โดย นันทนา นันทวโรภาส
หนังสือพิมพ์มติชน
ทันทีที่ประกาศกฤษฎีกาการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ออกแถลงการณ์ “ข้อห้าม ข้อควรปฏิบัติ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 18 ข้อ” บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2550 เป็นต้นไป
ข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งที่จริงควรเรียกว่า “กฎเหล็ก” มากกว่านั้น ส่วนใหญ่เป็นข้อห้าม ในการรณรงค์หาเสียงในที่สาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น
การกำหนดสถานที่ปิดป้ายหาเสียง ระบุให้ปิดป้ายหาเสียงได้เฉพาะสถานที่ที่รัฐจัดให้ และในบริเวณที่กำหนดเท่านั้น
การกำหนดสถานที่ปราศรัยระบุให้เป็นหน้าที่ของ กกต.จังหวัด ในการจัดหาอำเภอละอย่างน้อย 2 แห่ง
การใช้รถยนต์เป็นพาหนะหาเสียง ให้ติดแผ่นป้ายไม่เกินคันละ 2 แผ่น และไม่ให้ดัดแปลงเป็นเวทีหาเสียง
กฎทั้ง 3 ข้อนี้ดูเหมือนเป็นความพยายามของ กกต.ในการที่จะจัดระเบียบให้การหาเสียงเลือกตั้งนั้นอยู่ในสายตาและเท่าเทียมกัน
แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่กำหนดนี้ขัดกับหลักประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานอย่างสิ้นเชิง !!
Lester Milbrath นักวิชาการด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้ระบุว่า “การเสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักในคุณค่าของการเลือกตั้ง เพื่อกำหนดตัวผู้นำทางการเมือง เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของการเลือกตั้งอย่างแท้จริง”
ดังนั้น การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างเปิดเผย ในที่สาธารณะจึงเป็นหลักการที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย ที่มุ่งให้นักการเมืองทั้งหลายได้เปิดเผยตัวตน และแนวทางนโยบายของพรรค ซึ่งถือเป็นข้อตกลง (Commitment) ซึ่งจะนำไปปฏิบัติเมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้ว
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง จึงเป็นวิธีการรณรงค์ที่เป็นประโยชน์ในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการให้ข้อมูลประชาชนทั้งในเรื่องของนโยบายของพรรค คุณสมบัติของผู้สมัคร ซึ่งชาวบ้านก็จะได้รู้ทั้งด้านดีและด้านมืดของนักการเมืองแต่ละคน (ในกรณีที่หาเสียงโจมตีกัน) ซึ่งเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้คนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง แม้บางครั้งการไปฟังปราศรัยของชาวบ้านจะเป็นการระดม (mobilize) กันไปของนักการเมือง แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือชาวบ้านได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น และเข้าใจการเมืองมากขึ้น
การติดป้ายหาเสียง การใช้รถแห่กระจายเสียง หรือการแจกแผ่นพับใบปลิว เป็นกระบวนการปกติในการหาเสียง แต่ กกต.ก็ยังอุตส่าห์ไปจำกัดวิธีการแจกใบปลิวว่า “ห้ามแจกจ่ายเอกสารโดยวิธีการวางโปรยในที่สาธารณะ หรือแจกจ่ายควบไปกับหนังสือพิมพ์วารสาร”
แล้วจะให้แจกด้วยวิธีไหน?
โดยธรรมชาติของการหาเสียงในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา หรือในยุโรป การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ถือเป็นสื่อหลักในการนำเสนอ ประวัติผู้สมัคร นโยบาย แนวทางวิสัยทัศน์ ของพรรคการเมือง ซึ่งมีรายละเอียดครบถ้วน ซึ่งเป็นทั้งข้อมูลในการตัดสินใจ และเป็นทั้งหลักฐานในการผูกมัดพรรคการเมืองในอนาคตอีกด้วย
การที่ กกต.จำกัดวิธีการจ่ายแจกสื่อสิ่งพิมพ์ของผู้สมัครเท่ากับเป็นการปิดกั้นช่องทางการสื่อสารที่สำคัญระหว่างผู้สมัครกับผู้เลือกตั้งอย่างชัดเจน
กฎเหล็กข้อสำคัญ ที่ทำให้การสื่อสารทางการเมือง ที่ถือเป็นหัวใจของการเลือกตั้งพังทลายลงอย่างสิ้นเชิง ก็คือ “ข้อห้ามออกรายการวิทยุโทรทัศน์หรือวิทยุกระจายเสียง ไม่ว่ากรณีใดๆ ในช่วงที่มีประกาศกฤษฎีเลือกตั้ง” และยังห้ามมิให้ “เอกชน สมาคม สถาบันการศึกษา จัดเวทีเสวนาเชิญผู้สมัครหรือพรรคมาแสดงความคิดเห็น”
ความหมายข้อห้ามนี้ มิได้จำกัดสิทธิของผู้สมัครเท่านั้น แต่ยังจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน ในการนำเสนอข่าวการเลือกตั้งอีกด้วย เพราะหากสื่อนำเสนอภาพหรือข่าวของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ก็อาจเข้าข่ายความผิดในข้อนี้ได้
แล้วสื่อจะนำเสนอข่าวอะไรในการเลือกตั้งครั้งนี้!
สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือสำคัญในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล นำเสนอข่าวสาร และวิเคราะห์ข้อมูลให้กับประชาชนหากสื่อถูกปิดกั้นการนำเสนอข่าวสารเพื่อการเลือกตั้ง ก็เท่ากับประชาชนถูกปิดหูปิดตาในการไปเลือกตั้งด้วย
เช่นเดียวกับสถาบันการศึกษาที่ถูกจำกัดสิทธิทางปัญญา เพราะไม่สามารถจะเปิดเวทีความคิด ระดมสมองนักวิชาการหรือนักการเมืองให้มา ร่วมกันหามุมมองแนวทางให้กับอนาคตของประเทศชาติ จากการเลือกตั้งได้เลย!
กฎเหล็ก 18 ข้อนี้ ถือเป็นกฎที่บั่นทอนการสื่อสารทางการเมือง ปิดกั้นข่าวสารมิให้ผู้สมัครส่งสารไปยังสื่อมวลชน มิให้สื่อมวลชนเสนอข่าวไปยังประชาชน และประชาชนได้รับข่าวสารจากผู้สมัครด้วยความลำบากยิ่ง!
นอกจากช่องทางการสื่อสารทางการเมืองจะถูกสกัดกั้นแล้ว ผลเสียหายร้ายแรงที่จะติดตามมาจากกฎหมายที่คุมเข้มในวิธีการสื่อสาร นี้ก็คือ การฟ้องร้อง อันเกิดจากการกระทำผิดข้อบังคับ จะมากมายมหาศาล และนำมาซึ่งการแจก “ใบเหลือง” “ใบแดง” กันอย่างมโหฬาร โดยไม่ต้องสงสัย
ความพยายามของ กกต.ในการที่จะจำกัดขอบเขต พื้นที่ วิธีการและการสื่อสารทุกชนิด ของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในที่สาธารณะ จึงเท่ากับเป็นการผลักดันให้นักการเมืองลงไปหาเสียงใต้ดิน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ !?!?
ที่มา มติชน วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10827 หน้า 6