โดย อรวรรณ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันนี้เราเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับคำว่า…รัฐบาลเผด็จการ ที่รวบรัดอำนาจเบ็ดเสร็จในทุกเรื่อง ถามว่าดีมั้ยหลายคนอาจตอบว่าไม่เสียหายอะไร ในเมื่อก่อนหน้านี้ความแตกแยกในสังคมมีมากจนมองไม่เห็นทางออก ขณะที่อีกฝ่ายอาจตอบว่ามันแย่แน่ การเกิดปฏิวัติรัฐประหารย่อมทำให้สูญเสียภาพความเป็นประชาธิปไตย ยิ่งในสายตาอารยประเทศ ย่อมมองว่าเรากำลังย้อนอดีตและห่างไกลคำว่า โลกประชาธิปไตยออกไปทุกขณะ
เมื่อหันมองวิธีการต่างๆ ที่รัฐบาลนำมาใช้ในยุคนี้ ทั้งที่ไม่มีอคติ ไม่เคยมีแนวคิดต่อต้านคัดค้านการเข้ามาของรัฐบาลชั่วคราว เพราะมองว่าเป็นผู้เสียสละ เข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง แต่ในหลายมาตรการที่รัฐออกมา กลับตอกย้ำภาพการถอยหลังชัดขึ้น ตัวอย่างที่เห็นชัด เช่น มาตรการจัดเรทติ้งทีวี ที่ให้มีโลโก้เตือนว่ารายการนี้ เหมาะกับผู้ชมกลุ่มไหนขึ้นไว้ก่อนเผยแพร่
มาตรการนี้ดูเผินๆ เหมือนเป็นการให้ข้อมูลผู้ชม และเสมือนการปรามผู้ประกอบการว่า คุณต้องผลิตรายการให้ดี ไม่เช่นนั้นจะมีโลโก้ติดหราให้ทราบกันไปว่าเป็นรายการเกรดไหน…ในสายตาของผู้บริโภคมองมาตรการนี้ให้รู้สึกแปลกๆ ที่มีโลโก้ออกมาเตือนก่อนชม แต่ในแง่ธุรกิจมันคงมากกว่าคำว่าแปลก เพราะอาจมีผลต่อการจัดเกรด และอาจส่งผลถึงเรทติ้งรายการตามมา
แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับคำถามว่า…เรทติ้งทีวี ที่จัดออกมานี้มันช่วยแก้ปัญหาได้หรือ ทำให้รายการมีคุณภาพได้จริงหรือ แค่สัญลักษณ์บ่งบอกลำดับขั้นความเหมาะสม เพียงโลโก้ขึ้นโชว์ช่วงต้นรายการ จะมีผู้บริโภคสักกี่คนที่สนใจ (บ่อยครั้งอ่านไม่ทันเพราะโลโก้ขึ้นเร็วมาก) และหากไม่มีโลโก้เตือน…ประชาชนคิดเองไม่เป็นหรือ
ในความเห็นส่วนตัวแล้ว มองว่าโลโก้นี้ ไม่สามารถป้องกันเนื้อหาสาระที่ไม่เหมาะสมได้ เมื่อรายการออกอากาศ ผู้ชมก็รับสื่อไปเรียบร้อยแล้ว จึงคิดอยู่ทุกครั้งที่เห็นโลโก้เหล่านี้แวบขึ้นมาหน้าจอทีวีว่า จะทำไปเพื่ออะไรกัน เพราะมันก็ไม่สามารถป้องกันอะไรได้ จะดีกว่ามั้ยถ้ารัฐมีหน่วยงานกำกับดูแลเนื้อหาที่เข้มงวดพอ หากพบว่ารายการใดมีสาระไม่เหมาะสม ไม่ควรให้ออกอากาศ
อาจด้วยแนวคิดนี้ จึงทำให้ล่าสุดคณะกรรมการบูรณาการนโยบายสื่อเพื่อการพัฒนาสังคม เพื่อจัดทำเป็นนโยบายของรัฐในรูปของมติคณะรัฐมนตรี ได้เสนอมาตรกรเพิ่มเติมว่า จะกำหนดให้เวลาออกอากาศตั้งแต่ 05.00 น. ถึง 20.00 น. เป็นช่วงเวลาที่แพร่ภาพออกอากาศได้เฉพาะรายการที่มีเนื้อหาประเภท ท. (รายการทั่วไปเหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย) เวลา 20.00 น. ถึง 22.00 น. จะแพร่ภาพออกอากาศรายการประเภท น. (รายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำ) และหลังเวลา 22.00 น.จึงจะสามารถแพร่ภาพออกอากาศรายการประเภท ฉ. (รายการเฉพาะไม่เหมาะแก่เด็กและเยาวชน)
หลังแนวคิดนี้ออกมา ทำให้มีเสียงค้านค่อนข้างแรงจากสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ที่เห็นว่าการกำหนดเวลาออกอากาศตามเรทติ้งทีวีดังกล่าว ไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน แถมมีกระแสเพิ่มเติมมาอีกว่า รัฐบาลกำลังเตรียมจัดเรทติ้งอื่นๆ ตามมา
ดูแล้วคิดเหมือนกันมั้ยว่า…รัฐบาลพยายามทำให้เหมือนว่าคุมได้ ทั้งที่จริงคุมอะไรไม่ได้เลย
ที่มา :กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550 |