เสรีภาพจากความกลัว คือความมั่นคงของชาติ

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
ประชาไท

 

ความมั่นคงคืออะไร ผมออกจะไร้เดียงสาเอามากๆ กับคำๆ นี้ ถ้าจะบอกว่า เป็นเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดน ก็ไม่เห็นว่าในโลกสมัยนี้ หรือในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านที่รายล้อมและมีระบบเศรษฐกิจผูกพันกันแน่นหนาซับซ้อนแบบนี้ จะมีกองทัพใดบุกมายึดบ้านยึดเมือง เพราะบุกมาได้ก็ปกครองไม่ได้ ไม่มีความคุ้มค่าใดๆ เอาเสียเลย

หรือถ้าบอกว่า ภัยความมั่นคงมาจากการแบ่งแยกดินแดนอย่างกรณีความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเช่นนั้นอะไรคือต้นเหตุของความไม่สงบเหล่านี้อันอาจจะถือว่าเป็นภัยคุกคาม จนบัดนี้เราก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้

แน่นอนอาจจะมาจากกลุ่มคนหรือขบวนการ แต่กลุ่มคนเหล่านี้มาจากไหน เกิดหรือผุดขึ้นมาจากที่ใด เราก็ไม่เคยยอมรับหรือหาข้อสรุป หากจะบอกว่า เกิดขึ้นมาจากอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ถ้าเช่นนั้นก็ยังต้องถามอีกว่า อยู่กันดีๆ จะมีใครมาแยกดินแดนทำไม หากไม่ใช่เพราะความแตกต่างกันทำให้ปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะกลไกรัฐนั่นแหละตัวดีที่บีบที่บังคับให้ความไม่มั่นคงเหล่านี้เกิดขึ้น

และถ้าเป็นเช่นนั้น อะไรคือภัยคุกคามความมั่นคง จะให้รัฐที่ไหนไปปราบตัวเองที่กดขี่และเป็นภัยต่อความมั่นคงเสียเอง จะให้ กอ.รมน.ที่ไหน ไปแก้ปัญหาความมั่นคงที่ตัวเองอาจจะเป็นผู้ก่อขึ้น ถ้าเช่นนั้น กฎหมายซึ่งให้อำนาจกลไกเหล่านี้ทำงานได้ตามสะดวกล้นฟ้าต่างหากที่เป็นภัยต่อความมั่นคงเสียเอง ไม่ใช่หรือ

ผมถึงบอกว่า ผมไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ‘ความมั่นคง’

ที่ผ่านมา ความหมายของความมั่นคงนั้น ตีความได้กว้างใหญ่ไพศาลมาก รู้ไหมครับทำไมองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอทุกสาขาถึงร่วมใจกันและเป็นเอกภาพในการคัดค้านกฎหมายความมั่นคงที่ผ่านมติ ครม. ออกมา ก็เพราะเอ็นจีโอทุกสายงาน ล้วนแล้วแต่มีโอกาสที่จะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงได้ทั้งนั้น

หากคุณต่อต้านการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม คุณอาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงได้ คุณอาจจะโดนข้อหารับเงินต่างชาติก็เป็นภัยต่อความมั่นคง คุณไปปรึกษาฝรั่งต่างชาติ คุณก็ง่ายที่จะถูกเหมารวมได้ถ้าเขาไม่ชอบคุณ ถ้าคุณมีคนมุสลิมเป็นเจ้าหน้าที่ คุณก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกตราหน้าหรือผูกโยงเข้าไว้ในข้อหา กรณีอย่างการประท้วงการวางท่อก๊าซที่จะนะ จ.สงขลา ก็คงเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างแน่นอน ทั้งนี้ก็เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการปิดปาก ปิดป้องการคัดค้าน

เชื่อไหมว่า ศิลปินผู้วาดภาพ ‘ภิกษุสันดานกา’ มีโอกาสเป็นภัยต่อความมั่นคงได้เช่นกัน ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูงทั้งหลาย

กรณีการล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวอย่าง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ก็ได้รับการอธิบายให้คนเชื่อได้ว่าเป็นเรื่องความมั่นคง

ไปดูการประกาศกฎอัยการศึก หรือการไม่ยอมยกเลิก ก็ล้วนแต่ตอบว่า ‘เพื่อความมั่นคง’ การจัดตั้งกลไก กอ.รมน. ลงไปถึงระดับหมู่บ้านในปีที่ผ่านมา ก็เพื่อป้องกัน ‘กลุ่มอำนาจเก่า’ นี่ก็ปัญหาความมั่นคง สรุปแล้วสิ่งเหล่านี้มันคือความมั่นคงของใคร

เรามีกองอำนายการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) หน่วยงานนี้มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว และที่ผ่านมาเกือบครึ่งศตวรรษ ความหมายของความมั่นคงก็ค่อยๆ ถูกนิยามร่วมกันในสังคม แต่ทำไมยังต้องออกกฎหมายใหม่ขึ้นมา

พูดตรงๆ เลยก็เพราะความต้องการอำนาจของหน่วยงานหรือผู้ปกครองทหารในโลกและสมัยที่ไม่ต้องการทหารอีกแล้ว

แม้กฎหมายฉบับที่กำลังร่างและเรากำลังร่วมคัดค้านนี้จะให้อำนาจกับนายกฯ แทน ผบ.ทบ.เพื่อลดแรงกดดันแล้วก็ตาม แต่นั่นยิ่งแล้วใหญ่ เพราะถ้าไปอ่านรายละเอียดดีๆ บวกเข้ากับวัฒนธรรมอำนาจแบบไทยๆ นอกจากความพยายามร่างกฎหมายฉบับนี้สมควรจะถูกประณามแล้ว เรายังอาจจะต้องประณามความพยายามตบตาและหลอกลวงประชาชนของผู้มีส่วนร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย เพราะนายกฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดตามกฎหมายฉบับนี้แต่เพียงในนามเท่านั้น โดยเฉพาะในสมัยที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลต้องอ่อนแอและมาจากรัฐบาลผสม

เชื่อไหมครับ คุณจะได้รับการอธิบายจากผู้รับผิดชอบ ผลักดัน หรือผู้ได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ กระทั่งคุณเองก็อาจจะเชื่อว่า “จะไปกลัวอะไร คนดีไม่เดือดร้อนหรอก” เหมือนที่ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 ใช้วาทะนี้อธิบายเมื่อครั้งไม่ยอมยกเลิกกฎอัยการศึกตามเสียงเรียกร้อง

วาทะประเภทนี้ ‘จบ’ ครับ ไม่ต้องเถียงเลย ไม่ต้องมีกฎหมายเลย ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญ ใช้สามัญสำนึกในการปกครองเป็นพอ ไม่ต้องห่วง “คนดีไม่เดือดร้อน” แน่นอน

มาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สั่งประหารใครก็ได้โดยไม่ต้องขึ้นศาล คนดีก็ไม่เดือดร้อน เพราะคนที่ตายล้วนแต่เป็นคนไม่ดี (ไม่เชื่อไปถามคนที่ตายดูสิ)

สำหรับผม อะไรคือภัยคุกคามความมั่นคงฯ โน่นไงครับ กฎหมายหมิ่นฯ กฎหมายคอมพิวเตอร์ กฎหมายการพิมพ์ฯ ฯลฯ ที่อยู่ดีๆ เราพูดด้วยเหตุด้วยผล เราก็ถูกเฝ้ามอง เราแค่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เราก็ต้องอยู่ในภาวะไม่มั่นคง

ลองดูเถิดครับ ลองพิจารณาดู ตัวอย่างต่างๆ ข้างต้น ทันทีที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ปรากฏขึ้นมา ความไม่มั่นคงก็เกิดขึ้นแล้วใช่ไหมครับ

สิทธิเสรีภาพของประชาชน คือความมั่นคงสูงสุดของของชาติครับ ไม่ใช่ความมั่นคงในอำนาจหรือผลประโยชน์ของทหารหรือผู้มีอำนาจคนไหน

โดย : ประชาไท วันที่ : 23/10/2550

แท็ก คำค้นหา