โดย อภิชาติ จันทร์แดง
หนังสือพิมพ์มติชน
การสื่อสารเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น ไม่เพียงแต่คนที่อยู่ใกล้ชิดกันเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผู้คึนที่อยู่ไกลออกไปอีกฟากหนึ่งของสังคมหรือของโลกด้วย พลังของการสื่อสารจึงมีอนุภาพไม่ต่างไปจากพลังทางเศรษฐกิจที่กำลังเชื่อมร้อยโลกทั้งโลกเข้าด้วยกัน และพร้อมที่จะบิดเบี้ยว พลิกผันหรือกลายเปลี่ยนไปตามพลังอำนาจของผู้ควบคุมได้อย่างไม่ยากเย็น
ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งก็เช่นเดียวกัน การสื่อสารต่อกันระหว่างผู้ขัดแย้งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหา หาทางออก หรือคลี่คลายปัญหาไปได้ การสื่อสารจึงมีส่วนอย่างมากในการสร้างความเข้าใจและสร้างสรรค์สันติภาพให้แก่สังคม
กระบวนการสื่อสารที่สร้างสรรค์และสมบูรณ์แบบจึงมิใช่เพียงแค่ “นำเสนอ” ออกไปเท่านั้นหากแต่ต้องคำนึงถึง “ผู้รับ” และ “ผลจากการรับ” ด้วย
นักวิชาการด้านสื่อมวลชนได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ไว้ว่า สื่อได้ทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจได้น้อยมาก อย่าว่าแต่การสร้างสรรค์สันติภาพเลย ในทางกลับกัน งานวิจัยจำนวนมากพบว่าสื่อมีอิทธิในการสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมเสียด้วยซ้ำ และมักจะเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจ
เมื่อมองมาถึงปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในช่วงปี 2547 เป็นต้นมา สังคมไทยรับรู้เรื่องราวปัญหานี้อย่างไร
คำตอบก็คือการรับรู้โดยผ่านสื่อแขนงต่างๆ ทั้งที่ได้ชื่อว่าเป็นสื่อของรัฐและสื่อเสรีที่ต่างนำเสนออกมาทุกเมื่อเชื่อวัน ทุกคนพึ่งพาอาศัยสื่อในการรับรู้ทั้งสิ้น ทั้งรับรู้ด้วยความสนใจใคร่รู้ และรับรู้ด้วยความไม่อยากรู้ไม่สนใจ แต่ถูกสื่อนำเสนอจนกระทั่งต้องรับรู้ไปโดยปริยาย
ไม่ว่าการรับรู้แบบใดก็แล้วแต่ ที่สุดแล้วก็เกิดคำถามต่อมาว่า ผลจากการรับรู้นั้นได้เกิดความเข้าใจในปัญหามากน้อยแค่ไหนและอย่างไร
นั่นเป็นคำถามที่เหมือนไม่ต้องการที่จะรู้คำตอบ ว่าผลของการนำเสนอโดยสื่อไปสู่ผู้คนในสังคมด้วยกระบวนการสื่อสารนั้นเป็นอย่างไร แต่หากมองจากช่วงเวลาที่ผ่านมาพบว่ามี 2 ส่วนหลัก
ประการแรกคือ การนำเสนอโดยภาพ เห็นได้ว่ามีการนำเสนอภาพความรุนแรงโดยต่อเนื่อง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ภาพหรือข่าวสารแห่งการสร้างสรรค์อันเป็นการใช้ความพยายามในการหาทางออกท่ามกลางปัญหาก็มีอยู่โดยต่อเนื่อง
หากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สิ่งเหล่านั้นกลับไม่ได้ปรากฏอยู่ในหน้าที่แรกที่สามารถเห็นได้โดยทันที แต่กลับไปปรากฏในหน้ากลางๆ หรือหลังๆ และเป็นเพียงการล้อมกรอบเล็กๆ เท่านั้น แต่จะเน้นเอาภาพความรุนแรง ความเสียหายมานำเสนอ เหล่านี้เป็นการให้ความสำคัญในเชิงพื้นที่การขายข่าวสารเป็นหลัก แต่เป็นมองข้ามความสำคัญในการสร้างความเข้าใจในตัวปัญหา ทั้งหมดเป็นการเล่นกับ “พื้นที่ข่าวสาร” และพื้นที่ข่าวสารนั้นมีผลต่อการรับรู้และความรู้สึกในระดับที่สูงมาก
ประการที่สองคือ การนำเสนอโดยคำ การใช้ศัพท์หรือคำที่เหมารวม พิจารณาจาก 2 ด้านหลักๆ ที่ต่างคุ้นเคยกันดีที่สื่อนำมาใช้คือ “โจรใต้” และ “ปัญหาภาคภาคใต้” ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้รับข่าวสารโดยทั่วไปว่าภาคใต้ทั้งหมดมีปัญหา ยิ่งในสังคมที่คนจำนวนมากเติบโตมาจากระบบการศึกษาที่อ่อนแอในหลายด้าน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือความเข้าใจในเชิงภูมิศาสตร์
เชื่อว่าผู้คนในสังคมนี้จำนวนมากเช่นกันที่ไม่รู้ว่าภาคใต้นั้นมีพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์อย่างไร บางคนอาจไม่รู้ถึงขนาดว่าประกอบด้วยจังหวัดอะไรและอยู่ตรงไหนบ้าง ดังนั้นการใช้คำว่า “โจรใต้” หรือ “ภาคใต้” จึงเป็นการสร้างจินตนาการแก่ผู้รับสารว่าคือ “ใต้” ทั้งหมด เป็นการทับซ้อนลงไปบนจินตนาการและความไม่เข้าใจในเชิงภูมิศาสตร์ของคนในสังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
คนจากส่วนอื่นๆ ของประเทศจึงสะท้อนผ่านคำพูดบนฐานของความไม่เข้าใจ เช่นว่า ไม่กล้าไปเที่ยวภาคใต้เพราะกลัวระเบิด กลัวถูกโจรใต้ฆ่า คนใต้โหดร้าย หรือเข้าใจไปถึงขนาดที่ว่าคนใต้มีแต่พวกมุสลิม ทั้งที่ความตั้งใจของการไปเที่ยวคนเหล่านั้นคือพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นส่วนใหญ่ของภาคใต้และไม่เกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใดๆ ทั้งสิ้น
การเหมารวมไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม ต่างคือการเดินไปสู่ปลายทางแห่งความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ในส่วนนี้ผลของการที่สื่อใช้คำแบบเหมารวมทางพื้นที่กลับเป็นการทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวไปโดยไม่รู้ตัว
นี่คือผลเพียงพื้นผิวที่พอมองเห็นได้ แต่ถ้ามองไปถึงผลกระทบที่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือ การเดินทางไปสู่ความเข้าใจของคนในสังคมที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตั้งอยู่บนฐานของความเข้าใจในสภาพปัญหาทุกส่วนอย่างแท้จริง
ทุกวันนี้ ผลที่เกิดขึ้นจากการ “นำเสนอ” ผ่าน “ภาพ” และ “คำ”เกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร ได้สร้างมิติแห่งความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมมากน้อยแค่ไหน นี่คือประเด็นที่ต้องทบทวนและขบคิดและพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ในเมื่อพบว่าความรู้สึกของคนในสังคมจำนวนมากที่เป็นลบกับภาคใต้ โดยเฉพาะกับมุสลิม (ไม่เพียงแต่มุสลิมในภาคใต้เท่านั้น แต่รวมถึงความเป็นมุสลิมทั้งหมด) ในเชิงอคติ ต่อต้าน รังเกียจนั้นรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเหมารวมว่ามุสลิมเป็นปัญหาหรือเป็นพวกที่ชอบใช้ความรุนแรง
ขอยกตัวอย่างจากการสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดและใครๆ สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี เหตุที่ผู้เขียนอ้างการตอบกระทู้ในอินเตอร์เน็ต นั่นเพราะว่าอินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่สามารถทำให้ผู้คนกล้าพูดความจริงที่คิดและรู้สึกอยู่ในใจได้อย่างเปิดเผย โดยไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะได้รับผลกระทบอะไร เพราะไม่มีใครรู้ว่าผู้ตอบกระทู้เป็นใคร ในโลกอินเตอร์เน็ตคนเหล่านั้นเหมือนไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่ตัวตนที่แท้จริงของคนเหล่านั้นกำลังอยู่รายรอบตัวเรา ดำรงร่วมอยู่ในสังคมเดียวกับเรา นั่นคือความจริง และความจริงหนึ่งที่สะท้อนออกมาคือความคิดเห็นของผู้ตอบกระทู้ เช่น พวกคนใต้ไม่อยากอยู่ประเทศไทยก็ออกไปสิ ไม่มีแขกประเทศนี้สุขสงบ หรือทำไมภาคใต้น่ากลัวจัง ต่างชี้ให้เห็นว่าตั้งอยู่บนความไม่เข้าใจในปัญหาแม้แต่น้อย
ผู้เขียนมองว่าสื่อน่าจะเป็นผู้มีส่วนในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการนำเสนอผ่าน “ภาพ” และ “คำ” เพื่อสร้างความน่าสนใจในเนื้อข่าวสาร ไม่ใช่พื้นที่แห่งการขยายความหรือยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่อ่อนไหวเปราะบางและเกี่ยวข้องกับผู้คนทั้งสังคมอย่างปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งหมดนี้ ผู้เขียนไม่ได้ปรับปรำหรือสรุปว่าการทำหน้าที่ของสื่อแย่หรือล้มเหลว แต่เพียงตั้งข้อสังเกตบางประการจากสิ่งที่เห็น รับรู้ และรู้สึกได้เท่านั้น เพื่อไม่เห็นประเด็นปัญหา 3 จังหวัดชายแดดภาคใต้ถูกเข้าใจหรือถูกขยายความไปโดยขัดแย้งกับความเป็นจริง
ฉะนั้น ในเมื่อการสื่อสารเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจต่อกันของมนุษย์ การทำหน้าที่ของสื่อจึงมีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างสรรค์สันติภาพ เพราะในสามัญสำนึกของผู้คนโดยทั่วไปจำต้องพึ่งพาสื่อบนฐานของความเชื่อถือในสื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และความเชื่อนี้ก็ย่อมมีความคาดหวังว่าสื่อจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมปราศจากปัญหาได้
ไม่เช่นนั้นแล้ว การสื่อสารจะเป็นเพียงสื่อแห่งความกลัวและความชิงชัง ท้ายที่สุดก็คือการขาดความเข้าใจปัญหาและยังคงนำมาซึ่งความขัดแย้งอยู่ต่อไปเท่านั้นเอง
ที่มา : มติชน วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10778 หน้า 6