คำสารภาพของนักข่าวโทรทัศน์ (จบ)

โดย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

 

ประสบการณ์และอำนาจของวัฒนธรรมสมยอม

นักข่าวจากช่อง11อีกคนหนึ่งเล่าถึงการเริ่มต้นทำงานของตนเองว่า “ตั้งแต่ลงสนามข่าวครั้งแรก หัวหน้าบอกเลยว่าเวลาไปถึงให้แนะนำตัวกับหน้าห้องรัฐมนตรีว่าถูกส่งมาทำข่าวประชาสัมพันธ์ นักข่าวช่อง11จะถูกฝังหัวมาเลยว่ากรมประชาสัมพันธ์เป็นสื่อของรัฐบาล

ขณะที่อดีตนักข่าวไอทีวีเล่าประสบการณ์ที่สัมผัสในสถานีโทรทัศน์ระบบราชการว่า “จากเคยทำงานในองค์กรข่าวที่อิสระสุดโต่งแถวหน้าของประเทศกลับต้องมาทำที่ช่อง 11 เราก็หวังว่าจะเอาประสบการณ์จากไอทีวีไปเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง

“เราพบว่าวัฒนธรรมองค์กรสำคัญกว่าประสบการณ์ของคน เพราะมันสามารถเปลี่ยนคนไปได้เลย ช่วงที่อยู่ก็ยอมรับการเซนเซอร์ตัวเองไม่มองประเด็นที่รู้ว่าต่อให้ทำยังไงทำให้ตายก็ออกช่อง 11 ไม่ได้ เราก็ถอยปรับประเด็นให้เข้ากับวัฒนธรรม มีการขัดขืนเล็ก ๆ มีเรื่องของการต่อรองอยู่บ้าง เช่น ข่าวเรื่องเขื่อนปากมูลที่ส่งจากปชส.จังหวัดมา พอข่าวมาเห็นแล้วก็ตกใจ เพราะด่าชาวบ้านด้านเดียวและพูดถึงแต่เหตุผลของราชการที่จะต้องปิดเขื่อนเปิดเขื่อนไม่ได้ เราก็ปรับประเด็นเช็กแหล่งข่าวเพิ่มให้มันเป็นข่าวมากขึ้น ไม่ใช่ เป็นข้อมูลของราชการที่จะดำเนินนโยบายอะไรบางอย่างฝ่ายเดียว แต่สิ่งที่เราต้องทำ คือ อย่าให้รู้สึกว่านั่นเป็นข่าว”

“ตอนเป็นนักข่าวก็ไม่ได้มีเวลาพัฒนาตัวเองโอกาสที่จะมองให้กว้างขึ้น เปิดโลกทัศน์ไม่มีโอกาสยากมาก ๆ จนกระทั่งตกงานถูกไล่ออกนั่นแหละ จึงมีเวลาที่จะเรียนรู้อะไรที่กว้างขึ้น

“จรรยาบรรณในวิชาชีพถูกปลูกฝังให้ชัดเจนที่ไอทีวียุคแรก เราก็เห็นผู้บริหารฝ่ายข่าวจะสู้กับการเข้ามาของทุน ซึ่งกลายเป็นครูให้เราหลายเรื่อง อย่างองค์กรรัฐอย่างททท. ให้เงินเรามาเพื่อทำข่าว แม้กระทั่งเขายอมปรับให้เข้ากับการทำงานของเรา แต่ผู้บริหารฝ่ายข่าวบอกว่า ททท.มีสิทธิ์อะไรมากกว่า ข่าวประเด็นอื่นๆในพื้นที่ข่าวทีวี ดังนั้นจึงปฏิเสธเงินก้อนนี้ไป

ในมุมมองของนักข่าวเห็นว่า “ปัญหาของนักข่าวมีปัญหาสองประเด็นที่ผูกโยงกัน คือ 1 ความมั่นคงของการจ้างและ 2 สิทธิเสรีภาพของสื่อ องค์กรสื่อไม่ควรอยู่ในแบบธุรกิจทั่วไป และองค์กรวิชาชีพเองก็ยังไม่ได้สร้างกลไกที่จะปกป้องนักสื่อสารมวลชนในระบบจ้างงานแบบนี้ได้เพียงพอ”

นักข่าวพรรค์นั้นและนักข่าวพันธ์ใหม่

“การทำงานข่าวแบบวิ่งตามกระแสฟังประเด็นจากเพื่อนที่ทำงานผ่านมา เราผ่านประสบการณ์แบบนี้ก็อยากให้คนรุ่นใหม่ที่จบมาจะได้ตระหนักว่า การเป็นนักข่าวพันธ์ใหม่จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่วงการสื่อควรมีการปรับตัวทำให้คนอื่นศรัทธาในตัวเรา คุณค่าคนมันควรสร้างให้เขารู้ตัวเองตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เพิ่งเริ่มทำงาน” นักข่าวหญิงประสบการณ์ 7 ปีที่อยู่กับการเซนเซอร์ตัวเองและเป็นวัฒนธรรมขององค์กรข่าวที่ไม่น่าปรารถนามองวงจรชีวิตของตนและเพื่อนร่วมอาชีพที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงจากภายใน

“ถ้าเรามีเวทีให้เพื่อนๆ มีเวทีคุยบ้าง อาจจะช่วยให้เพื่อนๆอยู่ในงานได้ดีขึ้นและใช้วิธีพลิ้วแบบนี้ น่าจะมีเวลาที่พี่น้องนักข่าวตั้งวงคุยกันน่าจะมีชุมชนของนักข่าวในรุ่นนี้บ้างและน่าจะทำอะไรขึ้นมาบ้าง”

แต่แม้นักข่าวส่วนหนึ่งจะพยายามปรับตัวก็เป็นเพียงปฏิกริยาและไม่อาจส่งผลต่อข่าวหน้าจออย่างสังเกตเห็นเป็นความเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ก่อเขตต์ จันทเลิศลักษณ์ . ตั้งข้อสงสัยกับการแบ่งสายส่งนักข่าวไปประจำหน่วยงานและอะไรบ้างคือข้อจำกัดที่จะไปสู่การพัฒนาการทำงานของนักข่าว “ถ้าเราจะปรับที่ตัวนักข่าว แต่องค์กรสื่อไม่ขยับตัวก็ไม่เกิดประโยชน์. ต่อให้ไม่มีการแทรกแซง แทรกซึมก็ไม่ได้หมายความว่านักข่าวจะพัฒนาหรือเป็นผู้นำทางความคิดได้”

“จะเห็นตอนหลัง ความสลับซับซ้อนของข่าวมันมากขึ้น แล้วเนื้อหาข่าวมันเหลื่อมกันมาก ทำยังไงเราจะรับมือได้ ผมว่าไม่ใช่แค่นักข่าวที่ต้องปรับตัว แต่การจัดการกองบก.ก็ต้องปรับด้วย เพราะหากการปรับโครงสร้างเรื่องการกระจายคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์เกิดขึ้น นักข่าวก็ต้องปรับด้วย จึงจะเกิดทั้งนักข่าวพันธ์ใหม่และกสช.พันธ์ใหม่”

ทั้งหมดคือเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือรายงานประจำปีนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย ฉบับนักข่าวทีวีพันธ์ใหม่ ที่นักข่าวทีวีหลายคนร่วมวงเปิดใจบอกเล่าประสบการณ์ในการทำงานที่คนในและนอกวงการไม่เคยรับรู้มาก่อน

หรือความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันอย่างน่าตกใจในวงการทีวีระหว่างนักข่าวด้วยกัน เช่น บุคลากรข่าวกรมประชาสัมพันธ์ที่ขาดความมั่นคงในอาชีพ เพราะจำนวนมากยังต้องทำงานในสถานะลูกจ้างชั่วคราว(แบบถาวร) ในขณะที่บุคลากรข่าวอีกช่องได้ค่าล่วงเวลาเดือนละ 5-6 หมื่นบาท ยังไม่ต้องพูดถึงค่าตอบแทนของผู้ประกาศข่าวหรือนักเล่าข่าวผู้สร้างเรทติ้ง

ในรายงานประจำปี ยังมีเนื้อหาว่าด้วยนักข่าวทีวีในสายตาของแหล่งข่าว อย่างอภิสิทธ์ เวชชาชีวะที่อยากเห็นนักข่าวทีวีที่สามารถสะท้อนมุมมองที่หลากหลายสู่สังคมและเห็นถึงความจำเป็นของการสร้างระบบที่ส่งเสริมการทำงานของนักข่าวและการจัดการที่ดีในสถานีโทรทัศน์

ตลอดจนการรู้เท่าทันข่าวเพื่อเข้าใจว่าข่าวสารความรู้จากทีวีได้ช่วยสร้างความเข้าใจโลกรอบตัวที่ถูกต้องเท่าทันสถานการณ์โลกรอบตัวหรือสามารถนำไปสู่การตัดสินใจในชีวิตอย่างมีความรู้มากขึ้นตามที่เอ่ยอ้างถึงชีวิตในสังคมข่าวสารความรู้หรือไม่

หากบทบาทสื่อวิทยุโทรทัศน์ในเหตุการณ์พค. 2535 เป็นตราบาปของข่าวโทรทัศน์ในการบิดเบือนข่าวสารนั่นยังคงเป็นกรณีเปรียบเทียบในอีก15ปีให้หลังว่าวงการข่าวทีวียังคงย่ำเท้าเช่นนั้น ดังปรากฏการณ์ปิดกั้นข่าวสารในช่วงรัฐบาลทักษิณ

หัวใจของการปฏิรูปสื่อไทยจึงอยู่ที่สื่อทีวีและนักข่าว เพราะมีอิทธิพลต่อการรับรู้ข่าวสาร ความคิดสำหรับคนส่วนใหญ่มากที่สุด

เพราะหากสื่อมีคุณภาพจะเป็นห้องเรียนและการศึกษาในชีวิตประจำวันของพลเมืองที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้ผู้คนในสังคมและความหมายของประชาธิปไตยจะไม่เป็นแค่การเลือกตั้ง โดยละเลยประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจได้ยาวนานกว่า 70 ปี

ทั้งเลิกคิดรออัศวินม้าขาวคนไหนไม่ว่าจากทหาร,ข้าราชการ หรือนักการเมือง หรือ นโยบายที่ลวงตาและโปรยหว่านล่อใจด้วยเงินภาษีของประชาชน ตลอดจนเท่าทันกลไกการสื่อสารของทุนที่ควบคุมชีวิตประชาชนชีวิตประจำวันให้เฉื่อยเนือย ไม่เอาธุระกับเรื่องส่วนร่วมอย่างน่าเสียดาย

ที่มา หนังสือรายงานประจำปี สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 2550

แท็ก คำค้นหา