แก้ปัญหาภาคใต้ด้วยการจำกัดเสรีภาพสื่อและพื้นที่ความจริง!!??

ประชาไท

 

โดย พิราบไร้นาม
เป็นเพียงข่าวเล็กๆ จากงานสัมมนาปลายสัปดาห์ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ แต่เป็นสถานการณ์อันบีบคั้นของสื่อมวลชนที่ทำข่าวอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้

วันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา หากใครที่เป็นสื่อมวลชนแล้วเข้าไปนั่งอยู่ในที่ประชุม “เครือข่ายประชาสัมพันธ์รวมใจเยียวยาสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้” ซึ่งจัดโดยสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 6 และกรมประชาสัมพันธ์ ที่โรงแรมเจ.บี หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ก็คงจะรู้สึกอึกอัดและร้อนรุ่มที่ใบหน้าพอสมควร

เพราะวันนั้นทั้งวัน เหมือนโฟกัสของผู้จัด รวมทั้งวิทยากรที่อยู่บนเวทีได้จัดการ “สอน” สื่อมวลชนทั้งหมด ทั้งที่มาจากส่วนกลางและเป็นสื่อมวลชนท้องถิ่นในเรื่องการทำข่าวปัญหาภาคใต้ เหมือนกับพยายามบอกว่าสิ่งที่สื่อทำมาทั้งหมดนั้นคือความผิดพลาด สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เพิ่มขึ้นเพราะฝีมือของสื่อมวลชนนั้นเอง

ประโยค “…มักง่าย” จึงหลุดออกมาจากนักวิชาการท่านหนึ่ง

โดยหลงลืมไปว่า เพราะความมักง่ายที่ว่าของสื่อมวลชน ทำให้นักวิชาการท่านนี้มีสถิติ ข้อมูลไปวิเคราะห์ออกสื่อสร้างชื่อเสียงอยู่บ่อยๆ

แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือการประกาศจะให้สื่อมวลชนทุกคน “ทำบัตรนักข่าว” กับทางฝ่ายความมั่นคงก่อนจะได้รับอนุญาตให้ทำข่าวในพื้นที่ของ พ.อ.อัคร ทิพย์โรจน์ โฆษกกองทัพบกซึ่งควบตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์กองกำลังผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ด้วยอีกตำแหน่ง

ทั้งที่สื่อมวลชนทุกคนก็มีบัตรนักข่าวจากต้นสังกัดต้นเองเป็นสิ่งยืนยันสถานะอยู่แล้ว และเปิดโอกาสให้ผู้สงสัยทุกคนตรวจสอบกับต้นสังกัดได้ แต่ก็พยายามจะยัดเยียดอีกหนึ่งบัตรให้มาห้อยคอ

เพราะฉะนั้นข้อสังเกตเรื่องความพยายามจะจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนและพื้นที่ความจริง(ทุกๆ ด้าน) ของกองทัพกับสื่อมวลชนต่อการทำข่าวในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง และเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

แต่เท่าที่สังเกต ยังไม่มีเสียงสะท้อนจากฝ่ายสื่อมวลชนในพื้นที่ออกมาในขณะนี้…

ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ทาง พตท.เคยมีความพยายามจะรวบรวมสื่อมวลชนทั้งหมดที่ ‘วิ่งข่าว’ อยู่ในพื้นที่ ตั้งเป็นโต๊ะข่าว “สื่อใต้สันติ” แต่ก็ถูกต่อต้านจากสื่อมวลชนหลายราย เลยต้องพับเก็บและเงียบหายไป

รอบนี้จึงต้องการทำบัตรนักข่าว ถ้าไม่มีบัตรนักข่าวก็จะทำข่าวในพื้นที่ไม่ได้…

ถ้าไม่ลงมาทำข่าวในภาคใต้ สื่อมวลชนทั่วไปคงพอจะจินตนาการออกว่าความยากของการทำข่าวในพื้นที่ 3 จังหวัดมีมากน้อยแค่ไหน

เอาเป็นว่าเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตกันทีเดียว อีกทั้งยังเป็นสื่อมวลชนที่ไม่ได้มีอภิสิทธิ์เรื่องการพกปืนอย่างที่เข้าใจกัน แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นสตริงเกอร์ เป็นเพียงตัวแทนข่าวของสื่อต่างๆ ไม่ได้มีเงินเดือนหรือได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ ค่าจ้างนั้นก็ได้เป็นรายชิ้น แต่สำนึกของความเป็นสื่อก็มีไม่น้อยไปกว่าสื่อมวลชนโดยอาชีพ และไม่เคยได้รับพื้นที่ในการอธิบายเรื่องราวใดๆ

อีกประเภทหนึ่งคือสื่อมวลชนที่ถูกโรงพิมพ์หรือออฟฟิศส่งลงมาปฏิบัติงาน ส่วนใหญ่เป็นสื่อมวลชนโทรทัศน์ หรือช่างภาพ ทั้ง 3 จังหวัดจึงมีสื่อมวลชนขวักไขว่ติดตามสถานการณ์กันอยู่มากมาย

และสื่อเหล่านี้เองที่ตกเป็น ‘จำเลย’ ของสถานการณ์ภาคใต้กันมานานนม โดยที่ไม่มีโอกาสแก้ตัว…

ครั้งหนึ่ง สมาคมนักข่าวฯ เคยก่อตั้ง ‘ศูนย์ข่าวอิศรา’ นัยว่าเพื่อลบล้างสายตาที่มองว่าสื่อเป็นจำเลย กระตุ้นไฟความรุนแรงให้ลุกโชน โดยเรียกตนเองว่าเป็นสื่อสันติภาพ เกาะติดปัญหาภาคใต้แล้วอธิบายปรากฏการณ์ ทำความจริงให้ปรากฏ

แต่ปัจจุบันโดยปัญหาภายในของสมาคมนักข่าวฯ ทำให้รูปแบบ “สื่อสันติภาพ” นั้นได้หายไปแล้ว กลายเป็นเว็บไซต์ข่าวรายวันปัญหาภาคใต้ปกติธรรมดา

ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาภาคใต้ท่านหนึ่งบอกว่า แนวคิดเรื่องสื่อสันติภาพนั้น ใน 3 จังหวัดทำได้ยากยิ่ง “เพราะสื่อมวลชนส่วนใหญ่ถูกควบคุมทิศทางข่าวโดยทหาร”

ทำข่าวก็ต้องตามไปทำกับทหาร (“ไปเองไม่ปลอดภัย” คือเหตุผลอันดับหนึ่งที่นายทหารจะบอกกับสื่อมวลชนทุกคนก่อนเข้าพื้นที่ ถ้าจะเข้าพื้นที่ให้รอทหารแต่งตัว เตรียมรถกวาดตะปูเรือใบให้เสร็จสิ้นเสียก่อน) และยังมีงานประชุม สัมมนา แถลงข่าว ฯลฯ ที่จัดโดยทหาร หรือไม่ก็ ศอ.บต. นักข่าวเหล่านี้ถูกจัดการเรียบร้อย กระทั่งบางงานพิมพ์ข่าวแจกไว้ก่อนงานเริ่มเสร็จสรรพ หรือในกรณีเกิดเหตุการณ์ก็จัดมุมให้ถ่ายรูปเรียบร้อย เว้นแต่นักข่าวที่ทำข่าวเจาะ หรือข่าวศิลปะวัฒนธรรม ชุมชน สังคม ส่วนใหญ่ก็ลงมาจากส่วนกลาง จึงไม่ต้องไปร่วมสังฆกรรมกับทหารเหมือนนักข่าวในพื้นที่

เหตุผลต่อมา คือเรื่องความต้องการของโรงพิมพ์ หรือ กองบรรณาธิการของแต่ละสื่อ โดยเหตุผลความต้องการของตลาดผู้บริโภค คนไทยชอบข่าวอาชญากรรม การเสียดสี เยาะเย้ย ถางถางหรือการกระหน่ำซ้ำเติมอย่างไม่ลืมหูลืมตา เรื่องจริงที่ไม่เคยมีเสียงอธิบายคือ วลี “โจรใต้” สำนวน “โจรมุสลิม” คำพาดหัว “โจรมุสลิมชั่ว” ครั้งแรกไม่ได้เขียนจากมือของนักข่าวที่ทำข่าวอยู่ในพื้นที่

เพราะเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของนักข่าวในพื้นที่คือคนมุสลิม…

แต่คำเหล่านี้ อคติเหล่านี้หลุดมาจากฝั่งทหาร ตำรวจ อย่างที่รู้กัน เช่นสำนวน “โจรกระจอก” ที่เคยผ่านหู แต่แล้ววันหนึ่ง สื่อมวลชนกลับถูกตีตราบาปว่ามีส่วนในการทำให้ไฟใต้ลุกโชน จนกองทัพต้องลุกขึ้นมาสั่งสอนสื่อโดยความหมายว่า “อย่ามักง่าย” หรือ “คุณต้องสำนึกผิดและควรกลับใจมาช่วยฝ่ายความมั่นคงบ้าง”

พ.อ.อัคร ยกว่า นี่คือ “สงครามข่าวสาร” เป็น Information Operation หรือ “สงครามช่วงชิงมวลชนด้วยข้อมูลข่าวสาร”

ตัวผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่าสงครามข่าวสารของ พ.อ.อัครกับผู้เขียนตรงกันหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ สงครามข่าวสารของปัญหาภาคใต้ที่สื่อมวลชนโดยสำนึกและจิตวิญญาณต้องระมัดระวังไม่ให้กลายเป็น Propaganda หรือ “โฆษณาชวนเชื่อ” ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สำนึกที่มีอยู่แล้วของสื่อมวลชนต่อสถานการณ์ภาคใต้ และด้วยความหวังว่าจะมีส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างได้ผล คือการรายงานข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ให้ข้อมูล ความรู้ และภาพรวมของสถานการณ์ตามความเป็นจริง

หากฝ่ายน้ำเงินมาร้องขอให้สะท้อนฝ่ายแดงเป็นฝ่ายอธรรม สะท้อนฝ่ายน้ำเงินเป็นฝ่ายธรรมะ ก็ไม่ใช่วิสัยของสื่อมวลชนที่ดี

ปัญหาที่มี เมื่อไหร่จะถูกสะท้อนอย่างเป็นจริง เพื่อให้มีการปรับนโยบายแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดเสียที…

คำร้องขอของท่านเสธ.อัครว่า “ขอให้สื่อรายงานข้อเท็จจริงอย่าบิดเบือน” นั้นสื่อมวลชนทุกคนยินดีปฏิบัติเพราะถือเป็นหน้าที่อยู่แล้ว แต่คำกล่าว “กองทัพอยากจะเรียกร้องให้สื่อชุมชนเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังในการทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการกองกำลังสื่อสารมวลชนร่วมกับสื่อของรัฐ” นั้น เกรงว่าจะทำให้ไม่ได้ เพราะสื่อไม่ใช่ “กองกำลัง” และไม่ได้มีหน้าที่ “Propaganda” ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

และพื้นที่ 3 จังหวัดไม่ใช่พื้นที่ของกองทัพ ไม่ใช่พื้นที่ที่มีแต่เรื่องความมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นพื้นที่ของอาแบ อาบัง เม๊าะ ก๊ะ เด๊ะ ฯลฯ มากมาย ที่ยังรอให้สื่อมวลชนลงไปสะท้อนแง่มุมของวิถีชีวิต ความทุกข์ยาก หรือความงดงามของพื้นที่อีกมาก

พื้นที่ความจริงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่พื้นที่จะถูก “จัดการ” โดยฝ่ายใด หากความจริงคือความจริง สื่อมวลชนก็มีหน้าที่ในการนำเสนอ หรือกรณีที่นำเสนอข่าวเท็จ หรือบิดเบือน หากมันกระทบหรือทำให้บ้านเมืองเสียหาย ผู้บริโภคหรือแม้แต่ทางกองทัพก็สามารถจัดการได้ตามกฏหมาย หรือจะร้องเรียนเล่นงานตามจริยธรรมของสื่อมวลชนก็สามารถกระทำได้

ไม่ใช่ความพยายามเข้ามาแทรกแซงปิดกั้นเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและจัดการข้อเท็จจริง…

ทุกวันนี้สื่อมวลชนส่วนใหญ่ก็เข้าพื้นที่ลำบากอยู่แล้ว เพราะคนในพื้นที่เชื่อตามคำป่าวประกาศว่าสื่อเป็นต้นเหตุในการสร้างความรุนแรง นานวันเข้า จะตัดสินใจเข้าไปทำข่าวแต่ละครั้งต้องติดต่อให้ทหารนำไปก่อนทั้งสิ้น หากดึงสื่อเข้าไปร่วมมือโดยตรงกับฝ่ายความมั่นคง ไหนเลยจะทำหน้าที่สื่อสารความจริงและทุกข์ยากของประชาชนได้อีก

หยุดตราบาปให้สื่อ หยุดจำกัดเสรีภาพและพื้นที่ข่าวสาร ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ด้วยความเข้าใจต่อพื้นที่และสถานการณ์ คือการแก้ปัญหาทางหนึ่ง แต่หากยังฟาดงวงฟาดงากล่าวหาอยู่เช่นนี้ เส้นทางสู่สันติภาพในภาคใต้ก็ยังคงลางเลือนอยู่เช่นเดิม.

โดย : ประชาไท วันที่ : 22/10/2550

แท็ก คำค้นหา