นายอิทธิพล ปรีติประสงค์
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ดูเหมือนว่ามาตรการจัดเรทติ้งรายการโทรทัศน์ไทย อาจเป็นเพียงแค่ “เสือกระดาษ..!” แม้รัฐบาลได้ออกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 เรื่องระบบการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ หรือที่เรียกว่า “การจัดเรทติ้ง” เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการคัดกรองข่าวสารก่อนเข้าสู่การรับรู้ของเด็กและเยาวชนไทย
โดยให้กรมประชาสัมพันธ์จัดทำระบบการจัดลำดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ ด้านระบบประเมินคุณภาพเนื้อหา การจำแนกเนื้อหาตามอายุ เพื่อออกอากาศตามความเหมาะสมของรายการ และยังให้จัดทำกฎหมาย และนโยบายเพื่อรองรับระบบของการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ พร้อมกันนี้ ยังกำหนดให้กระทรวงวัฒนธรรม พัฒนาโครงสร้างและกลไกในการจัดทำระบบการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อในกลุ่มภาคสังคม โดยจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และตัวแทนภาคประชาชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการติดตาม และเฝ้าระวัง
ผลจากมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนั้น ทำให้เกิดการแบ่งเนื้อหาของรายการออกเป็น 5 ประเภท ประกอบด้วย ป คือ รายการสำหรับเด็กปฐมวัย , ด คือ รายการสำหรับเด็ก , ท รายการที่เหมาะสำหรับทุกวัย , น คือ รายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำเยาวชนอายุระหว่าง 13-18 ปี และ ฉ คือ รายการเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่ โดยรายการประเภท น สามารถออกอากาศได้หลัง 20.00 น. ส่วนรายการประเภท ฉ สามารถออกอากาศได้หลัง 22.00 น.
แม้ว่ารายการทางสถานีโทรทัศน์จะเริ่มปรากฏสัญลักษณ์ 5 ประเภท บนหน้าจอโทรทัศน์บ้างแล้ว แต่มาตรการจัดเรทติ้งยังไม่มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริงเท่าที่ควร เนื่องจากยังเป็นเพียงแค่มติคณะรัฐมนตรี ที่ยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบเพื่อรองรับให้เกิดการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม เวลานี้จึงมีบางรายการประเภท น และ ฉ ออกอากาศในช่วงเวลาก่อน 20.00 น.
การจัดเรทติ้ง ไม่ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคม เพราะกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ทั้งอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ จีน เวียดนาม และมาเลเซีย ได้มีการจัดเรทติ้ง เพื่อให้ความคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยใช้ระบบด้านการจัดเวลาในการออกอากาศ
เช่น กรณีของประเทศอังกฤษ และไอร์แลนด์ ได้วางหน่วยงานของรัฐ ที่เรียกว่า Ofcom เป็นผู้กำหนดเวลามาตรฐานของรายการโทรทัศน์ เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ไว้ใน Ofcom Broadcasting Code โดยรายการที่ไม่เหมาะสำหรับเด็ก ไม่สามารถออกอากาศได้ก่อนเวลา 21.00 น. เป็นต้น
และเหตุที่นานาประเทศต้องออกมาตรการควบคุมเรทติ้ง ก็เพื่อคุ้มครองการบริโภคสื่อของเด็ก เนื่องจากสื่อมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของมนุษย์ ทั้งในเชิงสร้างสรรค์และในทางลบ จากผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่า สื่อมีพลังอำนาจอย่างสูงในการปลูกค่านิยมเรื่องเพศ ความรุนแรง และการบริโภคนิยม
และหากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างสื่อประเภทต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งสื่ออินเทอร์เน็ต จะพบว่า สื่อโทรทัศน์ยังเป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงเมื่อเทียบกับสื่อประเภทอื่น เพราะโทรทัศน์เป็นสื่อในบ้านชนิดแรก ที่เด็กได้รับ
จากการวิเคราะห์รายการละครของสถานีโทรทัศน์ ถึงผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากสื่อโทรทัศน์กับการใช้ความรุนแรงในกลุ่มเยาวชน : กรณีศึกษานักเรียน/นักศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร ของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ พบว่า
ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ เด็กจะใช้เวลารับชมโทรทัศน์เฉลี่ยถึง 3.9 ชั่วโมง และเพิ่มเป็น 5.51 ชั่วโมง/วัน ในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ และในช่วงเวลาที่มีผู้ชมรายการโทรทัศน์มากที่สุดคือ ระหว่างเวลา 16.00-22.00 น. พบว่ามีการนำเสนอเนื้อหาด้านเพศ ความรุนแรง เช่น การขว้างปาสิ่งของ การทำร้ายร่างกาย การใช้อาวุธ และการใช้ภาษาหยาบคาย การแสดงออกทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีปริมาณมากขึ้น
ผลจากการเปิดรับสื่อผ่านค่านิยมที่ไม่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องสร้างระบบและหลักเกณฑ์เพื่อจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้เกิดรายการโทรทัศน์ที่ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน และยังเป็นเครื่องมือในการปกป้องเด็กในการบริโภคสื่อไม่สมกับวัย
ทั้งนี้ การจัดเรทติ้งเป็นการให้ประชาชนและภาคสังคมมีส่วนร่วมในการจัดระบบตรวจสอบคุณภาพของรายการ ขณะที่ระบบเซ็นเซอร์เป็นการกำหนดโดยผู้ผลิตหรือสถานีเพียงด้านเดียว โดยเป้าหมายหลักของการจัดเรทติ้งมี 2 ประการ คือ “การจำแนกเนื้อหารายการโทรทัศน์” เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ปกครองในการเลือกรับสื่อที่เหมาะสมกับวัยในการรับชมรายการ และ “การพิจารณาถึงคุณภาพของเนื้อหารายการโทรทัศน์” เพื่อเป็นเครื่องมือให้แนวทางและสร้างแรงจูงใจในการสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ ที่ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับผู้ชม
เพราะเกณฑ์ในการจำแนกเนื้อหามีความจำเป็นต้องมีกระบวนการพิจารณาแบบย้อนกลับจากภาคประชาชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการพิจารณาระดับความเหมาะสมของรายการระหว่างภาคประชาชนและภาคสถานี เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ และรู้เท่าทันสื่อ
ถึงเวลาแล้ว ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกมาตรการจัดเรทติ้งรายการโทรทัศน์ให้มีผลบังคับใช้อย่างแท้จริง เพื่อเป็นเกราะป้องกันด่านหนึ่งให้กับเยาวชนไทย มากกว่าการนิ่งเฉยอย่างไร้การควบคุม
นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2550