โดย ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
การรับฟังความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการ มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสื่อ ซึ่งถกเถียงกันไม่จบ โดยเฉพาะในประเด็น การควบรวมหน่วยงานกำกับ กทช. กับ กสช. แม้กระทั่งในเวทีของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกับนักวิชาการสาขาสื่อสารมวลชนที่มีเสียงคัดค้านอีกครั้งหนึ่ง |
ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับรับฟังความคิดเห็น หมวดที่ 3 ส่วนที่ 7 สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน มาตรา45 – 47 กล่าวไว้ว่า
มาตรา 47 คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้มีองค์กรของรัฐ ที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ….. มาตราข้างต้นโดยเฉพาะในวรรคสอง เป็นความเปลี่ยนแปลงที่กำหนดให้เกิดขึ้นในวงการสื่อสารโทรคมนาคม และกิจการสื่อสารมวลชนไว้ โดยอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ แบบที่เรียกว่า พลิกจากเดิมอย่างชัดเจน เดิม ในมาตรา 40 ที่ระบุถึงประเด็นคลื่นความถี่ไม่มีการกำหนดไว้ในลักษณะนี้ |
แนวความคิดข้างต้น ได้รับการคัดค้านไม่น้อยจากวงการสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะจากกลุ่มนักวิชาการ ส่วนผู้ประกอบกิจการด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนผู้ประกอบกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ส่วนใหญ่เห็นด้วย |
อะไร คือ ความแตกต่างของความคิดในเรื่องนี้ ? ผู้เขียนเคยนำเสนอความคิดเรื่องนี้ ในคอลัมน์ “คิดจากข่าว” นี้ ฉบับวันที่ 22 มีนาคม 2550 หัวข้อ “ทำไมต้องรวม กทช. – กสช. ?” ถึงสาเหตุที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย รวมทั้ง ความสำคัญของการมี กสช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ กับ กทช. หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ต้องแยกกัน มีประเด็นพิจารณา 2 กรณีคือ กรณีแรก – การทบทวนและเสนอขอแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ในหลายประเด็น รวมทั้งการเสนอให้พิจารณาแก้ไข ให้รวม กทช. – กสช. ที่ดำเนินการโดย คณะอนุกรรมาธิการศึกษากฎหมายการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสาร คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังไปไม่ถึงไหน แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กลับนำเรื่อง ที่สภานิติบัญญัติยังไม่แก้ไขกฎหมาย มีกำหนดเอาไว้ในกฎหมายแม่ น่าจะเป็นประเด็นที่ควรทบทวนความเหมาะสม
นอกจากนั้น ในประเด็นที่เสนอขอแก้ไขนี้ พบว่าในห้วงเวลาของการระดมความคิดเห็นจนกำหนดเป็นกฎหมาย พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ได้เคยถกเถียงกันอย่างกว้างขวางมาแล้ว เป็นงานคนละภาระกิจ ที่มีความสำคัญแตกต่างกัน จนในที่สุดได้กำหนดเป็นกฎหมาย การควบรวมองค์กร ถือเป็นเรื่องหลักของการปฏิรูปสื่อ เพราะองค์กรข้างต้นทำหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนให้การปฏิรูปสื่อในสังคมไทยเป็นความจริง นอกจากนั้น พบว่ารัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีความพยายามในการปฏิรูปสื่อ มีการตั้งคณะกรรมการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (รศ.สมยศ เชื้อไทย เป็นประธาน – กำลังดำเนินการยกร่าง หลังจากมีการรับฟังความคิดเห็นแล้ว 5 เวที ทั่วประเทศ) รวมทั้ง รัฐบาลได้ตั้ง คณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทการใช้ทรัพยากรสื่อสารมวลชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน – กำลังร่างแผนแม่บท ภายหลังศึกษาวิจัย และรับความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนแล้ว) รวมทั้ง ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการบูรณาการนโยบายสื่อเพื่อการพัฒนาสังคม (นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นประธาน – กำลังเร่งรัดงานการปฏิรูปสื่อของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรมภายในเวลา 6 เดือน) ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องในการเสนอ และหรือผลักดันให้มีการควบรวมองค์กร กทช. กสช. ไม่มีข้อมูลในประเด็นความคืบหน้าเหล่านี้ หรือว่าไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังขับเคลื่อนในการปฏิรูปสื่อของทุกภาคส่วนกระนั้นหรือ จะกลายเหมือนกับว่า ยกร่างโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับบริบทแวดล้อมของปัญหาการปฏิรูปสื่อ เหมือนการล็อคสเปคเวลามีการประมูลซื้อจ้างครุภัณฑ์ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย มีความผิด ! กรณีที่สอง – การหลอมรวมสื่อ (Convergence) หรืออาจเรียกการบรรจบของเทคโนโลยีสื่อ หรือการควบรวมสื่อ ซึ่งเป็นความจริงในเวลานี้ ที่เทคโนโลยีเกี่ยวกับสื่อทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ เทคโนโลยีการแพร่ภาพและเสียง (Broadcast and Motion Picture Technology) เทคโนโลยีการพิมพ์ (Print and Publishing Technology) และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (Computer Technology) โดยมีเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม (Telecommunication Technology) เป็นปัจจัยสนับสนุนให้วิวัฒนาการมาพบกัน ในประเด็นนี้เป็นสาเหตุหลักที่สนับสนุนให้ควบรวมกิจการสื่อสารโทรคมนาคมและกิจการสื่อสารมวลชน ผลกระทบจะเกิดความสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ และประชาชนอาจจะไม่ได้ใช้บริการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการหลอมรวมเทคโนโลยีสื่อ สำหรับเหตุผลการควบรวมที่ว่า เพราะ กสช. ไม่เกิด ประเทศชาติ และสังคมไทยสูญเสียที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเสนอควบรวม กทช. กสช. นั้น ในภายหลังไม่มีความชอบธรรมในการกล่าวอ้าง เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมายการสรรหา กสช. แต่ปัญหาอยู่ที่กระบวนการที่ไม่โปร่งใส เป็นธรรม จนเป็นสาเหตุให้ ตุลาการมีวินิจฉัยเป็นโมฆะไปแล้ว ข้อเท็จจริงที่ยอมรับได้ในประเด็นหลอมรวมสื่อ เช่น นิโคลัส นิโกรปอนเต้ (Nicholas Negroponte) นักวิจัยด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร จากห้องปฏิบัติการวิจัยด้านสื่อ ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซท (the Massachusetts Institute of Technology) ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา เป็นคนแรกที่นำเสนอแนวความคิดการบรรจบของเทคโนโลยีสื่อเมื่อประมาณ ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) โดยการบรรยายผลการค้นพบจากห้องปฏิบัติการวิจัยด้านสื่อจากจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเมสซาซูเซท (The MIT Media Lab) ปรากฏว่าการนำเสนอแนวความคิดครั้งแรกของเขาไม่ค่อยมีใครฟังเข้าใจมากนัก จนในเวลานี้ใครๆ ก็เข้าใจและยอมรับลักษณะดังกล่าวนี้แล้ว เพราะมีรูปแบบคล้ายๆ กับห่วง 3 ห่วงที่เชื่อมกันตามที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก สัญลักษณ์ของสถานีโทรทัศน์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายท่าน ได้แสดงความเห็นว่าการบรรจบกันของสื่อมิได้ทำให้สื่อดั้งเดิมแปลงโฉมหน้าเป็นสื่อใหม่แบบทันทีทันใด แต่เป็นแบบค่อยๆ เป็นๆ ไป และไม่คิดว่าสื่อใหม่จะเข้ามาแทนที่สื่อดั้งเดิม แต่จะมาแบบเปลี่ยนแปลงสภาพแบบค่อยเป็นค่อยไป เอเวอร์เรตต์ โรเจอร์ (Evertt Rogers) นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่มีชื่อเสียงในทฤษฎีนวัตกรรม กล่าวให้ข้อคิดในเรื่องนี้ว่า ประวัติศาสตร์ของการสื่อสารมีอะไรมากกว่าการรวมกันของสื่อ หรือการเกิดสื่อใหม่มาแทนที่สื่อเก่านั้น แนวความคิดของนิโกรปอนเต้เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็น “พื้นที่ของโอกาสที่มีศักยภาพมาก” ในการพัฒนาของสื่อใหม่ ความเชื่อที่ว่าการบรรจบกันของเทคโนโลยีสื่อเป็นผลที่แยกไม่ออกจาก “การรวมกิจการในธุรกิจสื่อ” (Mergers) ทั้งๆ ที่กระบวนการของการแปลงสภาพเทคโนโลยีของสื่อยังค่อยเป็นค่อยไป และใช้เวลามากกว่าสิ่งที่มองเห็นในเวลานี้ ซึ่งอาจจะเป็นแต่เพียงโอกาสที่เกิดขึ้นเฉพาะครั้งเฉพาะคราวก็เป็นได้ ขณะที่การแปลงสภาพของเทคโนโลยีสื่ออาจจะใช้เวลามาก และมิใช่เป็น “การรวมกันของสื่อ” (Integrated Entity) แต่อาจเป็น “การเกิดใหม่ของสื่อ” (New Entity) ก็เป็นได้ |
การหลอมรวมสื่อ (Convergence) จึงเป็นที่มาของความขัดแย้งในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 เพราะสามารถมองได้ในมิติของเทคโนโลยีและธุรกิจ ที่มีผลต่อการขยายตัวของกิจการทางธุรกิจของการประกอบการสื่อสารโทรคมนาคม แต่การใช้ประโยชน์จากเครือข่าย เป็นมิติทางสังคมที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบทางสังคมเป็นหลัก จึงย่อมได้รับการสนับสนุนจากนักธุรกิจ นักการตลาด นักวิศวกรสื่อสารโทรคมนาคม เป็นหลักที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและธุรกิจสื่อสาร แต่กลับถูกคัดค้านจากนักวิชาการสาขาสื่อสารมวลชนในมิติทางสังคม |