ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ต่อกรณีที่กรมประชาสัมพันธ์มีนโยบายให้มีการจัดเรทติ้งของรายการโทรทัศน์เสียใหม่ นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของคนวงการนี้ ว่ามีแนวความคิดอย่างไรในประเด็นนิเทศศาสตร์เพื่อสังคม เป็นการตอบคำถามที่บังเอิญไม่ได้ตั้งคำถามได้อย่างชัดเจนพอสมควรว่า คนทำละครโทรทัศน์มีสำนึกต่ออนาคตของสังคมมากน้อยเพียงใด
ความจริงที่อยู่เบื้องหลังของผู้รับผิดชอบในการจัดระบบเรทติ้งโทรทัศน์นั้น ก็ด้วยความห่วงใยต่อสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่สื่อมวลชน โดยเฉพาะวิทยุโทรทัศน์มีส่วนในการสร้างโลกความจริงให้กับเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจนที่สุด การเลี่ยงบาลี ในหลายประเด็นดูเหมือนจะเป็นการหาเหตุเพื่อการคัดค้าน แม้คำแถลงการณ์ของกลุ่มผู้ประกอบการว่า เห็นด้วยในหลักการที่จะมีการจัดระบบเรทติ้ง แต่กลับคัดค้านในสาระสำคัญที่ไม่สามารถทำให้หลักการนี้เป็นความจริงขึ้นมาได้เลย เช่น คัดค้านเรื่องกำหนดเวลาออกอากาศ หรือแม้แต่การระบุว่า สื่อใหม่ (New Media) เช่น อินเทอร์เน็ต น่าอันตรายมากกว่าโทรทัศน์ เป็นต้น เดิมทีประเทศไทยไม่มีระบบการจัดเรทติ้งรายการโทรทัศน์ที่มีการเน้นคุณภาพของรายการเลย มีแต่ธุรกรรมของธุรกิจการโฆษณา ที่มีบริษัทสำรวจข้อมูลการชมรายการโทรทัศน์ (เพียงน้อยบริษัท) วัดจำนวนผู้ชม แล้วนำผลนั้นมาเป็นข้อมูลเสนอให้กับบริษัทตัวแทนโฆษณาสำหรับตัดสินใจการลงโฆษณาในโทรทัศน์ให้กับลูกค้า ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงความอยู่รอดของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ผลที่ได้ ก็คือ รายการโทรทัศน์ที่มีผู้รับชมมาก จะเป็นรายการที่ประสบความสำเร็จ แม้เป็นรายการที่ไม่ได้สร้างสรรค์สังคมก็ตามที นโยบายของสถานีโทรทัศน์ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยในการผลิตรายการเอาใจตลาด โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ช่องที่ประมูลมาจากหน่วยงานรัฐ ที่ผูกขาดความเป็นเจ้าของสื่อ ซึ่งมุ่งทำกำไรสูงสุด สำนึกนักนิเทศศาสตร์ที่มีต่อสังคมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจึงเป็นคำถามมาตลอด นักนิเทศศาสตร์ประสบความสำเร็จในวิชาชีพตรงที่รายการอยู่รอด เนื่องจากได้ผลิตตอบสนองความต้องการที่จริงๆ แล้ว ยังไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นความต้องการแท้ หรือความต้องการเทียมกันแน่ หรือความสำเร็จวัดกันที่การมีส่วนให้สังคมดีขึ้น ในสภาวะเช่นนี้ ทำให้รายการโทรทัศน์แทบทุกประเภทคำนึงถึงความอยู่รอด ที่ต้องเน้นปริมาณผู้ชมเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องเอาใจผู้ชมเข้าไว้ รายการโทรทัศน์ที่ผลิตกันอยู่ จึงเป็นรายการที่เน้นตอบสนองความต้องการของผู้ชมในฐานะผู้บริโภคเป็นสำคัญ นี่เป็นโจทย์การตลาดง่ายๆ สำหรับความสำเร็จของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ จะมีประโยชน์อะไรนักหนากับการขอเป็น “สื่อสาธารณะ” ที่สามารถให้บริการกับผู้รับชมจำนวนมาก แต่รายการไม่สร้างสรรค์ คำถามอยู่ที่ว่า ปัญหาในการสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพอยู่ที่จุดใด เป็นเพราะกลุ่มผู้ผลิตรายการพอใจอยู่กับระบบเรทติ้ง เน้นธุรกิจในลักษณะเดิมนี้ หรือว่ายังหาทางออกไม่พบ ? ความพยายามของผู้รับผิดชอบด้านสื่อของหน่วยงานรัฐ เริ่มต้นจาก ระยะแรก คือ การขอความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์เพื่อระบุประเภทรายการโทรทัศน์ โดยมีตัวอักษรกำกับแต่ละประเภท เพื่อให้ผู้ชมเลือกและแยกแยะ ซึ่งแน่นอนว่าได้ผลในระดับหนึ่งเท่านั้น คนในวงการโทรทัศน์เองก็บอกว่า ไม่ได้ผล ระยะที่สอง คือ การจัดระบบเรทติ้งโทรทัศน์โดยการกำหนดแนวเนื้อหาสาระในรายการ และกำหนดเวลาออกอากาศให้เหมาะสมกับช่วงเวลาการรับชมของผู้ชมแต่ละประเภท ซึ่งเป็นระดับที่กระทบกับผู้ผลิตรายการอย่างมาก แต่ถ้าไม่ดำเนินการในขั้นนี้ ก็อย่าหวังว่าจะปฏิรูปคุณภาพรายการโทรทัศน์ในประเทศไทยให้สร้างสรรค์สังคมได้ ลองกลับไปดูละครโทรทัศน์หลังข่าวคืนนี้ดู แล้วจึงคัดค้านในข้อนี้ นักนิเทศศาสตร์จะปฏิเสธได้อย่างไรว่า โทรทัศน์ไม่ได้มีผลต่อสังคม ก็ในเมื่อการศึกษาที่ปลูกฝังนักนิเทศศาสตร์ก่อนเข้าสู่วิชาชีพบ่งบอกชัดเจนถึงอิทธิพลของสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรทัศน์ที่มีต่อสังคม หลายหลักสูตรของแทบทุกมหาวิทยาลัยมีการเรียนในรายวิชา “สื่อมวลชนกับสังคม” แม้เป็นความจริงอยู่ว่า คนวงการโทรทัศน์เฉพาะอย่างยิ่งคนทำละครที่ประสบความสำเร็จหลายคน ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านนิเทศศาสตร์ แต่หลายคนก็เป็นครูให้กับคนในวงการเดียวกัน บางคนได้รับการยกย่องให้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์กันเลย จึงคาดหวังได้ว่าจะมีสำนึกนิเทศศาสตร์กันอยู่ถ้วนทั่ว การจัดระบบเรทติ้งรายการโทรทัศน์นั้น อาจถือเป็นการพิสูจน์ครั้งสำคัญ ถึงสำนึกของนักนิเทศศาสตร์ถึงการตระหนักในบทบาทของสื่อมวลชนที่มีต่ออนาคตของสังคม หรืออาจมองได้ว่าเป็น “การจัดระเบียบทางสังคม” ได้เช่นเดียวกัน การจัดระเบียบทางสังคมไม่ได้เป็นอำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นบทบาทร่วมกัน และต้องอาศัยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ เข้ามามีบทบาทผู้นำ และกล้าตัดสินใจ แม้จะได้รับการต่อต้านก็เป็นปกติ จะหวังให้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติคงไม่ได้ เพราะไม่มีใครจะยอมจัดระบบโดยที่ตัวเองสูญเสียประโยชน์ แม้ว่าการจัดระเบียบทางสังคมนั้นสร้างสรรค์ต่อสังคมมากเพียงใดก็ตาม ระยะเวลาที่ผ่านมาเห็นแล้วว่า การพัฒนาไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง |
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 |