ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : “เครือข่ายสนับสนุนการปฏิรูปสื่อไทย” เกิดขึ้นในห้วงเวลาของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะนักวิชาชีพสื่อ นักวิชาการสื่อ และองค์กรภาคประชาชนด้านสื่อ และอื่นๆ ไม่เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา 47 ที่ระบุให้มีองค์กรเดียวในการกำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม เหตุผลหลักคือได้บิดเบือนเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ ทั้งๆ ที่มาตรา 47 ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของ ส.ส.ร. มาแล้ว มีคำถามว่าแล้วจะเคลื่อนไหวเรียกร้องกันไปทำไมอีก
เครือข่ายสนับสนุนการปฏิรูปสื่อไทย คือ 26 องค์กร มาจากองค์กรวิชาชีพวิทยุโทรทัศน์ เครือข่ายนักวิชาการจากหลายสถาบันและองค์กรภาคเอกชน ภาคประชาชน ยังมีความหวังว่า ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะทบทวนเรื่องนี้ หรืออย่างน้อยการเขียนบทเฉพาะกาลที่สะท้อนเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ แต่ที่สำคัญ สังคมไทยต้องมีข้อมูลเพื่อความเข้าใจในเรื่องสิทธิและเสรีภาพด้านสื่อ การเคลื่อนไหวจึงมีนัยสำคัญต่อการต่อต้านการรวบอำนาจให้กับองค์กรอิสระแห่งนี้
ด้วยเหตุผลสำคัญคือแนวคิดดังกล่าว ขัดต่อเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และกระบวนการผลักดันการหลอมรวมองค์กร ก็กระทำโดยเร่งรัด ท่ามกลางการไม่เห็นด้วยขององค์กรที่เกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อีกทั้งยังมีความพยายามจะแก้ไขกฎหมายประกอบ เพื่อให้สอดรับกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้เครือข่ายสนับสนุนการปฏิรูปสื่อไทย ได้ยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องแยกให้มีองค์กรอิสระเป็นสององค์กร เพื่อกำกับดูแลจัดสรรคลื่นความถี่โทรคมนาคมวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและยืนยันเจตนารมณ์ของประชาชนในการปฏิรูปสื่อ ตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
ส่วนในอนาคต หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรกำกับดูแลตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปนั้น ก็ควรต้องมีกระบวนการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้านและกว้างขวาง แต่ต้องไม่ละเลยความสำคัญของกิจการกระจายเสียงที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาและความเป็นอิสระของสื่อสารมวลชน รวมทั้งการถ่วงดุลและคานอำนาจเพื่อตรวจสอบ ซึ่งกันและกันด้วยเช่นกัน
การคัดค้านที่ไม่เห็นด้วยกับการหลอมรวมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้เป็นองค์กรเดียว เพื่อกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีเหตุผล 6 ประเด็นหลัก คือ
1. ขัดต่อเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อ และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ต้องการทำลายการผูกขาดคลื่นความถี่ และเปิดให้จัดสรรคลื่นความถี่ใหม่อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม การหลอมรวมองค์กรจะปิดกั้นโอกาสการเข้าถึง สื่อของผู้ประกอบการรายย่อยและภาคประชาชน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่มทุนใหญ่ได้ จึงไม่มีหลักประกันป้องกันการผูกขาดสื่อโดยรัฐและทุนขนาดใหญ่
และยังเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐ แต่ลดทอนอำนาจของภาคประชาชน เพราะอำนาจเดิมของสององค์กรคือกำหนดนโยบายและกำกับดูแล แต่อำนาจขององค์กรใหม่นี้ ถูกลดลงเหลือเพียงหน้าที่กำกับดูแล โดยให้การกำหนดนโยบาย รวมทั้งวิธีการให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการ การตรวจสอบและประเมินผลคณะกรรมการใหม่เป็นของรัฐบาล ทำให้องค์กรดังกล่าวมีโอกาสถูกครอบงำและไม่ปลอดจากการแทรกแซง
2. การหลอมรวมองค์กรทำให้กระบวนการปฏิรูปสื่อถูกลดทอนความสำคัญลง เจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อ คือ ต้องการทำลายการผูกขาดคลื่นความถี่ และเปิดให้จัดสรรคลื่นความถี่ใหม่อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เนื่องจากคุณลักษณะเฉพาะของกิจการโทรคมนาคมและวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แตกต่างกัน องค์กรใหม่ให้น้ำหนักกับการจัดการเทคโนโลยีมากกว่าเนื้อหา จึงทำลายอุดมการณ์ความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
นอกจากนี้การกำกับดูแลด้านเนื้อหาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ยังเป็นประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ครอบคลุมเรื่องวัฒนธรรมอัตลักษณ์ของชาติ ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อประชาชนทั่วไป จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ควรมีองค์กรรับผิดชอบโดยตรงและเป็นอิสระจากการจัดการด้านโทรคมนาคม เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะป้องกันการแทรกแซงและผูกขาดโดยทุนธุรกิจและฝ่ายการเมือง
3. องค์กรเดียว จะควบรวมอำนาจมหาศาล ประชาชนขาดหลักประกันการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เมื่อรวมองค์กรจะทำให้เกิดการผูกขาด ทำให้กระบวนการถ่วงดุลและคานอำนาจเชิงหลักการและโครงสร้าง ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเดิมไม่อาจเกิดได้อย่างสมบูรณ์
4. การกำหนดให้มี “องค์กรหนึ่ง” ตามมาตรา 47 ในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการลิดรอนสิทธิ์อำนาจนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากข้อกำหนดดังกล่าวมีความสำคัญและส่งผลกระทบอย่างมากต่อส่วนรวม จึงควรให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ควรให้เป็นความรับผิดชอบและให้อิสระกับอำนาจนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง
5. กระบวนการให้ได้มาซึ่งข้อสรุปว่าควรเป็นองค์กรเดียว กระทำอย่างเร่งรัด และไม่เป็นความเห็นร่วมจากผู้เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบ ก่อนหน้านี้ แม้จะมีกระบวนการประชาพิจารณ์ แต่ก็จัดทำด้วยความเร่งรีบ ไม่ได้รับฟังความเห็นจากทุกกลุ่มอย่างกว้างขวางเพียงพอ อีกทั้งยังมีลักษณะชี้นำและมีข้อสรุปล่วงหน้าไว้แล้วว่าต้องการรวมองค์กร ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตย
6. ตามรายงานที่มีการศึกษาวิจัย ตัวอย่างการหลอมรวมองค์กรในต่างประเทศยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลดีอย่างแท้จริง และยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางของนานาชาติ องค์กรหลายแห่งซึ่งได้ดำเนินตามแนวทางดังกล่าวก็ประสบปัญหา อีกทั้งประเทศไทยก็มีสภาพแวดล้อมและบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงควรพิจารณาเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบ
ความเคลื่อนไหวต่อไป เครือข่ายสนับสนุนการปฏิรูปสื่อไทย จะเดินทางไปพบหน่วยงานอื่นๆ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการรวม กทช. และ กสช. ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะ ส.ส.ร. เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขและทบทวนมติดังกล่าวต่อไป
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550