายนี้จะโตได้เองโดยอัตโนมัติ

คนทั้งสังคมที่ต้องการเห็นรายการข่าวมีคุณภาพ สารคดีได้มาตรฐานสากล รายการเด็กที่ลูกหลานไทยดูแล้วฉลาดขึ้นและความบันเทิงที่มีสาระจะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อให้สมบัติของชาติชิ้นนี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องและน่าภาคภูมิใจโดยทั่วกันได้

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

แท็ก คำค้นหา