เสรีภาพ-จริยธรรมวิทยุและทีวี เป็นได้แค่ฝัน ?

โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่
หนังสือพิมพ์มติชน

 

รัฐธรรมนูญ 2540 มีบทบัญญัติที่รับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนทั้งที่เป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของเอกชน และข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อาณัติของเจ้าของกิจการ หรือหน่วยงานของรัฐ แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

นอกจากนี้ ยังบัญญัติให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุ โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (มาตรา 39,40 และ 41)

จากผลของรัฐธรรมนูญ วงการหนังสือพิมพ์ได้พร้อมใจกันลงสัตยาบันว่าจะควบคุมกันเองทางจริยธรรม จากนั้นได้ประกาศธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ก่อนจะคัดเลือกตัวแทนหนังสือพิมพ์ และผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และตามมาด้วยการประกาศข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ จำนวน 30 ข้อ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541

สำหรับวงการวิทยุและโทรทัศน์นั้น รัฐสภาได้ออกพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 มีผลบังคับใช้ 7 มีนาคม 2543

สาระสำคัญประการหนึ่ง คือ ให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ มีชื่อย่อ กสช. จำนวน 7 คน ที่จะต้องผ่านกระบวนการสรรหาเพื่อให้มาทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์

ตลอดระยะเวลา 9 ปี นับแต่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ถึงวันที่ 19 กันยายน 2550 และ 6 ปีครึ่งนับแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯมาถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 และถือว่าเป็นวันสิ้นสุดรัฐธรรมนูญ 2540 องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระที่ชื่อว่า กสช.ไม่เกิดขึ้น ทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์เป็นแค่เพียงตัวอักษรในกระดาษที่เรียกกันว่า “กฎหมายสูงสุดของประเทศ”

น่าประหลาดก็ตรงที่ในการสรรหาผู้จะเข้าไปเป็น กสช. 7 คน ที่จะต้องมีการเสนอชื่อและมีคณะกรรมการที่จะทำหน้าที่สรรหานั้น มีผู้บริหารของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ มีเจ้าของบริษัทเอกชนที่ผลิตรายการโทรทัศน์อยากจะเป็นกรรมการสรรหาและอยากได้รับการสรรหาเพื่อจะได้เป็น กสช. ถึงกับลงทุนลงแรงจัดตั้งสมาคมกันยกใหญ่เพื่อจะได้มีสิทธิเสนอชื่อคนของตนเข้าไปเป็น กสช.

แต่เกือบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่าองค์กรของคนในวงการวิทยุและโทรทัศน์และผู้ที่ประกอบอาชีพ (ทำมาหากิน) ในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ไม่มีการรวมตัวกันเพื่อจะตั้งองค์กรที่จะมาควบคุมกันเองทางด้านจริยธรรมในรูปของสภาการวิทยุและโทรทัศน์ เหมือนกับวงการหนังสือพิมพ์

และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นคนในวงการวิทยุและโทรทัศน์จะได้ประกาศข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของวิทยุและโทรทัศน์

คล้ายกับว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 จะไม่ละความพยายามที่ต้องการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ให้ประสบผลสำเร็จจึงได้บัญญัติเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้เป็นการเฉพาะ ปรากฏอยู่ในส่วนที่ 7 ของหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย โดยนำบทบัญญัติที่เคยมีในรัฐ ธรรมนูญ 2540 มาใส่ไว้และได้เพิ่มเติมของใหม่เข้าไปอีก

ประเด็นสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2550 ในส่วนที่ 7 ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน (มาตรา45-47) ที่กล่าวถึงเสรีภาพของวิทยุและโทรทัศน์นอกเหนือไปจากผู้ปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็นพนักงานเอกชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้รับความคุ้มครองในการเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ตกอยู่ภาย ใต้อาณัติของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ ยังมีสิทธิจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ (มาตรา 46 วรรคหนึ่ง)

และให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ในการส่งวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 47 วรรคสอง)

แน่นอนว่ารัฐบาลและรัฐสภาสมัยหน้าจะต้องแก้ไขเพิ่ม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 เพื่อรวม กสช.เข้ากับ กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ให้เป็นองค์กรเดียว ที่มีผู้ให้ตัวย่อว่า กสทช. จะมีกี่คนและคุณสมบัติเป็นอย่างไรก็ว่าไป และคงมีการแก้ไขวิธีการสรรหา กสทช. จากนั้นก็เริ่มการสรรหากันอีกยก

แต่สิ่งที่ไม่ควรแก้ไขก็คือ อำนาจหน้าที่ของ กสช.ที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯบัญญัติไว้ในมาตรา 23 วงเล็บ 12 ที่มีข้อความ ดังนี้

(12) กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมการปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบของบุคลากรในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

เมื่อตอนที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯประกาศใช้ใหม่ๆ มีผู้แสดงความกังวลว่า กสช.จะเข้าไปแทรกแซงการประกอบวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์มากเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะการควบคุมกันเองทางจริยธรรม เพราะควรจะปล่อยให้คนในวงการวิทยุและโทรทัศน์ดำเนินการกันเอง

แต่มาถึงวัน กาลเวลา 10 ปีจาก 2540 ถึง 2550 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผู้ประกอบการวิทยุและโทรทัศน์ไม่เคยกระดิกกระเดี้ยที่จะปรับปรุงวงการของตนที่จะทำให้สาธารณชนประจักษ์ว่านี่คือสื่อของมวลชนโดยมวลชนและเพื่อมวลชน ตรงกันข้าม วิทยุและโทรทัศน์อาศัยแต่เพียงชื่อว่าเป็นสื่อมวลชน แต่ในความเป็นจริงคือสื่อของนายทุนและของรัฐที่ใช้คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติไปเพื่อเป็นกระบอกเสียงของรัฐและเพื่อผลกำไรทางธุรกิจของพ่อค้า นักธุรกิจ

ทั้งนี้ ดังจะเห็นได้จากข่าวสารและรายการต่างๆ จะถูกเผยแพร่ออกไปให้คนดูและฟังในเรื่องบันเทิงเริงรมย์ มอมเมาชาวบ้านให้จมปลักอยู่กับละครน้ำเน่าที่เนื้อหามีแต่การตบตี ยิงแทงกันตาย แย่งผัวแย่งเมียกันโดยไม่สนใจที่จะทำมาหากินเพื่อเลี้ยงครอบครัวและผดุงสังคม แม้กรมประชาสัมพันธ์จะพยายามจัดช่วงเวลาให้ละครน้ำเน่าไปอยู่ตอน 4-5 ทุ่ม บรรดาผู้ผลิตรายการเอเยนซี่ และเจ้าของสถานีโทรทัศน์ต่างดิ้นทุรนทุรายจะเป็นจะตายเสียให้ได้

และไม่ไยดีว่าประเทศชาติกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ประชาชนเดือดร้อนในปัญหาต่างๆ ควรที่สื่อมวลชนจะแสดงบทบาทและความรับผิดชอบในการเสนอข่าวและรายการที่สร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

แต่วิทยุและโทรทัศน์กลับไม่ทำ

รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติให้วิทยุและโทรทัศน์ต้องมีจริยธรรมและมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ นับว่าเป็นสิ่งที่ดี

แต่ตัวอักษรสวยๆ จะมีคุณค่าอะไรหากไม่นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง

รวมทั้งเสรีภาพของวิทยุและโทรทัศน์ที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้แล้วสำหรับการเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็น ลองเปิดโทรทัศน์ดูก็ไม่เห็นว่าจะเป็นความจริงแต่อย่างใดเลย การมีกฎหมายให้ กสทช.มากำกับเรื่องจริยธรรมวิทยุและโทรทัศน์จึงน่าจะเกิดผลดีไม่มากก็น้อย

ฤๅการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์จะเป็นแค่เพียงความฝันลมๆ แล้งๆ เท่านั้น?!?

ที่มา มติชน วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10792 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา