โดย ผศ.ลัดดาวัลย์ อินทจักร
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในที่สุด มาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็กลายเป็น มาตรา 47 ใน (ร่าง) รัฐธรรมนูญฉบับ ล่าสุด และแม้จะคงประเด็นสำคัญไว้ว่า “คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” แต่ปัญหาใหญ่ที่ซ่อนเร้นอยู่ก็คือ มีการแก้ไขเพิ่มเติมในวรรคสองว่า “ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่ง ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม”
ความเปลี่ยนแปลงนี้มีผลสะเทือนอย่างยิ่งต่อการปฏิรูปสื่อ และเป็นการสะท้อนให้เห็นความไม่ใส่ใจส่งเสริม “กระบวนการมีส่วนร่วม” อย่างแท้จริง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) คือ องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 อันเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 40 วรรคสอง ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ไทยให้พ้นจากเงื้อมมือของอำนาจรัฐและกลุ่มทุนใหญ่ “กทช.” มีทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม ส่วน “กสช.” มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ส่วนการพ้นตำแหน่งก็ต่อเมื่อเสียชีวิต, มีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์, ลาออก, ขาดคุณสมบัติ, มีลักษณะต้องห้าม, และวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่งเพราะทุจริต ประเทศไทยมีการคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่ง “กทช.” รวม 7 คน ตั้งแต่ พ.ศ.2547 ประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 6 คน ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีผลงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้รู้ เข้าใจ เชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ ในกิจการโทรคมนาคม เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ความมั่นคง กฎหมายมหาชน หรือกิจการท้องถิ่น ในที่สุดจึงมีกรรมการที่เป็นอดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข 2 คน, อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์, อดีตอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (ลาออกปลายปี 2549), อดีตอาจารย์วิศวกรรมศาสตร์, อดีตอาจารย์นิติศาสตร์, และมีประธานเป็นอดีตนายทหารสื่อสาร (อ่านเพิ่มเติมได้ใน www.ntc.or.th) แต่ปัจจุบันกระบวนการสรรหา “กทช.รายที่ 7” ยังคงมีปัญหา เพราะเมื่อดำเนินงานครบ 3 ปี ต้องจับสลากออกจากตำแหน่ง 3 คน ซึ่งหากสรรหาไม่ทันภายในเดือนกันยายน ปีนี้ ก็จะเหลือ กทช.เพียง 3 คน และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ขณะที่ “กสช.” 7 คน ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย เพราะกระบวนการสรรหาไม่โปร่งใสจนเกิดการฟ้องร้องต่อศาลปกครองถึง 2 ครั้ง ทำให้การคัดเลือกโดยวุฒิสภาเป็นโมฆะ สำหรับ “อำนาจหน้าที่ของ กทช.และ กสช.” นั้น มีมากมาย โดย “กทช.” มีไม่น้อยกว่า 20 ประการ และ “กสช.” ไม่น้อยกว่า 18 ประการ ทั้งนี้ กฎหมายได้กำหนดให้สององค์กรมีหน้าที่สำคัญร่วมกันใน “การบริหารคลื่นความถี่” ในรูปของ “คณะกรรมการร่วม” โดยมีอำนาจหน้าที่ไม่น้อยกว่า 10 ประการ อาทิ จัดทำ แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่, จัดทำตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ, จัดสรรคลื่นความถี่ทุกกิจการ ความยืดเยื้อของการจัดตั้ง “กสช.” ตลอดจนปัญหาในการปฏิบัติงานของ “กทช.” ทำให้รัฐบาลชุดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีแนวคิดที่จะยุบรวม กทช.และ กสช. ไว้ด้วยกัน พร้อมๆ กับเร่งรัดกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ กทช.และ กสช. กำลังจะกลายเป็น “กสทช.” !!! |
เหตุผลที่รัฐบาลชุด คมช. นำโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีแนวคิดจะยุบรวม 2 องค์กร เป็น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทั้งที่มีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชน นิเทศศาสตร์ และวารสารศาสตร์ ก็คือ ปัจจุบันเป็น “ยุคแห่งการหลอมรวมสื่อ” (Convergence Period) ดังนั้นบริการด้านวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม โทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเตอร์เน็ต อาจนำมาจัดสรรใหม่ เป็นบริการ 4 ด้าน ได้แก่ เนื้อหา อุปกรณ์ โครงข่าย และโครงสร้างพื้นฐาน ตามรอยคณะกรรมการการสื่อสารและสื่อผสมแห่งมาเลเซีย (Malaysian Communications and Multimedia Commission : MCMC) ทั้งนี้ “กสทช.” ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการศึกษากฎหมายการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสาร ในคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ข้อมูลจากเวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 : 30 มีนาคม 2550) อาจประกอบด้วยคณะกรรมการ 9 คน แบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยุ-โทรทัศน์ 2 คน โทรคมนาคม 2 คน และอื่นๆ อีกด้านละ 1 คน ได้แก่ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การศึกษา กิจการท้องถิ่นและวัฒนธรรม และความมั่นคง (จากเดิมจะแยกเป็น กทช. 7 คน และ กสช. 7 คน)
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลแอบแฝง คือ การที่ กทช.ชุดปัจจุบันไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน และมีข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริต ประกอบกับความล่าช้าอันเกิดจากความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหา กสช. ส่งผลให้ขาด “คณะกรรมการร่วม” จึงไม่สามารถออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ …แต่นั่นก็เป็นเหตุผลด้านเดียวของผู้ประกอบการโทรคมนาคม มิใช่เหตุผลที่จะทำให้นักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชนยอมรับได้ ทั้งนี้ เนื่องจาก กทช. และ กสช. มีลักษณะงานและอำนาจหน้าที่หลายประการแตกต่างกัน (มาตรา 23 และ มาตรา 51) บุคลากรผู้มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายและบริหารงานจึงมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันด้วย โดยกิจการวิทยุ-โทรทัศน์ยุคปฏิรูปสื่อนี้ นอกจากจะต้องกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุ-โทรทัศน์ทั้งกิจการบริการสาธารณะ บริการชุมชน และบริการธุรกิจแล้ว ยังต้องมุ่งเน้นเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์มากกว่าหวังผลกำไร และเน้นการเปิดพื้นที่ให้คนเล็กคนน้อยได้มีสิทธิในการใช้ทรัพยากรของชาติมากขึ้น จึงมีมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง ซึ่งอาจสวนทางกับกิจการโทรคมนาคมที่ให้ความสำคัญกับมิติทางเศรษฐศาสตร์และการตลาด เกี่ยวโยงกับการขยายโครงข่ายและเทคโนโลยีในระดับมหภาคเป็นหลัก ดังนั้น กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยุ-โทรทัศน์หรือด้านโทรคมนาคมเพียงฝ่ายละ 2 คน ใน กสทช. จึงไม่น่าเพียงพอในการทำหน้าที่ใหญ่โตเช่นนั้น ส่วนประเด็นอำนาจหน้าที่สำคัญซึ่งมีความเกี่ยวข้องกัน คือ เรื่องการบริหารคลื่นความถี่ จะมี “คณะกรรมการร่วม” (กทช. + กสช.) ดำเนินการอยู่แล้ว (มาตรา 63) แม้ผู้เสนอจะอ้างว่ามีต้นทุนทางธุรกรรมเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่น่าจะมีน้ำหนักจนถึงขั้นต้องรวมองค์กร เพราะการถ่วงดุลอำนาจย่อมดีกว่ารวบอำนาจการบริหารงานมิใช่หรือ สำหรับกรณีความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหา กสช. อันเนื่องมาจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้สมัครและกรรมการสรรหาบางราย จนเกิดการฟ้องร้องต่อศาลปกครองถึง 2 ครั้ง ให้เป็นโมฆะนั้น เป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกับ กทช. คือเรื่องที่มาของคณะกรรมการสรรหาและกระบวนการสรรหา ซึ่งต้องไปแก้ไขมาตรา 9 (กสช.) และมาตรา 49 (กทช.) ใน พร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 โดยอาจลดสัดส่วนกรรมการสรรหาจากภาครัฐและป้องกันการแทรกแซงจากกลุ่มทุนใหญ่ รวมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันผลักดันให้กระบวนการสรรหาเกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว แทนที่จะตัดปัญหาด้วยการรวมเป็นองค์กรเดียว ซึ่งอาจก่อผลเสียตามมาในอนาคตหากเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดียวผูกขาดอำนาจในสองกิจการสื่อสารหลักของประเทศ ผู้เขียนอยากเสนอให้มอง “การปฏิรูปสื่อ” เป็นเรื่องใหม่ ที่ต้องอาศัยเวลาในการทดลองและพิสูจน์ ให้เห็นว่า “องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ” ซึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการทั้งสอง คือ กทช. และ กสช. นั้น สามารถเกิดและเติบโตได้จริงหรือไม่ แล้วในอนาคตจึงค่อยพิจารณาปรับเปลี่ยน ต่อไปให้เหมาะสม “เทคโนโลยี” เป็นสิ่งที่ควรรู้เท่าทัน แต่ไม่จำเป็นต้องวิ่งตามจนสุดตัว ดังนั้น หากผู้บริหารประเทศในภาวะวิกฤตการเมืองตระหนักในธรรมชาติของกิจการสื่อสารที่แตกต่างกัน ก็ชอบที่จะยอมรับฟังเหตุผลของผู้เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง มิใช่ฉวยโอกาสเร่งรัดมัดมือชกโดยจัดตั้ง “กสทช. : องค์กรของรัฐที่ขาดอิสระ” ในยุครัฐบาลเผด็จการเช่นนี้ ผศ.ลัดดาวัลย์ อินทจักร |