ทีวีสาธารณะ ช่อง ‘ประชาธิปไตย’ หรือ ช่อง ‘คุณธรรม’

โดย อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา
ประชาไท

 

ครั้งหนึ่ง ในสมัย ‘รัฐบาลชั่วคราว’ ที่นายอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรี เกิดกระแสเรียกร้องว่าประเทศไทยต้องมีทีวีสาธารณะดังเช่น ‘บีบีซี’ ความต้องการในครั้งนั้นได้ก่อรูปให้เกิด ‘ไอทีวี’ ขึ้น ทว่า อายุอันสั้นของการเป็นรัฐบาล ไม่อาจทำให้ไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะเต็มรูปแบบดังฝัน กลายเป็นเพียงการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ที่เอกชนมาแข่งขันประมูลเช่าสัมปทานไปจาก ‘สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี’ (สปน.)

จากนั้นก็เป็นที่รู้กันว่าชะตากรรมของไอทีวีนั้นเป็นเช่นไร ล่าสุด บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ตกอยู่ในฐานะบริษัทที่ล้มละลายเพราะไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานย้อนหลังจำนวนแสนล้านบาทได้ ส่งผลให้ สปน. ต้องยกเลิกสัญญาร่วมงานและดำเนินกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟกับไอทีวี เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา

ส่วนสถานีโทรทัศน์ไอทีวีนั้น เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องต่อสังคม ที่ไม่ต้องให้ไอทีวีหลัง สปน.บอกเลิกสัญญาต้องกลายเป็น ‘ทีวีจอมืด’ ไป จึงปรับเปลี่ยนใหม่ จนปัจจุบัน ไอทีวียังคงทำงานเดิม มีพนักงานทีมข่าวเหมือนเดิม ทำงานในชื่อ ‘ทีไอทีวี’ ภายใต้ ‘สำนักนายกรัฐมนตรี โดยการกำกับของกรมประชาสัมพันธ์’

อย่างไรก็ดี เรื่องเก่าของไอทีวียังไม่จบดี เพราะมีการตั้งคำถามต่อมาว่า ด้วยหลักการตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ว่า “คลื่นความถี่เป็นของประชาชน” นั้น ไฉนเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับไอทีวี ฝ่ายรัฐ โดยกรมประชาสัมพันธ์จึงเข้ามาดำเนินการเสียเอง ทั้งที่ กสช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ป็นองค์กรเดียวที่มีอำนาจตามกฎหมายในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ แถมยังเป็นการดำเนินการโดยใช้สำนักงานและอุปกรณ์ของเอกชนเขาเสียนี่

นอกจากนี้ อีกความค้างคาที่ยังอยู่ คือผู้ถือหุ้นรายย่อยของไอทีวีที่ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลาง ฟ้อง สปน. และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้ถอนร่างกฎหมายแปลงทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะออก และให้ สปน.คืนทรัพย์สิน เครื่องมือ รวมถึงใบอนุญาตประกอบกิจการแก่ไอทีวี ข้อพิพาทนี้ เรื่องก็ยังคงค้างคาอยู่ที่ศาลจนวันนี้

มายุคนี้ ‘รัฐบาลชั่วคราว’ ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ความพยายามผลักดันให้ ประเทศไทยมีทีวีสาธารณะดังเช่น ‘บีบีซี’ ก็กลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้คนชงประเด็นคือนักวิชาการหนุ่มนักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ‘ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’ ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสื่อสาธารณะ ในหัวข้อ “การปฏิรูปโครงสร้างสื่อวิทยุและโทรทัศน์” พร้อมทั้งเป็นคีย์แมนหลักในการผลักดันให้เกิดกฎหมายนี้ขึ้นโดยเร็ว

โดยเร็วในที่นี้คือ ฉวยใช้โอกาสของสภาแต่งตั้งนี้ เป็นช่องทางผลักดันกฎหมายให้ผ่านได้ง่าย ผ่านการร่วมลงชื่อของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอกฎหมาย ‘ร่างพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย’ หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่า “กฎหมายทีวีสาธารณะ”

ในกฎหมายนี้ระบุให้มีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือที่เรียกกันจนชินปากแล้วว่า ‘Thai Public Broadcasting Service – TPBS (ทีพีบีเอส)’

ยังไม่ตกผลึก มาตรา 55 ไอทีวี ใช่คำตอบสุดท้าย?

แล้วก็มาถึงวันรุกฆาตชะตาอนาคตทีวีสาธารณะ ซึ่งรวมไปถึงอนาคตของไอทีวีด้วย เพราะวันนี้ (31 ต.ค.) กฎหมายทีวีสาธารณะ จะเข้าสู่วาระด่วนของ สนช. เป็นการพิจารณาในวาระ 3 ซึ่งสภาจะพิจารณารายงานการศึกษาของกรรมาธิการ หลังจากนำกฎหมายไปปรับแก้นับแต่วันที่เสนอกฎหมายในวาระแรกไปเมื่อ 18 ก.ค. 50

เมื่อ สนช.เห็นชอบ ก็เป็นอันว่า ‘ทีพีบีเอส’ ทีวีสาธารณะของ สนช. ก็จะเริ่มต้นขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นไป

“นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี ถ้ากฎหมายนี้ผ่านในรูปแบบปัจจุบัน จะเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทยที่จะมีการกระจายเสียงสถานีวิทยุโทรทัศน์สาธารณะ” นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และแกนนำคนหนึ่งที่เคยชักชวนภาคประชาชนเข้าไปบุกยึดสถานีโทรทัศน์ไอทีวีให้มาเป็นของประชาชน กล่าว

สิ่งที่ยังค้างคาในเนื้อหากฎหมายนี้อยู่ที่มาตรา 55 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับ ‘ไอทีวี’ ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันว่า จะใช้ช่วงคลื่นใดมาทำทีวีสาธารณะ บ้างเสนอให้หาช่วงคลื่นใหม่ บ้างเสนอให้ใช้ช่อง 11 ซึ่งอยู่ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ ขณะที่เสียงอันดังก็บอกว่า ควรนำไอทีวี มาทำเป็นทีวีสาธารณะ เพราะเป็นคลื่นความถี่ระบบยูเอชเอฟ อีกทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมเตรียมรอเอาไว้อยู่แล้ว

โดยเนื้อหาล่าสุดที่กรรมาธิการแก้ไขในมาตรา 55 มีความว่า

“ให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ คลื่นความถี่ และภาระผูกพันของสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ และของสำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ เฉพาะกิจ (หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ) ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและกรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไปเป็นขององค์การ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทบรรดาที่มีอยู่ หรืออาจจะมีขึ้นระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือบุคคลอื่นใด อันเนื่องจากหรือเพราะเหตุแห่งสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและบริษัท สยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการหรือชั้นศาล แต่ให้องค์การสนับสนุนค่าใช้จ่ายอันเนื่องจากการดำเนินการเกี่ยวกับข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทดังกล่าวให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด”

ข้อความในมาตรา 55 นี้ ระบุชัดว่า กฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อกำหนดให้ไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะ นั่นคือ เมื่อกฎหมายนี้ผ่าน ทั้งคลื่นความถี่ที่เคยใช้ ทรัพย์สิน อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ จะโอนไปเป็นของทีพีบีเอสทันที

สิ่งที่น่าจินตนาการต่อไปคือ หากมาตรา 55 นี้ถูกถอนหรือแก้ไขให้ออกมาในลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับไอทีวีแล้ว ทั้งคลื่นความถี่ รวมไปถึงเครื่องมือต่างๆ ที่ทีไอทีวีใช้อยู่นั้น จะถูกแปรรูปไปในลักษณะใด ภายใต้การควบคุมของใคร แล้วหน้าตาของทีวีสาธารณะตามกฎหมายนี้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้หรือไม่

ทั้งนี้ ในมาตรา 55 นี้เป็นมาตราที่มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติเอาไว้ คือนายอรรคพล สรสุชาติ สนช. และกมธ. (สงวนคำแปรญัตติ หมายถึง ขอแก้ไขกฎหมายแล้ว กรรมาธิการส่วนใหญ่ไม่เห็นคล้อยตามให้แก้ตามนั้น ผู้ขอแก้ไขมีสิทธิสงวนคำแปรญัตติ เพื่ออภิปรายต่อในสภาเป็นครั้งสุดท้าย) โดยเขาเสนอให้ตัดทั้งมาตราออก เพราะเห็นว่าเรื่องทีวีสาธารณะ ควรมองให้กว้างกว่าเพียงสถานีโทรทัศน์ไอทีวีหรือทีไอทีวี อีกทั้งสถานีดังกล่าวยังมีข้อติดขัดในกฎหมายอีกหลายเรื่อง

นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงไปถึงมาตรา 59 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของกฎหมายนี้ที่ระบุว่า ระหว่างที่ยังไม่มี กสช. ก็ให้ใช้คลื่นความถี่ตามที่ได้รับโอนในมาตรา 55 และได้รับยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งอาจจะกลายเป็นการออกกฎหมายเพื่อยกเว้นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

จอน มีความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า การนำโครงสร้างพื้นฐานที่ไอทีวีมีอยู่เดิมจะทำให้ทีวีสาธารณะเกิดขึ้นได้เร็ว และแม้ว่าร่างกฎหมายทีวีสาธารณะฉบับนี้จะมีแนวโน้มที่ไม่ใช่ทีวีสาธารณะที่ดีเลิศตามอุดมการณ์ แต่หากในวันนี้ (31) บทเฉพาะกาลในมาตรา 55 และ 59 ถูกเปลี่ยน จะเป็นการชะลอ และเราคงไม่ได้เห็นทีวีสาธารณะเกิดได้ในระยะใกล้ๆ นี้

ทีพีบีเอส จะเป็นทีวีของประชาชนไหม?

ปัญหาที่ผ่านมาของสื่อโทรทัศน์นั้น ทำให้หลักเกณฑ์ใหญ่ที่คาดหวังกันเกี่ยวกับทีวีสาธารณะ คือต้องปราศจากการแทรกแซงจากทั้ง ‘อำนาจรัฐ’ และ ‘อำนาจทุน’

จอนกล่าวว่า นิยามทีวีสาธารณะ คือต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติรัฐบาลโดยตรง ไม่อยู่ใต้ธุรกิจโดยตรง ซึ่ง ‘หัวใจ’ อยู่ที่โครงสร้าง

เมื่อดูโครงสร้าง ทีพีบีเอสที่ถูกออกแบบไว้ในกฎหมายนี้กำหนดให้มี ‘คณะกรรมการนโยบาย’ 9 คน (สายกิจการสื่อ 2 คน, สายบริหารจัดการองค์กร 3 คน, สายส่งเสริมประชาธิปไตย พัฒนาชุมชน การเรียนรู้และศึกษา การคุ้มครองพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว หรือ ส่งเสริมสิทธิผู้ด้อยโอกาส 4 คน)

คณะกรรมการนโยบายจะแต่งตั้ง ‘ผู้อำนวยการทีพีบีเอส’ และแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการบริหาร’ ซึ่งมาจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารขององค์การไม่เกิน 6 คน และมีกรรมการบริหารอื่นอีก 4 คน ซึ่งมาจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีผลงานปรากฏในทางสาธารณะทางด้านสื่อมวลชน การบริหารจัดการ สังคม วัฒนธรรม หรือนิติศาสตร์ ทั้งนี้ ผู้อำนวยการพีบีเอส ถือเป็นประธานกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง

คณะกรรมการนโยบายมาจากการสรรหาและแต่งตั้งโดย ‘คณะกรรมการสรรหา’ จำนวน 15 คน ประกอบด้วย ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์, ประธานสภาสถาบันนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย, ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน, ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, ประธานสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระบรมราชูปถัมภ์, ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย,นายกสภาทนายความ, ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

จอนเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาแล้ว อาจจะเห็นได้ว่าไม่อาจเป็นตัวแทนทุกกลุ่มในสังคมไทยได้ เพราะหากจะให้ครบ ต้องรวมไปถึง กลุ่มแรงงาน เกษตรกรรายย่อย คนไร้สัญชาติ คนด้อยโอกาส ฯลฯ แต่เขาเห็นว่า นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่พอใช้ได้ และแม้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาอาจจะดูไม่ครบ แต่อาจจะทำให้องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายครบได้

เขากล่าวว่า ความจริงแล้วคณะกรรมการนโยบายน่าจะมี 20 ถึง 30 คนเลยก็ได้ เพื่อจะให้ได้ตัวแทนครบจากทุกส่วนของสังคม เพราะคณะกรรมการนโยบายควรมีองค์ประกอบที่ครบทุกด้าน เช่น น่าจะมีตัวแทนจากกลุ่มคนไร้สัญชาติ ตัวแทนภาคธุรกิจ เกษตรกรรายย่อย ซึ่งทั้งหมดคือทุกคนที่ร่วมกันใช้ประโยชน์ในสังคม

“มันอยู่ที่ดีกรีความคาดหวัง” จอนกล่าวถึงกฎหมายฉบับนี้ในฐานะที่จะนำไปสู่สื่อสาธารณะที่น่าจะเป็นของประชาชน และเสริมว่า จากประสบการณ์สมาชิกวุฒิสภาที่เคยเข้าร่วมและพบอุปสรรคในกระบวนการร่างและแก้ไขกฎหมายนั้น เมื่อมาดูเนื้อหาล่าสุดของกฎหมายทีวีสาธารณะ ทำได้เท่านี้ก็พอจะเรียกได้ว่าน่าพอใจแล้ว

เขากล่าวว่า ทีวีสาธารณะจะเป็นทีวีของประชาชนจริงหรือไม่ เป็นเรื่องต้องดูกันต่อไป ถ้าเป็นองค์กรของประชาชนจริง มันต้องเป็นองค์กรที่แทนผลประโยชน์ของผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทย ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคม

จอนกล่าวว่า เราต้องการสถานีที่ปลอดจากรัฐโดยตรง แม้ในร่างกฎหมายฉบับนี้จะไม่สามารถให้หลักประกันร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะปลอดจากอำนาจรัฐและทุนได้ แต่มันก็มีแนวโน้มที่ดี เพราะโครงสร้างหลักมาจากกระบวนการสรรหาที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ โดยนายกรัฐมนตรีไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธ ซึ่งถ้าการเมืองจะแทรกแซง ก็ต้องมาแทรกที่กรรมการสรรหา ซึ่งอยู่ที่ว่ากรรมการสรรหาจะเป็นตัวของตัวเองหรือยอมถูกซื้อ

ชะตากรรมแรงงานสื่อไทย ‘สหภาพทีวีสาธารณะ’ ไร้อนาคต

ในมาตรา 9/1 ที่ถูกเพิ่มขึ้นมานั้น ระบุให้ทีพีบีเอส ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ พนักงาน และลูกจ้างขององค์การ ต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

นั่นอาจหมายความว่า สื่อสาธารณะนี้ จะเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ไม่ใช่ราชการ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่เอกชน แต่ดำเนินการในลักษณะพิเศษที่มีความเป็นอิสระ แม้เจตนาจะเพื่อการบริหารที่คล่องตัว และค่าตอบแทนที่แข่งขันกับบริษัทเอกชนได้ แต่อีกด้านหนึ่ง คือความเป็นอิสระนี้มาจากการไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายสำคัญหลายฉบับ ซึ่งอาจทำให้เสียสิทธิไปหลายด้าน เช่น ไม่เพียงแต่เมื่อคนในองค์กรมีปัญหาแล้วไม่อาจฟ้องร้องศาลแรงงานได้เท่านั้น แต่ยังสูญเสียสิทธิบางประการ เช่น สิทธิในการรวมตัวกันเพื่อก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงาน’ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

จอนกล่าวถึงกรณีนี้ว่า วิธีการเพิ่มเติมถ้อยคำแบบนี้เข้ามาในกฎหมาย ถือเป็นธรรมเนียมวิธีการเขียนกฎหมายองค์กรที่นักกฎหมายมักมีความรังเกียจมากต่อการเกิดสหภาพแรงงาน การรวมตัว เมื่อเขียนกฎหมายไว้เช่นนี้แล้ว ทำให้การรวมตัวกันของแรงงานก็เกิดขึ้นไม่ได้ จะสไตร์คก็ไม่ได้ หยุดงานก็ไม่ได้ ประกันสังคมก็ไม่ได้ หรืออาจจะมีการรวมตัวกันทำกิจกรรมได้ก็จริง แต่ก็จะไม่มีเครื่องมือในการต่อรองที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ลักษณะเช่นนี้ก็กำลังเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยที่กำลังออกนอกระบบทุกแห่ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการเห็นการเจริญเติบโตของแรงงานไทย ไม่ต้องการเห็นการผนึกกำลังของกระบวนการผู้ใช้แรงงานไทย และเป็นวิธีการที่นักร่างกฎหมายชอบทำ ที่จะไม่ยอมให้องค์กรสาธารณะ องค์กรอิสระทั้งหลายมีสหภาพ ซึ่งเป็นความคิดที่ล้าหลัง

สไตล์ทีพีบีเอส : เชยเฉิ่ม หรือ คุณธรรมจ๋า

ทีพีบีเอส ไม่ใช่ทีวีเก็บค่าสมาชิก เป็นทีวีไม่มีโฆษณา รับแต่ผู้สนับสนุน มีรายได้หลักมาจากภาษีสุราและยาสูบในอัตรา 1.5% ที่เก็บได้ในแต่ละปี แต่ให้มีรายได้สูงสุดไม่เกินสองพันล้านบาท ทั้งนี้ รายได้สูงสุด ปรับพิจารณาใหม่ทุกๆ สามปี และปรับตามอัตราเงินเฟ้อ

สิ่งใหม่ที่จะมีในทีพีบีเอสนั้น คือกฎหมายนี้กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้ง ‘สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ’ จำนวนไม่เกิน 15 คน ซึ่งก็ไม่ได้มีบทบาทอะไร นอกจากเพียงประชุมกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แล้วเสนอข้อคิดเห็น คำแนะนำเกี่ยวกับกิจการของทีพีบีเอส

หาก 10 ปีนับจากกฎหมายนี้ใช้บังคับ จะต้องมีการทบทวนบทบาทในการสร้างและส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะของประชาชนของทีพีบีเอส

จอนกล่าวถึงประเด็นใหญ่ที่เขาไม่เห็นด้วยในร่าง พ.ร.บ.นี้ คือไม่เห็นด้วยที่จะให้ที่มาของรายได้มาจากภาษีเหล้าและบุหรี่

แทนที่จะทำแบบนั้น จอนเห็นว่าน่าจะเก็บเงินจากทีวีช่องต่างๆ ที่ได้สัมปทานไปจากรัฐ หรืออาจเก็บภาษีจากโฆษณาทางโทรทัศน์ พูดง่ายๆ คือ เอาทีวีเอกชนซึ่งมีลักษณะงมงายมาช่วย ใช้ภาษีจากความงมงายน้ำเน่าที่ขาดมิติทางการศึกษา มาส่งเสริมรายการที่มีประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมา เอกชนก็ได้ประโยชน์มหาศาลแล้ว น่าจะนำมาส่งเสริมเรื่องนี้บ้าง

นอกจากไม่พอใจเรื่องที่มารายได้ซึ่งมาจากภาษีเหล้าบุหรี่แล้ว จอนยังไม่เห็นด้วยนักที่มีการเติมคำว่า ‘วัฒนธรรม’ เข้าไปในวัตถุประสงค์

“ผมเข้าใจว่า คนที่โปรโมทกฎหมายนี้ คือคนที่คอยเตือนให้เราแปรงฟัน ให้เราสุขภาพดี อยู่ในร่องในรอย เป็นคนดี และผมเดาว่าการที่กฎหมายนี้มันออกมาได้ก็มีบางส่วนจากตรงนี้ แต่ใจผมอยากเห็นทีวีสาธารณะเป็นช่องประชาธิปไตย” จอนกล่าว

จอนขยายความว่า มีแนวคิดสองแบบเกี่ยวกับทีวีสาธารณะ คือเป็น ช่อง ‘ประชาธิปไตย’ ไม่เช่นนั้นก็เป็น ช่อง ‘คุณธรรม’ ซึ่งที่ผ่านมา กระบวนการของการผลักดันกฎหมายทีวีสาธารณะก็ได้อาศัยความคิดแบบช่องคุณธรรมทำให้มันเกิดขึ้นมา จนถึงขั้นนี้ เขาคิดว่าหากต้องการทีวีสาธารณะที่เป็นช่องประชาธิปไตย คงต้องมาสู้กันต่อ

เขากล่าวอย่างติดตลกว่า ถ้าจะสอนให้คนแปรงฟันในทีวีสาธารณะ ก็ต้องมาจากความเห็นอันหลากหลาย ไม่ใช่มาจากหมอที่มาสั่งสอน

“สำหรับทีวีสาธารณะนั้น ไม่ต้องการช่องแปรงฟัน” จอนกล่าว

เขาย้ำถึงความสำคัญของทีวีสาธารณะ ในฐานะที่ควรจะเป็นช่องประชาธิปไตยว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ประชาชนได้ตระหนักรับรู้เรื่องทางสังคมต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการพิจารณาตัดสินใจว่า จะลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่พรรคการเมืองใด

อย่างไรก็ตาม แม้เนื้อหาในกฎหมายนี้จะไม่ขี้ริ้วนัก แต่ทีวีสาธารณะที่อาจจะมีผู้คาดหวังว่าจะเป็นช่องประชาธิปไตย คงใช้ไม่ทันการณ์การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ธ.ค. นี้ เพราะหากกฎหมายผ่านบังคับใช้แล้ว กฎหมายระบุให้ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ทีพีบีเอสอยู่ภายใต้การดำเนินการของ ‘คณะกรรมการนโยบายชั่วคราว’ ไปก่อนจะมีคณะกรรมการชุดจริง ซึ่งมีเวลา 180 วันในการสรรหาให้เสร็จ ช่วงเวลาสุญญากาศนี้ บังเอิญเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ทีพีบีเอส ก็จะดำเนินการภายใต้คณะกรรมการชั่วคราว 5 คน อันมาจาก “การแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี”

ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนหลายฝ่ายคงรู้สึกเสียดายที่สิ่งที่ร่วมผลักดันมาตลอดนั้น มาลงเอยด้วยวิธีการใช้ทางลัด ผ่านสภาแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร หาใช่กระบวนการผลักดันจากภาคประชาชนที่ต่อสู้มาตลอดทศวรรษ

 

แท็ก คำค้นหา