บทบรรณาธิการ
กรุงเทพธุรกิจ
แม้ว่าพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เปิดบ้านพิษณุโลก” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และบอกกับตัวแทนองค์กรสื่อมวลชน 6 องค์กรที่เข้าพบเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า
ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในฯที่ผ่านคณะรัฐมนตรีไปแล้วยังไม่ถือเป็นข้อยุติและพร้อมรับฟังข้อท้วงติง โดยในวันจันทร์ที่ 16 ก.ค.ได้ขอให้นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสมาชิกสภานิติบัญญัติจัดระดมความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม แต่ยังมีความไม่ไว้วางใจว่ารัฐบาลจะเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงฯให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วไปเพื่ออะไรกันแน่ เพราะรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีสามารถใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ออกในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีค่อนข้างมากในการประกาศภาวะฉุกเฉินได้อยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีพล.อ.สุรยุทธ์และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินได้แสดงจุดยืนต้องการให้ออกพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในฯฉบับนี้อย่างเร่งด่วน แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงจากหลายฝ่ายอย่างพร้อมเพรียงกันถึงเนื้อหาหลักของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่มีหลักคิดการลิดรอนสิทธิประชาชน การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการตรวจค้น จับกุมและการประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยผู้บัญชาการทหารบกที่มีสถานะเป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งเป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะละเมิดไม่ได้ จึงเกิดข้อสงสัยและเคลือบแคลงใจเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กำลังวางแผนใช้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในการสืบทอดอำนาจการปกครองประเทศต่อไป โดยไม่เคารพต่อหลักการสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างรอลงประชามติในวันที่ 19 ส.ค.2550 ซึ่งอาจจะมาจากความวิตกกังวลของคมช.ที่เห็นว่ากลุ่มอำนาจเก่ายังมีอิทธิพลทางการเงินมากพอในการกลับมาครองอำนาจ จึงจำเป็นต้องหาหนทางกำหนดอำนาจผ่านพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในฯไว้อย่างกว้างขวางที่ถือเป็นการถ่ายโอนอำนาจด้านความมั่นคงภายในจากรัฐบาลมาสู่กอ.รมน.เกือบทั้งหมด จนกล่าวได้ว่าแนวนโยบายด้านความมั่นคงภายในของประเทศจะถูกควบคุมโดยกองทัพมากกว่ารัฐบาลชุดใหม่ รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์และคมช.ไม่ควรเร่งรัดผลักดันร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในฯให้เสร็จสิ้นในสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ โดยเพียงแค่อ้างว่าพร้อมเปิดเวทีรับฟังเสียงคัดค้านแล้ว แต่กลับยังไม่เคยมีคำยืนยันใดๆ จากนายกรัฐมนตรีพล.อ.สุรยุทธ์กับประธานคมช.พล.อ.สนธิว่าจะยินยอมแก้ไขหลักการใหญ่ที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพราะนักวิชาการ,นักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนจากหลายวงการมีความเห็นพร้องกันว่าควรจะปล่อยให้ร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในฯอยู่ในการพิจารณาของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนน่าจะมีความชอบธรรมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มากกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากคมช. เพราะเนื้อหาหลักของร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในฯมีหลายมาตราที่อ้างความจำเป็นเร่งด่วนด้านความมั่นคงของประเทศในการรับมือขบวนการก่อการร้ายในรูปแบบใหม่ๆ ที่มาจากทั่วโลก จึงให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับกองทัพในการจัดการปัญหาความมั่นคงภายในที่ค่อนข้างหมิ่นเหม่กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยจะต้องยอมแลกกับการป้องกันความเสี่ยงจากการก่อการร้ายยุคใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแม้จะเกิดผลดีดังกล่าวจริง แต่เมื่อมองเห็นผลเสียหายร้ายแรงในระยะยาวแล้วจะทำให้ภาพลักษณ์รัฐไทยอยู่ภายใต้อำนาจกองทัพที่อยู่เหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งสวนทางกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ให้อำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของปวงชน |
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 |