วัฒนธรรมนักข่าวคำสารภาพจากนักข่าวโทรทัศน์ (2)

โดย ยุทธนา วรุณปิติกุล

 

ทำไมข่าวโทรทัศน์จึงซังกะบ๊วย

นอกจากปัญหาจากองค์กรข่าวในระบบสัมปทานจากรัฐและสื่อ ในระบบราชการ แล้วตัวนักข่าวและวัฒนธรรมการทำข่าวเป็นอย่างไร เป็นปัจจัยเสริมส่ง หรือลิดรอนคุณภาพข่าวโทรทัศน์ไทย

ขณะที่นักข่าวเห็นถึงข้อจำกัดจากวัฒนธรรมองค์กรข่าว, ผู้บริหารฝ่ายข่าวและนโยบายปลอดภัยไว้ก่อน Safety first ทั้งอยากได้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านความคิด ข้อมูล และประเด็นข่าวแก่นักข่าวที่อยู่ในภาคสนามเพื่อช่วยการทำงานข่าวให้มีคุณภาพดีขึ้น

บรรณาธิการข่าวทีวี ซึ่งเคยเป็นนักข่าวอยู่ในสนามข่าวนานหลายปี เห็นต่างไปและชี้ให้เห็นถึงอีกประเด็นหนึ่ง คือ วัฒนธรรมของนักข่าวแต่ละสายซึ่งเป็นอิทธิพลอีกวงอำนาจหนึ่งในสนามข่าว ที่ว่า “ในฐานะบก.จากประสบการณ์ พบว่าการassign(สั่งการ, มอบหมายประเด็น) ข่าวไปก็ไม่ค่อยได้ผลอะไรชัดเจน เพราะนักข่าวที่ส่งไปประจำอยู่ ทำเนียบก็จะมีลักษณะคล้ายกัน อาจเพราะวัฒนธรรมองค์กที่ไปสังกัดและวัฒนธรรมของ นักข่าวประจำแต่ละที่

“อย่างเช่น ที่ ทำเนียบ รัฐสภา หรือนักข่าวประจำสายทหาร พอกลับมาที่สถานี นักข่าวเราคนละสายนั่งคุยกันแทบจะทะเลาะกัน เพราะบางคนก็โปรทักษิณจ๋า บางคนก็ทหารจ๋าเถียงกัน เราสงสัยว่าทำไมนักข่าวไม่เป็นนักข่าว เพราะมันทำให้ไม่เกิดการคิดต่อยอดประเด็นข่าว ทั้งที่นักข่าวต้องมีคำถาม ควรมีข้อสงสัยต่อสิ่งที่เขา(แหล่งข่าว)ตอบกลับมาเสมอ”

ในแง่หนึ่ง“อิทธิพลจาก วัฒนธรรมนักข่าวที่ประจำในภาคสนามและวัฒนธรรมองค์กรข่าว ทำให้นักข่าวพยายามทำตัวไม่ให้เป็นแกะดำ ดังนั้นพอนักข่าว ติดตามนายกฯก็จะกลายเป็นเข้าข้างนายกฯ พอคุ้นเคยคุ้นชินกับเพื่อนนักข่าวก็เกิดลักษณะ ข่าวเดียวกัน แล้วก๊อปปี้ประเด็นข่าวกันและไม่กล้าทำข่าวฉีกแนวจากเพื่อน”

“ อีกตัวอย่าง นักข่าวประจำกระทรวงมหาดไทยก็จะมีวัฒนธรรมที่นักข่าวอาวุโสสิ่งพิมพ์จะแยกตัวไปซีฟข่าว(เจาะข่าว) ส่วนพวกทีวีก็เหล่กันเอาไงดีกลัวตกข่าว มันเกิดการซูเอี๋ยข่าว แบ่งงานกัน แล้วเอาข่าวมาแบ่งกัน ประเด็นข่าวจึงไม่ต่างกัน”

การไปอยู่ในสายงานประจำแบบนี้ นักข่าวที่เป็นแกะดำมันก็อยู่ได้ยากอึดอัด เพราะจะมีบรรยากาศแซงชั่นกันลึกๆในกลุ่มนักข่าวเอง

“หรืออย่างไปทำข่าวที่ ทำเนียบ ก็ต้องรู้จัก ไทมิ่ง (จังหวะเวลา) เราก็ต้องรอให้คนอื่นเขาถามจบก่อน แล้วคอยถามคำถามเรา”

นักข่าวทีวีอายุงานกลางเก่ากลางใหม่จากไอทีวียอมรับอิทธิพลของวัฒนธรรมในสนามข่าวและเข้าใจนักข่าวที่ต้องไปประจำ เธอบอกว่า “เราเรียกมันเป็นวัฒนธรรมหมา คือ จะเห็นว่าจะมีหมาเจ้าถิ่น ซึ่งจะหมาเล็กหรือแม้หมาตัวใหญ่กว่า แต่ถ้าต่างถิ่นมาก็ต้องยอมให้หมาเจ้าถิ่น ทุกวันนี้บรรยากาศมันก็เบาลง แต่การเข้าเป็นกลุ่มเป็นแก๊งก็ยังมีอยู่ นอกจากนี้ขึ้นกับตัวแหล่งข่าวเองด้วยที่เลือกจะให้ข่าวกับบางฉบับ เช่น ไทยรัฐ มติชนมากกว่าด้วย”

หากวิเคราะห์บริบทแวดล้อมการทำข่าว จากข้อมูล ของ บก.ข่าวและนักข่าว หลายคนที่ผ่านมา เราอาจต้องคิดใหม่ว่าใครกันแน่ ที่เป็นผู้กุมกระแสข่าวสารและเป็นGate keeper ตัวจริง

ทำไมนะหรือ ? เพราะการเลือกให้ข่าวกับบางฉบับแหล่งข่าวได้ประโยชน์ ในแง่ผลกระทบของข่าวที่แรงกว่า

เพราะใครๆก็รู้ว่าเดี๋ยวข่าวทีวีก็เอาหนังสือพิมพ์ไปอ่าน และตามข่าวในฐานะข่าวกระแส …..กลายเป็นวงจรข่าวโยน -,ข่าวซีฟเอื้ออาทร ข่าวกระแส ข่าวแบบงูกินหาง

.การต่อรอง และพลิกพลิ้ว ในข่าวทีวี

มีงานวิจัยว่านักโทษจะทำตัวดี เมื่อรู้สึกว่าผู้คุมมองเขาด้วยวิธีการ เช่น ติดกล้อง จับภาพนักโทษ ซึ่งบรรยากาศของสื่อทีวีก็มีคล้ายกัน คำถามคือ ทำยังไงแทนที่นักข่าวทีวี จะเป็นแค่จักรกลและยอมรับระบบแทรกแซงซึ่งทุกคนก็รู้ว่ามีอยู่จริง แต่ความจริงก่อนหน้านั้น(การแทรกแซงจากภายนอก )มันเกิดจากกระบวนการสมยอม(จากภายในองค์กรและตัวนักข่าว)ก่อน เพราะกองบก.คิดไปเองเชื่อว่าจะต้องทำอย่างนั้น”

นักข่าวหนุ่มซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี เสนอว่า “นักข่าวแต่ละคนมีความสามารถในการทัดทานหรือหัวแข็งต่อสถาบัน การดื้อดึงพยายามมีอำนาจในการกำหนดสาร แม้ว่า ตัวสถาบันสื่อหรือหัวหน้าจะมีทิศทางที่น่าวิตก ทั้งกองบก.เอง อำนาจการเมือง ธุรกิจ แต่ยังมีสิ่งที่คนในสายวิชาชีพข่าวยึดถือ เช่น จรรยาบรรณ ”

แต่เวลาเผชิญปัญหา “ เราขาดทักษะในการต่อรองเข้าใจในการต่อรองว่าไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อข่าวที่ดี ซึ่งที่จริงนักข่าวบางคนทำกันอยู่แล้ว แต่ไม่เคยถูกประมวลลองคิดว่าเราสามารถขัดขืนอะไรได้บ้างในการทำงานวันต่อวันเพราะที่จริงนักข่าวซึ่งส่วนใหญ่มีธรรมชาติที่รักอิสระนักข่าวภาคสนาม เช่น “ ครั้งหนึ่งตอนมีข่าวเกี่ยวกับเด็ก ที่ทีวีเสนอข่าว นักข่าวเห็นว่าไม่เหมาะเลยยิงเป็นข่าวตัววิ่ง ข่าวออนไลน์หน้าจอว่า คุณทิชา ณ นคร ให้สัมภาษณ์ว่าตอนนี้มีกม.คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก แล้ว สื่อควรจะต้องระมัดระวังการนำเสนอด้วยเพราะผิดกม.”

“ใครจะไปรู้ว่าแต่ละวันเราจะออกข่าวอะไร ทำไมเราไม่กล้าออกไปก่อน ถ้าโดนเล่นงานเราค่อยบอกให้เพื่อนๆในวงการเรารู้สิว่าเราโดนอะไรจะได้ช่วยกันออกข่าวทางหนังสือพิมพ์ซึ่งมีอิสระมากกว่า” นักข่าวจากช่อง 9 อีกคนเสนอแนวทางของตัวเอง

ขณะที่ นักข่าวไอทีวีผู้หนึ่ง เชื่อว่านักข่าวควร ปรับตัวเองแทนที่จะทำข่าวแบบรอจ่อไมค์อย่างเดียวและกลัวตกข่าวกระแส “ถ้าเราเตรียมตัวทำงานและมีประเด็นไปถามแล้ว ถึงแม้ความเป็นข่าวทีวี การได้เสียงและภาพของแหล่งข่าวเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้านักข่าวทีวีรู้จักปรับตัวก็พูดคุยซอกแซกถามหาข้อมูลแล้วค่อยมาจ่อไมค์ เอาเสียงทีหลังก็ได้”

“ผมว่าอำนาจมันอยู่ทุกหนทุกแห่งและก็อยู่ในตัวนักข่าวด้วย ”นักข่าวทีวีอายุงาน 15 ปี สรุปดังนั้น “ถึงข่าวไม่ได้ออกแต่เรากล้าที่จะถามแหล่งข่าวให้คนอื่นลงก็พอแล้ว การสร้างคนรุ่นใหม่มันอยู่ตรงนี้ คือ การติดเครื่องมือให้เราพลิ้วพยายามไปสู่สิ่งดีกว่า อาจเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา เหมือนโดดเดี่ยวและไม่รู้ว่าต่อสู้แล้ว ใครจะปกป้องนี้ แต่ทำยังไงล่ะที่สมาคมวิชาชีพนักข่าวทีวีจะมาสนับสนุนการทำงานของนักข่าวบางส่วน”

ฐานที่มั่นของนักข่าว

1-องค์กรข่าว

หลายคนเชื่อว่าองค์กรข่าวมีความสำคัญและส่งผลเป็นลูกโซ่

“องค์กรข่าวที่เริ่มเกิดใหม่ ก็เริ่มยอมแล้ว ในที่สุดก็จะลามไปสู่ผู้ปฏิบัติงานแล้วนักข่าวก็เริ่มท้อ นักข่าวบางคนฉายแววในการพัฒนาตัวเอง แต่ท้ายสุดก็ไปติดอยู่ตรงนั้น

อดีตนักข่าวไอทีวีรายนี้เชื่อว่า “บางอย่างเราไม่ควรงอหรือยอมหรือการประนีประนอมที่จะนำไปสู่การล้มเหลวในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องข่าวเพราะพอยอมมากๆ เราก็จะเซนเซอร์ตัวเองปัญหาที่เราพูดกันก็เริ่มต้นจากการที่เรายอมกันตั้งแต่ต้นความที่องค์กรข่าวไปยอมก็เพื่อที่จะทำธุรกิจข่าว ไม่ได้ทำข่าว ลองเอารันดาวน์ข่าวมาดูสิ ผมจะจิ้มให้ดูว่าข่าวไหนเป็นข่าวที่ซื้อ ถ้ามันอยู่ในโฆษณาไม่ว่ากัน แต่พอมาแฝงในข่าวก็เดือดร้อนทันที”

“บางแห่งบก.กลายพันธ์ ทั้ง ที่ตัวเองก็มาจากนักข่าวภาคสนาม บก.ข่าวบางส่วนบางช่อง บางคนกลายพันธ์ เริ่มจากมีความรู้สึกผูกพันกับข่าวเมืองกับแหล่งข่าว เวลามองว่าอะไรที่มันขัดแย้ง เขาไม่เอาหมดเลยต้องเป็นข่าวเชิงสร้างสรรค์ไม่ขัดแย้ง นักข่าวอยู่ได้ก็อยู่และบางคนก็อยู่”

ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาข่าวทีวีต้องไปงัดกันตั้งแต่องค์กรเลยว่าองค์กรคุณเป็นอะไรกันแน่ องค์กรข่าวหรือองค์กรธุรกิจข่าว “อย่าปล่อยให้ปัญหามันงอมจนติดพื้นจนรากมันงอก ถ้าเราปล่อยปละละเลย แล้วคิดว่าสู้ไม่ได้ก็เป็นพวกมันซะ ขณะที่บางคนก็ยอมหัก”

2-องค์กรวิชาชีพ

กับคำถามที่ว่าในเมื่อมีสหภาพแรงงาน ทำไมนักข่าวไม่ใช้เป็นช่องทางในการปกป้อง สนับสนุนการทำงานของตัวเอง

“ คนมักทักมองว่าสหภาพคือทางออกของนักข่าว แต่ผู้บริหารเขาเองก็รู้ว่าถ้าดึงใครสักคนสองคนในสหภาพเป็นพวกก็จัดการสหภาพได้แล้ว นอกจากนี้สหภาพก็ไม่ได้มีแต่ กองบก.ยังมีฝ่ายอื่นๆอีกมาก เช่น บัญชี ธุรการ ฯ เพราะถ้ามันแยกเป็นสหภาพข่าวได้ ช่อง 9 คงไม่ถูกแปรรูป”

ที่ผ่านมานักข่าวภาคสนามก็จะพยายามเอาข่าวออกเท่าที่ทำได้ -ขึ้นกับว่าจะจัดการกับปัญหายังไงจะอยู่แบบคับข้องใจหรือหาทางเล็ดลอดช่องยังไง แม้รู้ว่าอาจไม่ได้ออก อากาศ” ขณะที่หัวหน้าข่าวบก.ข่าวคิดว่าต้องป้องกันไว้ก่อนปลอดภัยก่อนดีกว่า

เร็วๆนี้ สหภาพอสมท.เพิ่งมีการออกแบบสอบถามว่า คุณต้องการเห็นอสมท.เป็นสื่อแบบไหน คือ 1 เป็นสื่อพาณิชย์ และ 2 เป็นสื่อสาธารณะ นักข่าวช่อง 9 คนหนึ่ง ตอบว่า “ อยากเป็นแบบที่สาม คือ สื่อเสรี เป็นกลาง ไม่เป็นเครื่องมือของการเมือง แต่เขาให้เราเลือกแค่สองข้อ”

ดังนั้น “ ถ้ามีหน่วยงานไหนที่ช่วยสนับสนุนบอกว่า เราจะชนให้คุณแทน ถ้าจุดหนึ่งที่มีสมาคมนักข่าวเป็นฐานรองรับก็จะมีคนกล้าออกมาพูดถึงปัญหาการสมยอม การปิดกั้น ความไม่ยุติธรรมในการจ้างงานมากขึ้น ไม่อย่างนั้นสภาพก็นักข่าวก็จะกลายเป็นอย่าง เพื่อนในช่อง 9บางคนที่อยู่ทุกวันนี้ เพราะว่าองค์กรมีสวัสดิการเพราะมีพ่อแม่ที่ต้องดูแล แต่ก็คับข้องใจ”

ที่มา หนังสือรายงานประจำปี สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 2550

แท็ก คำค้นหา