เรทติ้งทีวี-รัฐประหาร : วังวนการเชื้อเชิญอำนาจรัฐ

พิภพ อุดร
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : และแล้วความเคลื่อนไหวในเรื่องการจัดเรทติ้งทีวีก็เคลื่อนไปสู่การแบ่งขั้วระหว่าง “การเรียกร้องให้รัฐควบคุมเวลาในการออกอากาศ” กับ “การเรียกร้องอิสระในการเลือกเวลา ของผู้ผลิตรายการ” และก็อาจพัฒนาไปสู่การแบ่งฝ่ายเป็น 2 ขั้วที่ตรงกันข้ามกัน ที่อาจตามมาด้วย การเผชิญหน้า และจบลงด้วยการไม่มองหน้ากันในที่สุด ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแนวโน้มพัฒนาการ ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยที่น่าเป็นห่วงหากทุกเรื่องจะจบลงด้วยการแบ่งขั้วเสมอ ไม่ว่าจะเป็น รัก-ไล่ทักษิณ หรือรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือเอา-ไม่เอา คมช. ฯลฯ

ปัญหาความคิดเห็นและแนวทางเรทติ้งทีวีที่แตกต่างเกิดจากการนำหลายเรื่องมาประสมกันจนทำให้ข้อสมมติพื้นฐาน (Assumption) หลายเรื่องถูกยอมรับโดยไม่มีการตั้งคำถาม ซึ่งส่งผลทำให้ เรื่องดังกล่าวไม่ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อค้นหาแนวทางที่เหมาะสมที่มีมากกว่าการเสนอ ทางออกแบบแบ่งขั้วเป็น 2 ข้าง ที่ต้องเอามีฝ่ายหนึ่งชนะ และอีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้

ข้อสมมติพื้นฐานแรก คือ เมื่อเด็กกลับถึงบ้านต้องดูทีวีเสมอ และกิจกรรมหลักก่อนนอน ของเด็กกับครอบครัว คือต้องชมทีวีร่วมกัน ดังนั้น ภายใต้ข้อสมมตินี้ทางออกจึงได้แก่ การเรียกร้องให้มีรายการทีวีเพื่อเด็กและครอบครัว ไม่เช่นนั้น เด็กจะไม่มีอะไรทำ ครอบครัวไม่มีรายการทีวี ที่จะชมร่วมกันกับเด็กได้

คำถาม คือ เด็กกลับบ้านไม่ต้องดูทีวีได้ไหม มีสื่อหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยสร้างเสริม การเรียนรู้และพัฒนาการที่ดีให้กับเด็กบ้างหรือไม่ ผมคิดว่าคำตอบเรื่องนี้มีอยู่อย่างชัดเจน และมากมาย หากทุกครอบครัวร่วมใจกันปิดทีวีในช่วงบันเทิงตอนเย็นและหัวค่ำ เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมสรรค์สร้างปัญญาให้ลูกหลาน นอกเหนือจากจะเป็นการส่งสัญญาณกดดันไปยังผู้ผลิตรายการทีวี โดยที่แต่ละครอบครัวสามารถร่วมมือกันเป็นเครือข่ายในดำเนินการได้เอง โดยไม่ต้องไปเรียกร้องจากรัฐ หรือผู้ผลิตรายการแล้วยังจะเป็นการร่วมกันช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน เพื่ออนาคตของสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นของเราและลูกหลานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

แน่นอน “ปิดทีวี” ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก และตามมาด้วยภาระหนัก ที่ตกแก่คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครอง ที่ต้องใช้ความกล้าหาญกับลูก (และตนเอง) ตลอดจนต้องออกแรงมากขึ้นในการดำเนินการ ประสบการณ์ของผม คือ เมื่อยืนยันไม่เปิดทีวีเสียอย่าง เจ้าหลานอายุ 5 ขวบ ก็สามารถหยิบหนังสือมาอ่าน หรือหากิจกรรมมาร่วมทำกับครอบครัวจนได้

เมื่อผู้บริโภคบอยคอตเสียเช่นนี้ กลไกตลาดก็ย่อมจะทำงานหนักขึ้น เนื่องจากทั้งเจ้าของคลื่นเวลา ผู้ผลิตรายการ ตลอดจนสปอนเซอร์สนับสนุนรายการ ต่างก็จะขาดรายได้จากตลาดเด็กซึ่งมีมูลค่ามากมายในปัจจุบัน และก็ต้องปรับตัวเพื่อหาสิ่งที่มีคุณค่ามาเสนอให้กับผู้บริโภคต่อไป

แต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันก็คือ ในขณะที่เราต่างก็ร้องเรียนว่า ไม่มีรายการทีวีที่ดี มีคุณภาพ แต่เราก็ยังคงจบลงด้วยการเปิดทีวีเลี้ยงลูกอยู่ทุกวัน ซึ่งโดยกลไกตลาดก็ย่อมบอกว่าสิ่งที่นำเสนอนั้นยังคงถูกใจผู้บริโภค ยังสามารถสร้างรายได้และกำไร เพราะฉะนั้น ข้อเรียกร้องให้ปรับโน่นเปลี่ยนนี้ในสายตาผู้ผลิตรายการทีวีจึงขาดน้ำหนัก และไม่น่ารับฟังแต่อย่างใด

ข้อสมมติพื้นฐานที่ 2 คือ การจัดเรทติ้ง ตั้งอยู่บนแนวคิดที่เชื่อในกลไกตลาด และอิสระในการเลือกของทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค โดยการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจแก่ผู้บริโภค เพื่อให้เลือกได้อย่างถูกต้อง/เหมาะสม ผู้ผลิตรายการทีวีที่ไม่ดีผู้บริโภคก็ไม่ชม สปอนเซอร์ก็จะไม่มี สุดท้ายก็เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันที่จะพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมรายการทีวีที่แข็งแรง ยั่งยืน โดยมีรายการส่วนใหญ่ที่มีประโยชน์ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในที่สุด

ข้อสมมติพื้นฐานที่ 3 คือ การควบคุมเวลาออกอากาศ อยู่บนหลักการที่เชื่อว่า รัฐรู้ดีกว่าใคร และขอใช้อำนาจในการบังคับว่าใครจะได้ดูอะไร อย่างไร ในเวลาใด ซึ่งเรียกได้ว่า ตรงกันข้ามกับระบบเรทติ้ง (ที่เชื่อในกลไกตลาดอันมีพื้นฐานจากความเชื่อในอำนาจแห่งวิจารณญาณของผู้บริโภค และผู้ผลิตรายการทีวี) การควบคุมเวลาออกอากาศก็ย่อมจะเลิกไปเมื่ออุตสาหกรรมรายการทีวีแข็งแรง และดูแลตนเองได้ หมายถึงผู้บริโภคและผู้ผลิตปรับตัวเข้าหากันได้ดี (ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ )

หน่วยงานที่กำกับดูแลสื่อโทรทัศน์ไทยดูเหมือนจะเริ่มต้นด้วยระบบเรทติ้ง โดยลงทุนใช้งบประมาณและความพยายามในการกำหนดสัญลักษณ์ การอธิบาย และให้ความรู้แก่ผู้บริโภค แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการสักเท่าไร (ประเมินจากผลการวิจัย ของนักศึกษาปริญญาโทสำหรับผู้บริหารคณะพาณิชย์ มธ. ที่จะนำออกเผยแพร่เร็วๆ นี้) ก็เลยหันกลับมาใช้อำนาจรัฐ ในการบังคับควบคุมแทน เนื่องจากอาจจะเป็นวิธีที่ง่ายกว่า

และอาจถูกใจครอบครัวที่ยังต้องพึ่งพาทีวีให้เป็นหลักช่วยเลี้ยงลูกทุกๆ เย็น จึงสนับสนุนการแทรกแซงของรัฐ แต่อาจจะขัดใจผู้ผลิตรายการทีวีที่ดูเหมือนจะยังแน่ใจว่ารายการที่เป็นอยู่ยังสร้างรายได้ และไปได้ดี เหตุไฉนรัฐจึงจะมาใช้อำนาจแทรกแซงเสียเล่า รัฐจะรู้กลไกตลาดได้ดีกว่าผู้ผลิตได้อย่างไร

หากผู้บริโภคเลือกที่จะยอมรับ และสนับสนุนให้รัฐใช้อำนาจในการบังคับควบคุม และกำหนดว่าใครควรจะได้ดูอะไร หรือไม่ได้ดูอะไรเมื่อไร อย่างไร ก็เท่ากับเป็นการปฏิเสธ ซึ่งอำนาจสูงสุดของตนเองในการกำหนดความเคลื่อนไหวของตลาด และก็อาจจะสอดคล้องกับ การปฏิเสธอำนาจประชาชน และยอมรับอำนาจของรัฐประหารในการแก้ไขปัญหาให้กับสังคมไทย ในช่วงวิกฤติประชาธิปไตย

ผมขอเสนอว่า ให้ผู้บริโภคทุกท่านเชื่อมั่นในอำนาจพื้นฐานของการบริโภคที่ท่านมี และร่วมมือกับเครือข่ายของท่านในการใช้อำนาจที่มีในการที่จะเลือกบริโภคเฉพาะสิ่งที่ท่านเห็นว่าดี ไม่เลือกในสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์ และเลิกเรียกร้องที่จะให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาจำกัดสิทธิ และบังคับ ควบคุมการบริโภค เพราะนั่นไม่เคยเป็นหนทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมใดเลย

พื้นฐานประชาธิปไตยอยู่ที่การมี และการใช้อำนาจในการเลือกของท่าน เรียนรู้ที่จะใช้มันเถอะครับ ฝึกใช้อำนาจในการเลือกของท่าน เพื่อเป็นพลังในการสร้างวัฒนธรรมของการเคารพอำนาจพื้นฐานที่อยู่ในมือของท่านในฐานะผู้บริโภค ในฐานะประชาชน เราสามารถร่วมสร้างสังคม ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้ โดยใช้อำนาจการเลือก-ไม่เลือกที่อยู่ในมือเราทุกคน

ดีกว่าที่จะฝากอนาคตไว้กับการสร้างวัฒนธรรมการเรียกร้อง และเปิดทางให้อำนาจรัฐเข้ามาบังคับจัดการเรื่องแทนเรา เพราะมันมีแนวโน้มที่จะพาเราไปถึงจุดที่เราอาจไม่มีโอกาสได้เลือกอีกต่อไป เพราะทั้งรัฐและเราต่างก็คุ้นเคยกับการสมยอมที่จะให้รัฐใช้อำนาจจัดการทุกเรื่องแทนเราเสียแล้ว มาร่วมกันพาสังคมไทยฝ่าออกไปจากวังวนการเชื้อเชิญอำนาจรัฐกันเถอะครับ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

 

แท็ก คำค้นหา