โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่
หนังสือพิมพ์มติชน
ทั้งประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินการของรัฐในการสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ.2550 และระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียง ข้อควรปฏิบัติ และข้อห้ามมิให้ปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.และการดำเนินการใดๆ ของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ที่ลงนามโดยนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา และนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับอยู่ในขณะนี้ได้ถูกคัดค้าน ต่อต้านอย่างรุนแรงจากนักการเมือง พรรคการเมืองและสื่อมวลชน เนื่องจากเป็นกฎเกณฑ์ที่หยุมหยิม เข้มงวดมากเกินไป
แม้ว่า กกต.จะแสดงท่าทีรับฟังความเห็นแย้งและรับจะนำไปพิจารณาทบทวนเพื่อแก้ไขใหม่ แต่ก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าประกาศและระเบียบที่แก้ไขใหม่นั้นจะเป็นที่ยอมรับจากฝ่ายคัดค้าน ต่อต้านได้มากน้อยขนาดไหน
สิ่งที่ทิ้งไว้ให้สังคมได้ศึกษาและวิเคราะห์จากกรณีที่เกิดขึ้น ประการหนึ่ง ก็คือ ความไม่เป็นเอกภาพของ กกต.ทั้ง 5 คน ดังสังเกตได้จากการแสดงออกทั้งท่าทีและการพูดจาให้สัมภาษณ์ของ กกต.บางคนที่มีลักษณะก้าวร้าว ดึงดัน ด้วยการพูดว่าประกาศและระเบียบแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว เนื่องจากมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมกันนั้นยังท้าทายให้ผู้ไม่เห็นด้วยกับประกาศและระเบียบไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และเลยเถิดไปไกลถึงขั้นให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองเพื่อเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป
ความเห็นที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนเช่นนี้ คงจะมีคนจำนวนไม่น้อยหัวเราะ ขำกลิ้งกับความไม่ประสีประสาของ กกต.บางคน เพราะประกาศและระเบียบของ กกต.สามารถแก้ไขได้เพียงแค่ กกต.ประชุมกันแล้วมีมติให้แก้ไข จากนั้นก็ออกประกาศและระเบียบฉบับใหม่ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับเดิม แล้วจึงนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งไม่มีอะไรยากเลยแม้แต่น้อย
ที่ยากยิ่งกว่าสิ่งใดๆ น่าจะเป็นสำนึกของ กกต.บางคนมากกว่า ที่เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของตนได้สร้างปัญหาขึ้นมา แต่กลับไม่มีการแสดงความรับผิดชอบใดๆ ให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน
อีกประการหนึ่ง กกต.บางคนอ้างว่าประกาศและระเบียบที่ออกมานั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 59 และ 60 ไม่ได้มีอะไรนอกเหนือไปจากกฎหมายดังกล่าว
การกล่าวเช่นนี้ ไม่ต่างไปจากโยนขี้ให้ไปให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.
ยังดีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในฐานะผู้ยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะผู้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ไม่โยนขี้ไปที่รัฐธรรมนูญ 2550 ให้ต้องเปรอะเปื้อนความสกปรก
แท้จริงแล้ว ประกาศและระเบียบของ กกต.เป็นข้อกำหนดปลีกย่อยที่ กกต.อาศัย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาตรา 59 และ 60 ได้ให้อำนาจไว้ ปัญหาอยู่ที่ว่าข้อกำหนดปลีกย่อยนั้นเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หรือไม่ และถ้าจะให้ดีก็ควรวิเคราะห์ว่าการผ่าน พ.ร.บ.นี้ออกมาใช้บังคับ ทางสภานิติบัญญัติฯพิจารณาอย่างเหมาะสมหรือไม่
สำหรับมาตรา 59 และ 60 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. มีสาระสำคัญ ดังนี้
มาตรา 59 บัญญัติว่า ให้ กกต.กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการของรัฐในการสนับสนุนการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้ มีอยู่ด้วยการ 5 วงเล็บ เช่น
(1) การจัดสถานที่ปิดประกาศและที่ติดแผ่นป้ายในบริเวณสาธารณ สถานซึ่งเป็นของรัฐให้พอเพียงและเท่าเทียมกันในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครทุกคนและพรรคการเมืองทุกพรรค
(3) สถานที่สำหรับให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองใช้ในการโฆษณาหาเสียงได้อย่างเท่าเทียมกัน….
และบัญญัติในวรรคท้าย ว่าเพื่อให้การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้ กกต.วางระเบียบเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติในการเลือกตั้งหรือข้อห้ามมิให้ปฏิบัติในการเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา
ข้อน่าพิจารณา ประการแรก จุดมุ่งหมายของมาตรา 59 คือ การกำหนดหลักเกณฑ์ให้รัฐสนับสนุนการเลือกตั้ง ไม่ใช่กำหนดหลักเกณฑ์ที่เข้ามาจำกัดการเลือกตั้ง ประการที่สอง ระเบียบที่ กกต.จะออกมานั้น ต้องเพื่อให้การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ระเบียบของ กกต.กลับสร้างความไม่เรียบร้อยเสียมากกว่า
สำหรับมาตรา 60 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 59 ห้ามมิให้ผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ใด ปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในสาธารณสถานซึ่งเป็นของรัฐหรือในที่ของเอกชน โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ หรือกระทำกิจการอื่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้รัฐสนับสนุน
ห้ามปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มีขนาดหรือจำนวนไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
ในมาตรานี้ ไม่มีข้อความใดของ พ.ร.บ.ระบุถึงขนาดกว้างยาวของประกาศหรือแผ่นป้ายหาเสียง รวมทั้งจำนวน พ.ร.บ.ให้อำนาจ กกต.ไปกำหนด ปัญหาก็คือ การกำหนดขนาดและจำนวนเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งการหาเสียงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปราศรัย การเลือกสถานที่ปราศรัย ฯลฯ ที่ กกต.ออกประกาศและระเบียบหยุมหยิมห้ามทำโน่น ห้ามทำนี่มากเกินไปจนฝืนวัฒนธรรมการหาเสียง
โดยเฉพาะการออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิของเอกชนในการที่ให้ใช้อาคาร สถานที่ติดป้าย ประกาศหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมืองย่อมเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายห้ามเช่นนี้มาก่อนซึ่งน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ
เมื่อย้อนกลับไปอ่านรัฐธรรมนูญในหมวด 11 ว่าด้วย กกต. มาตรา 236 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ กกต.ไว้หลายประการแต่ดูเหมือนยังไม่ได้ทำให้เป็นเรื่องเป็นราว ในเรื่องของการออกประกาศและระเบียบเกี่ยว กับการหาเสียงและการดำเนินการใดๆ ของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าให้ออกได้ในกรณีจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการของรัฐในการสนับสนุนให้การเลือกตั้งมีความเสมอภาค และมีโอกาสทัดเทียมกันในการหาเสียงเลือกตั้ง
ปัญหาในทางปฏิบัติก็คือ บนความแตกต่างของพรรคการเมืองที่มีทั้งพรรคขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ด้วยข้อจำกัดของสื่อมวลชน และด้วยความเป็นวิชาชีพที่ต้องมีเสรีภาพและมีความรับผิดชอบในการนำ เสนอข่าวสารและการแสดงความคิดอย่างอิสระ การออกประกาศและระเบียบของ กกต.ให้ยึดหลักเท่าเทียมกันนั้น จะให้ปฏิบัติอย่างไร
สิ่งที่ต้องช่วยกันคิดก็คือ ปัญหาความปั่นป่วน วุ่นวายเกี่ยวกับการหาเสียงนับจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งและหลังวันเลือกตั้งก็ยังไม่จบสิ้นนั้น เป็นปัญหาของ กกต.หรือปัญหา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือปัญหารัฐ ธรรมนูญ
ที่มา มติชน วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10827 หน้า 6