โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
หนังสือพิมพ์มติชน
ศาสตราจารย์สุรชัย ศิริไกร แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นเกี่ยวกับการที่อียูยินดีจะเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งของไทยไว้เป็นสองทาง หนึ่งคือ “ไทยกำลังถูกจัดอยู่ในประเทศที่ภาพพจน์ไม่ดีในสายตาต่างชาติ” และสอง “กลุ่มประเทศอียูกำลังถูกล็อบบี้ให้ทำตามผู้สูญเสียอำนาจบางคน”
ท่านศาสตราจารย์เลือกยืนในจุดที่ได้ทั้งสองฝั่งพอดี ชัดเจนอย่างปฏิเสธไม่ได้ในทางวิชาการ เพราะอยู่ดีๆ ใครจะมาเสียเงินเสียทองสังเกตการณ์การเลือกตั้งบ้านคนอื่น หากไม่ระแวงว่าการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร ภายใต้อำนาจทหารที่ก่อรัฐประหาร อาจเป็นเพียงเล่ห์เพทุบายที่จะรักษาอำนาจทางการเมืองของตัวไว้ในรูปใดรูปหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันท่านศาสตราจารย์ก็ไม่ลืมแนวทางของสื่อ ซึ่งผลิตสินค้าของตัวขายตลาดที่เกลียดทักษิณ ต้อง “มัน” แน่แล้ว ต้อง “มัน” แน่แล้ว
แต่ทางที่สองคือทักษิณอยู่เบื้องหลังคำขอของอียูถูกปฏิเสธไปอย่างชัดแจ้ง เมื่อคุณพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรปออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องสังเกตการณ์การเลือกตั้งของไทยนั้น ได้พูดคุยกันกับอียูมาแต่ต้นปีนี้แล้ว (ผมในฐานะผู้รับสื่อก็จำได้เลาๆ ว่าได้เคยพบข่าวนี้ แต่แปลกที่ผู้ทำสื่อเองกลับลืมเสียสนิทได้ยังไง) โดยทางอียูขอให้ไทยเชิญแต่เนิ่นๆ ภายในเดือนกันยายน เพราะเขาต้องเตรียมการ กกต.ไทยเคยเชิญเขามาสังเกตการณ์การเลือก ส.ว. แต่กระชั้นเกินไปจึงทำให้เขามาไม่ได้ อียูเห็นว่าไทยเองก็จะจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมอยู่แล้ว ก็น่าจะให้อียูเข้ามาสังเกตการณ์ (ความหมายเบื้องหลังคือ ทำให้ความโปร่งใสในการเลือกตั้งของไทยเป็นที่เชื่อถือแก่นานาชาติ)
สื่อซึ่งผลิตสินค้าขายตลาดที่เกลียดทักษิณคงจำได้เหมือนผมว่า อียูเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่แสดงออกอย่างชัดเจนมาแต่ต้นว่า ไม่เห็นด้วยกับการก่อรัฐประหารของทหาร(การเมือง) เพื่อแก้ปัญหาการเมือง อียูมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยอย่างไร คงไม่ต้องตอกย้ำ ความแหนงใจของเขาต่อไทยจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลซึ่งเห็นแก่ประเทศชาติทุกชุด ต้องหาทางแก้ไข โดยไม่เอาประโยชน์ทางการเมืองของเพื่อนหรือนายมาขวางกั้น
ฉะนั้นการเจรจาเพื่อให้อียูสังเกตการณ์การเลือกตั้งเมื่อต้นปี ไม่ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ริเริ่มขึ้นก่อนก็ตาม จึงน่าจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยตอบรับด้วยความกระตือรือร้น (เพราะตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าต้อง “จัดการ” ผลการเลือกตั้ง) อียูจะชอบหรือไม่ชอบการรัฐประหารก็ตาม แต่ในที่สุดไทยก็คืนกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่อียูพอรับได้อย่างโปร่งใสและยุติธรรม ขจัดขวากหนามของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอียูในอนาคตลงได้
วิธีสังเกตการณ์การเลือกตั้งของอียูนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือคณะผู้สังเกตการณ์สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของ กกต. ที่มีความจำเป็นสำหรับประเมินว่าการเลือกตั้งนั้นอยู่ในกระบวนการที่บริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่
ผมอยากเตือนสื่อซึ่งผลิตสินค้าขายตลาดที่เกลียดทักษิณว่า การเลือกตั้งเป็นกระบวนการ ซึ่งลงท้ายที่การหย่อนบัตร, การนับคะแนนและประกาศผล ฉะนั้นการสังเกตการณ์การเลือกตั้งจึงต้องกระทำมาตั้งแต่การรับสมัครและหาเสียง เพื่อสังเกตการณ์ว่าเป็นบรรยากาศที่เปิดหรือไม่ มีการแทรกแซงจากอำนาจรัฐ, อำนาจนักเลง, อำนาจเงิน, และอำนาจเถื่อนอื่นๆ มากน้อยเพียงใด ในการนี้ผู้สังเกตการณ์จะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นได้อย่างไร ก็ควรได้รับการประกันว่าจะเสาะแสวงหาข้อมูลได้อย่างอิสระเสรี และสะดวกพอสมควร
เพื่อให้การดำเนินการของคณะผู้สังเกตการณ์ในลักษณะนี้เป็นไปได้ จึงต้องทำเอ็มโอยู ซึ่งแปลว่าบันทึกช่วยจำเพื่อความเข้าใจร่วมกัน ไม่ได้แปลว่าบันทึกช่วยจำเฉยๆ แปลอีกทีหนึ่งก็คือเจรจาต่อรองกันเท่าที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร (ไม่อย่างนั้นก็ไม่เป็นความเข้าใจร่วมกัน) หากฝ่ายไทยเห็นว่าจะไม่ให้สังเกตการณ์อะไรมากไปกว่าที่สื่อต่างประเทศกระทำอยู่แล้ว ผมเดาว่าเขาก็ม้วนเสื่อกลับบ้านไป เพราะสื่อเข้าถึงข้อมูลบางประเภทแต่เข้าไม่ถึงข้อมูลอีกบางประเภท ฉะนั้นรายงานของสื่อจึงถูกปฏิเสธได้ง่าย และรัฐบาลไทยก็เคยปฏิเสธรายงานสื่อ “หน้าตาเฉย” มาไม่รู้จะกี่ยุคกี่สมัยแล้ว
มีเอ็มโอยูก็เพื่อทำให้สถานะของคณะสังเกตการณ์อียูมีความเป็นทางการ พอที่จะเข้าไปขอข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้สะดวกขึ้น และแม้แต่ร่างเอ็มโอยูที่อียูเสนอเพื่อการเจรจาต่อรอง ก็หาได้มีข้อความใดที่แสดงว่าจะเข้ามาบริหารการเลือกตั้งแทน กกต. หรือแทรกแซงการจัดการเลือกตั้งแต่อย่างใด ผมไม่เข้าใจว่า กกต.ให้สัมภาษณ์ในทำนองนี้ได้อย่างไร และยิ่งไม่เข้าใจมากขึ้นว่าสื่อก็ลงคำให้สัมภาษณ์โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลอยู่หลายวันได้อย่างไร
เพราะเรามีสื่ออย่างนี้ เราจึงมีนายกรัฐมนตรีและผู้มีอำนาจทางการเมืองอีกหลายคน ที่กระโดดออกมาปกป้องอธิปไตยของชาติ จากคำให้สัมภาษณ์ของ กกต. ทั้งๆ ที่ต่างอยู่ในตำแหน่งที่จะขอเอ็มโอยูมาอ่านเองได้ทั้งนั้น เพราะสื่อทำให้สังคมไร้เดียงสา เราจึงมีวีรบุรุษไร้เดียงสาอยู่เต็มไปหมด
ในที่สุดเมื่อได้ข้อมูลกระบวนการเลือกตั้งของไทยแล้ว อียูก็จะทำรายงานขึ้นฉบับหนึ่งเสนอต่อสภาของเขา ซึ่งจะเป็นรายงานที่แพร่หลายไปทั่วโลก (แก่คนที่อยากอ่าน) หากเราจัดการเลือกตั้งได้บริสุทธิ์ยุติธรรม รายงานนั้นก็จะช่วยลบความแหนงใจทั้งหมดที่ประเทศต่างๆ (ทั้งในและนอกอียู) เคยมีต่อการเมืองไทยหลังการรัฐประหาร ดีสำหรับประเทศไทยไหม? ดีกว่าที่จะให้ทูตทหารหรือเอกอัครราชทูตไทยเป็นผู้ชี้แจงเองหรือไม่? ดีแก่ตลาด, ทุน, เทคโนโลยี และความร่วมมือ ที่เราอยากได้จากประเทศต่างๆ เหล่านั้นหรือไม่?
รายงานของอียูที่เข้ามาสังเกตการณ์อย่างเป็นระบบเช่นนี้ กับรายงาน(หรือแม้แต่คำให้สัมภาษณ์)ของประเทศอื่นๆ ซึ่งขอเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งเหมือนกัน ย่อมมีน้ำหนักที่แตกต่างกันมากในสายตาของชาวโลก หากไทยเจรจาต่อรองจนในที่สุดสามารถลงนามในเอ็มโอยูร่วมกันได้ ยิ่งทำให้รายงานของอียูเป็นที่เชื่อถือมากขึ้นไปอีก เพราะทั้งสองฝ่ายแสดงความจริงใจแก่กันและกันมาโดยตลอด ไทยไม่มีอะไรปิดบัง ในขณะที่คณะผู้สังเกตการณ์อียู ก็จะขวนขวายกับการเก็บรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลอย่างประณีต
หาก กกต.และรัฐบาลตั้งใจที่จะพยายามทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมจริง ผมแน่ใจว่ารายงานของอียูจะชี้ให้เห็นเจตนาและความพยายามที่ดีของ กกต.และรัฐบาลแน่ แม้ว่าในรายงานนั้นอาจจะแสดงให้เห็นกรณีทุจริตให้เห็นหลายเรื่องด้วยกัน เพราะถึงจะเจตนาดีและพยายามอย่างเต็มที่อย่างไร ก็คงมีการซื้อเสียงที่จับไม่ได้อยู่ไม่น้อย คงมีหัวคะแนนที่ดำรงตำแหน่งราชการ (นับตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้านขึ้นไป) กระตือรือร้นจะช่วยเหลือบางพรรคมากเกินกฎหมาย หรือถึงกับใช้อำนาจราชการข่มขู่ แต่ตราบเท่าที่ กกต.และรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนส่งเสริมให้ทำเช่นนั้น ผู้สังเกตการณ์ก็จะมองเห็นเอง เพราะแม้แต่ประชาชนไทยทั่วไปซึ่งไม่ได้ไปสังเกตการณ์เลือกตั้งก็มองเห็นการทุจริตในการเลือกตั้งมาทุกครั้ง เพียงแต่ว่าประชาชนเชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากเจตนาของ กกต.หรือรัฐบาล เป็นการใช้อำนาจเงินอำนาจรัฐของเครือข่ายผู้สมัครแต่ละคน
อย่างเดียวกับที่บางคนกล่าวว่า ให้เราไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งของยุโรป ก็จะพบความ “ไม่ชอบมาพากล” เหล่านี้เหมือนกัน ผมเองก็เชื่อว่าจะพบแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันก็จะพบด้วยว่า ไม่ได้เกิดจากเจตนาหรือความพยายามของ กกต.ฝรั่งหรือรัฐบาลฝรั่ง
การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมไม่ได้หมายความว่าไม่มีการทุจริตเลย แต่ตราบเท่าที่รัฐพยายามจนสุดความสามารถที่จะป้องปรามและปราบปรามพฤติกรรมฉ้อฉลอย่างเต็มที่ และไม่วางเงื่อนไขที่ทำให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนไม่อาจใช้วิจารณญาณโดยเสรีของตน ตราบนั้นก็ถือว่าการเลือกตั้งนั้นบริสุทธิ์ยุติธรรมเท่าที่สังคมมนุษย์จะสามารถจัดขึ้นได้
สมาชิกของ กกต.คนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า รายงานสังเกตการณ์เลือกตั้งของอียูมักจะประเมินว่าไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมเสมอ จริงหรือไม่ผมก็ไม่มีเวลาไปตรวจสอบ แต่ถ้าจริงรายงานของเขาก็คงไม่น่าเป็นที่เชื่อถือของใคร เท่ากับไร้ผลในทางการเมืองระหว่างประเทศ จึงไม่น่าวิตกกังวลแก่ไทยด้วยประการทั้งปวง
แต่ถ้าไม่จริง คุณกำลังคิดอะไรอยู่ จึงไม่อยากถูกคนที่ไม่เกี่ยวข้องจากภายนอกตรวจสอบ
และด้วยเหตุดังนั้น พลเมืองไทยทุกคนควรจับตามองการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ดี ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ของประชาชนในตลาดที่เกลียดทักษิณ ก็ไม่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม สื่อซึ่งผลิตสินค้าขายตลาดนี้อยู่ จึงควรทำหน้าที่ให้ดีเพื่อตอบสนองต่อเงินของลูกค้า
ถ้าสื่อทำหน้าที่เต็มความสามารถ พลเมืองไทยจะสามารถตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างได้ผลกว่าอียูอย่างแน่นอน
ที่มา : มติชน วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10775 หน้า 6