สื่อโทรทัศน์สาธารณะ จากมุมมองยูเนสโก

ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เมื่อที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งองค์กรบริหารสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ หรือทีไอทีวี (TITV) ในลักษณะสื่อสาธารณะ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดอนาคตของสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ที่มี รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ เป็นประธาน แล้วก็หมายความว่า ประวัติการสื่อสารมวลชนไทยก็เดินมาถึงอีกลำดับขั้นหนึ่งของสื่อวิทยุโทรทัศน์ ที่ได้เริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นได้นำเสนอคุณลักษณะของโทรทัศน์สาธารณะ ตลอดจนถึงโครงสร้างทางการบริหารจัดการ และเนื้อหารายการ และที่มาของรายได้ให้สาธารณชนได้ทราบกันทั่วไปแล้ว ซึ่งก็มีรายละเอียดที่เป็นผลจากการศึกษาวิจัยต้นแบบของสื่อโทรทัศน์สาธารณะจากต่างประเทศ แต่ก็มีเอกลักษณ์ที่เป็นไทยอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญ คณะทำงานอาจจำเป็นต้องกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมอีกมาก เพื่อนำไปสู่การก่อตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะ TITV ให้สำเร็จ

โทรทัศน์สาธารณะที่ประสบความสำเร็จก็มีให้เห็นกรณีของสถานีโทรทัศน์บีบีซี กระนั้นก็ตาม องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” (UNESCO) ก็ยังคงมีโครงการส่งเสริมให้เกิดสื่อวิทยุและโทรทัศน์สาธารณะในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามถอดตัวแบบที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำเสนอให้ประเทศต่างๆ ในโลก ได้นำไปสู่การผลักดันให้เป็นจริง

แม้ในที่สุดประวัติศาสตร์สื่อสารมวลชนไทย อาจต้องบันทึกไว้ว่า ที่มาของการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทย เกิดจากการยึดสถานีคืนมาจากระบบโทรทัศน์เสรี ตามเจตนารมณ์แห่งเดือนพฤษภาคม 2535 ที่เคยเปิดให้บริษัทเอกชนประมูลเพื่อประกอบกิจการ แต่มีการแทรกแซงและครอบงำ จนนำไปสู่ปัญหาในทางธุรกิจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สื่อสารมวลชนไทย

และรัฐบาลยึดคืนมาปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างเสียใหม่ ในลักษณะ “รี-แบรนด์” (Re brand) ก็ตามที แต่ก็น่าชื่นใจว่าในอนาคตอันใกล้ สังคมโดยเฉพาะภาคประชาชน ครอบครัว เด็กและเยาวชน จะได้มีโอกาสรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อโทรทัศน์ที่ไม่เป็นพิษภัยอย่างเช่นที่ผ่านมา

หนังสือชื่อ “Public Service Broadcasting : A Best Practices Source Book” ของ ดร.อินดราจิท แบนเนอร์จี (Dr. Indrajit Banerjee) จัดพิมพ์และเผยแพร่โดยศูนย์การสื่อสารมวลชนและข้อมูลข่าวสารแห่งประเทศอาเซียน (the Asian Media Information and Communication : AMIC) หรือเอมิก ในองค์การยูเนสโก เมื่อปี 2548

ในหนังสือเล่มนี้ จะกล่าวถึงเนื้อหา รวม 8 บท ซึ่งผู้เขียนจะเลือกหยิบเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญบางส่วนในหนังสือเล่มนี้ มานำเสนอแก่ผู้อ่านในคอลัมน์นี้เป็นตอนๆ ในโอกาสต่อๆ ไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับความหมายของ “สื่อวิทยุโทรทัศน์สาธารณะ” หมายถึง สื่อที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้การเข้าถึงและการมีส่วนร่วมของวิถีชีวิตคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ในแง่ของการศึกษา วัฒนธรรม การพัฒนาความรู้ การเสริมสร้างสภาวะให้คนในสังคมอยู่ร่วมกัน

มุมมองประการหนึ่งในความหมายของสื่อวิทยุโทรทัศน์ตามมุมมองของยูเนสโก คือ สื่อวิทยุโทรทัศน์สาธารณะจะมีความสำคัญต่อคนส่วนใหญ่ในระบบโลกที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือมีปัญหาในช่องว่างทางการศึกษา สื่อวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบและโครงสร้างทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ICT) ที่มีศักยภาพสูงยิ่งยวด

จึงทำให้ยูเนสโกได้ตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่รณรงค์สนับสนุนให้มีการดำเนินการสื่อวิทยุและโทรทัศน์สาธารณะในประเทศต่างๆ พอๆ กับการเสริมสร้างความเข้าใจในมิติของผู้รับสาร (Audience) ในฐานะเป็นภาคพลเมือง (Citizens) ไม่ใช่เป็นผู้บริโภค (Consumers) โดยการดำเนินงานของสื่อวิทยุและโทรทัศน์สาธารณะ จะต้องคำนึงพลังของภาคประชาสังคม (Civil Society) ทั้งในการบริหารจัดการ การตรวจสอบและควบคุม และการกำหนดคุณภาพเนื้อหาของรายการ

ในตอนหน้าจะนำเสนอบทบาทความสำคัญของสื่อวิทยุโทรทัศน์สาธารณะในการเสริมสร้างประชาธิปไตยภาคประชาชน (Citizens’Democratic Participation) และสภาพแวดล้อมของสื่อโทรทัศน์สาธารณะและการสร้างภาวะรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) การพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง การส่งเสริมเสรีภาพสื่อสารมวลชน และการตรวจสอบอย่างโปร่งใส และการกำหนดมาตรฐานของรายการในสื่อโทรทัศน์สาธารณะ รวมทั้งแนวโน้มของสื่อโทรทัศน์สาธารณะในยุคดิจิทัล (Digital Age) ต่อไป

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 07:00:00

คิดจากข่าว:สื่อโทรทัศน์สาธารณะ จากมุมมองยูเนสโก (2)

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : บทความครั้งนี้ ขอนำเสนอสาระของสื่อโทรทัศน์สาธารณะที่ได้จากหนังสือชื่อ “Public Service Broadcasting : A Best Practices Source Book” ของ ดร.อินดราจิท แบนเนอร์จี (Dr. Indrajit Banerjee) จัดพิมพ์และเผยแพร่โดยศูนย์การสื่อสารมวลชนและข้อมูลข่าวสารแห่งประเทศอาเซียน (the Asian Media Information and Communication : AMIC) หรือเอมิก ในองค์การยูเนสโก (United Nations Educational Scientific and Cultural Organization) เมื่อปี 2548

หนังสือเล่มนี้บอกให้รู้ว่า ยูเนสโกได้ประสบการณ์การเรียนรู้จากสื่อสาธารณะทั่วโลก และยูเนสโกเห็นด้วย จนกำหนดเป็นหลักการการดำเนินการ “สื่อสาธารณะ” (Public Service Broadcasting : PBS) โดยมุ่งเน้นหลักการสำคัญ 4 ประการ ในการตรวจสอบว่า สื่อมวลชนใดๆ เป็นสื่อสาธารณะหรือไม่? คือ

1. หลักการการเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง ทั่วถึง และเท่าเทียมของพลเมือง (Universality) อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของประชาธิปไตย ไม่ว่าพลเมืองนั้นจะมีความแตกต่างกันทางฐานะทางสังคม หรือฐานะทางสังคมก็ตาม สื่อสาธารณะจะต้องให้มีพลเมืองได้มีโอกาสใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

2. หลักการความหลากหลาย (Diversity) ที่เกี่ยวข้องกับตัวเนื้อหาสาระ การนำเสนอรายการ และกลุ่มเป้าหมาย (The Audiences Targeted) สื่อสาธารณะจะต้องสะท้อนผลประโยชน์สาธารณะ (Public Interested) ที่หลากหลายผ่านรูปแบบรายการที่หลากหลาย ทั้งรายการข่าวและรายการบันเทิง บางรายการอาจจะพุ่งเป้าที่กลุ่มคนเพียงบางส่วนในสังคม สื่อสาธารณะจึงต้องมีรายการที่หลากหลาย ซึ่งทั้งหมดประมวลกันแล้ว รายการในสื่อสาธารณะต้องสามารถเข้าถึงทุกคนในสังคม และที่สำคัญเนื้อหาสาระที่ถกเถียงในสื่อสาธารณะก็ต้องมีความหลากหลายเช่นกัน

3. หลักการความมีอิสระในวิชาชีพ (Editorial Independence) ผู้ปฏิบัติงานสื่อสาธารณะต้องมีความอิสระในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ การทำหน้าที่นี้จึงต้องปลอดจากอำนาจทางธุรกิจ และอำนาจทางการเมือง ถ้าข่าวสารที่นำเสนอในสื่อสาธารณะได้รับอิทธิพลในทางใดๆ จากรัฐบาล พลเมืองจะให้ความเชื่อถือในข่าวสารน้อยลงทันที และถ้ารายการในสื่อสาธารณะมีเป้าหมายทางธุรกิจ พลเมืองจะตั้งคำถามว่าทำไมจึงยังจำเป็นต้องมีสื่อสาธารณะที่ไม่แตกต่างจากสื่อธุรกิจ

4. หลักการความโดดเด่น (Distinctiveness) คือ ต่างจนสามารถเป็นผู้นำในด้านคุณภาพของรายการ โดยพลเมืองจะต้องมีความสามารถมีส่วนในการกำหนดว่า รายการในสื่อสาธารณะที่มีคุณภาพมีลักษณะอย่างไร นั่นหมายถึง ระบุได้ชัดเจนว่ารายการในสื่อสาธารณะต้องมีคุณลักษณะอย่างไร ไม่ใช่แต่เพียงการนำเสนอรายการที่สื่อธุรกิจอื่นๆ ไม่ดำเนินการเท่านั้น ไม่สนใจให้ความสำคัญ แต่เป็นการผลิตรายการที่สื่อธุรกิจอื่นๆ ไม่เคยได้นึกถึงความสร้างสรรค์เช่นนั้นมาก่อนเลย

สื่อสาธารณะตามมุมมองของยูเนสโก ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ สื่อโทรทัศน์ เท่านั้น แต่ยูเนสโกยังให้ความสำคัญกับสื่อวิทยุกระจายเสียงไม่น้อยเลย โดยมีเหตุผลที่สำคัญคือสื่อวิทยุกระจายเสียงสามารถเข้าถึงพลเมือง ในการพัฒนาด้านการศึกษา ความเป็นอยู่ ได้กว้างขวางทั่วถึง มากกว่าสื่อวิทยุโทรทัศน์เสียด้วยซ้ำ ดังนั้น หากจะมีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะขึ้น ก็ไม่ควรลืมว่าการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงสาธารณะ ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการใช้สื่อเพื่อการพัฒนา

แม้กระทั่งในห้วงเวลาที่เทคโนโลยีการสื่อสารกำลังอยู่ในยุคของการหลอมรวม/การควบรวม และหรือการบรรจบกันของเทคโนโลยี (Convergence) ซึ่งเทคโนโลยีการสื่อสาร ล้วนมีรากฐานร่วมกันโดย “ระบบดิจิทัล” (Digital Age) กล่าวคือ แนวโน้มของสื่อสาธารณะที่จะเกิดขึ้น จึงไม่ควรจำกัดตัวเองไว้ที่เทคโนโลยีสื่อมวลชนเฉพาะตามแบบฉบับของสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) เท่านั้น แต่ควรรวมไปถึงสื่อใหม่ (New Media) ด้วย นั่นหมายถึงว่า สื่อสาธารณะในอนาคตอาจมีสื่อใหม่ เช่น วิทยุ โทรทัศน์อินเทอร์เน็ต วิทยุโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ได้ด้วย

จากประสบการณ์การศึกษาวิจัยของยูเนสโก จะเห็นได้ว่าการดำเนินการสื่อวิทยุ-โทรทัศน์สาธารณะ คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น

1. การคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของสื่อโทรทัศน์สาธารณะที่แตกต่างกันในแต่ละสังคม ซึ่งได้แก่ ประวัติศาสตร์สื่อ ในแง่ “ปรัชญาและอุดมการณ์สื่อในสังคม” ซึ่งผูกพันกับการก่อตั้งองค์กร การใช้งานสื่อ รวมถึงลักษณะทางประชากรศาสตร์ ระดับและอัตราการเรียนรู้หนังสือ ความก้าวหน้าและความพร้อมทางเทคโนโลยีการสื่อสาร เป็นต้น การเกิดขึ้นของสื่อสาธารณะในแต่ละประเทศ จึงไม่อาจเลียนแบบรูปแบบของประเทศอื่นๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของสภาพแวดล้อมเหล่านี้

2. การสร้างภาวะรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ให้เกิดขึ้นแก่พลเมือง ซึ่งเป็นได้ทั้งผู้รับสื่อ ผู้ผลิตสื่อ ผู้ประเมินคุณภาพมาตรฐานของสื่อ เป็นต้น การพัฒนาให้มีสื่อในลักษณะนี้ น่าจะสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยูเนสโกยอมรับ และให้น้ำหนักเป็นเป้าหมายของการพัฒนา คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

3. การคำนึงถึงหลักการของนิติศาสตร์ มาเป็นกรอบในการกำหนดแนวความคิด เพื่อให้ภาระกิจของสื่อวิทยุ-โทรทัศน์สาธารณะมีโอกาสบรรลุเป้าหมาย กล่าวคือ ในแง่การก่อตั้งองค์กร การสรรหาคณะกรรมการบริหาร การออกใบอนุญาตประกอบการและข้อกำหนดในการดำเนินงาน การกำหนดมาตรฐานของรายการ การระดมเงินทุน และระบบการบริหารงานด้านงบประมาณ-การเงินของสื่อโทรทัศน์สาธารณะ เหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้กฎหมายมาจัดระบบ และส่งเสริมให้เกิดขึ้นแทบทั้งสิ้น

4. การพัฒนาระดับการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง โดยที่สื่อสาธารณะมีบทบาท มีความสำคัญในการเสริมสร้างประชาธิปไตยภาคประชาชน (Citizens’ Democratic Participation) ให้เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปการเมืองของไทย ดังนั้น การเกิดขึ้นของสื่อสาธารณะตามมุมมองของยูเนสโก เป็นอานิสงส์ของการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองไปพร้อมกัน

5. การส่งเสริมเสรีภาพสื่อมวลชน และการมีธรรมาภิบาลในการตรวจสอบเชิงวิชาชีพอย่างโปร่งใส เป็นหลักการที่ควรพัฒนาให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ทั้งเสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อภาครัฐ สื่อเอกชน หรือสื่อสาธารณะก็ตาม อย่างไรก็ตาม พื้นฐานที่สำคัญของการมีเสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่อมวลชน คือ ต้องมีการสร้างภาคพลเมืองต้องมีภาวการณ์รู้เท่าทันสื่อให้เกิดขึ้นด้วย

จะเห็นได้ว่าประสบการณ์สื่อสาธารณะของยูเนสโก เป็นมุมมองที่สังคมควรเรียนรู้ ทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กับการก่อตั้งสื่อสาธารณะขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้สื่อสาธารณะของไทยพลิกให้วิกฤติสื่อมวลชนไทยเป็นโอกาสสำหรับการปฏิรูปสังคมและการเมืองให้ได้ในเร็ววัน

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 07:00:00

คิดจากข่าว:สื่อโทรทัศน์สาธารณะ จากมุมมองยูเนสโก (จบ)

ผู้เขียนได้นำเสนอสาระของสื่อโทรทัศน์สาธารณะ จากหนังสือชื่อ “Public Service Broadcasting : A Best Practices Source Book” ของ ดร.อินดราจิท แบนเนอร์จี (Dr.Indrajit Banerjee) จากศูนย์สื่อสารและสารสนเทศแห่งอาเซียน (the Asian Media Information and Communication : AMIC) หรือเอมิก มา 2 ตอน หนังสือเล่มนี้ องค์การยูเนสโก (United Nations Educational Scientific and Cultural Organization) ได้นำประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกันในเวทีการประชุมสัมมนาของผู้ปฏิบัติงานสื่อสาธารณะทั่วโลก มาจัดพิมพ์และเผยแพร่

หลักการสำคัญของ “สื่อวิทยุโทรทัศน์สาธารณะ” (Public Service Broadcasting : PBS) ยูเนสโก กำหนดไว้ 4 ประการ คือ 1. การเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง ทั่วถึง และเท่าเทียมของพลเมือง (Universality) 2. ความหลากหลายจากทุกภาคส่วน (Diversity) 3. ความมีอิสระในวิชาชีพ (Editorial Independence) และ 4. ความโดดเด่น (Distinctiveness)

การดำเนินการของสื่อสาธารณะจำเป็นต้องอาศัยส่วนร่วมของภาคประชาสังคม (Civil Society) ค่อนข้างมาก และมีนัยความสำคัญต่อปัจจัยความสำเร็จของสื่อสาธารณะ ทั้งในแง่การป้อนข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสาธารณะ การประเมินคุณภาพรายการที่นำเสนอในสื่อสาธารณะ แม้กระทั่งการเป็นผู้ชมสื่อสาธารณะที่ต้องสามารถเฝ้าระวังสื่อ (Media Watch) ด้วย

บทความตอนนี้จะนำเสนอ “คำหลัก” (Key words) ของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อเป็นแนวโน้ม และแนวทาง ให้สังคมไทย วิชาชีพสื่อ ต้องเตรียมการอย่างไร สำหรับสื่อโทรทัศน์สาธารณะที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทยในเร็วๆ นี้

1.ประชาธิปไตยแบบเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน (Citizen Participated Democratic) อันเป็นสาระสำคัญของการปฏิรูปการเมืองมาตั้งแต่การปฏิรูปการเมืองรอบ พ.ศ.2540 แล้ว

2. ประชาสังคม (Civil Society) สังคมจะมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของภาครัฐมากขึ้นทุกระดับ ทุกขั้นตอน แนวโน้มอันนี้จะได้รับการกำหนดเป็นกติกาที่ชัดเจนขึ้นในสังคมมากยิ่งๆ ขึ้น

3. สิทธิที่จะรู้ (Right to know) นับเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐพึงให้ความสำคัญตามสิทธิมนุษยชน สังคมไทยต้องตื่นตัวในสิทธิที่จะรู้มากกว่าที่ผ่านๆ มา

4. วารสารศาสตร์ของพลเมือง (Citizen Reporter / Citizen Journalist) คนในสังคมต้องตระหนักในบทบาทว่าไม่ควรเป็นเพียงผู้รับสื่อ แต่ต้องพลิกสถานะตนเองมาเป็นผู้ผลิตสื่อเองด้วย และควรหวงแหนบทบาทหน้าที่เหล่านี้ มิให้มีการครอบครอง ควบคุม คุกคาม ครอบงำ อีกต่อไป

5. สื่อใหม่ (New Media) เป็นการเปิดเวทีอิสระในการแสดงออกทางความคิดของสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สื่อใหม่ มีจุดเด่นตรงที่ไม่มีอุปสรรคเรื่องเวลา ระยะทาง และพื้นที่ อย่างที่เคยเป็นข้อจำกัดของสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) สื่อใหม่เหล่านี้ เช่น การเปิดเวบบล็อก (Web Blog), การเปิดกระดานข่าวอิเล็กทรอนิกส์ (Bulletin Board System : BBS), การแสดงความคิดเห็นต่อคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ (Online Newspaper) เป็นต้น

6. นักข่าวออนไลน์ (Online Reporter) ประชาชนสามารถเรียนรู้ที่จะรายงานข่าวสารของตนเองโดยอิสระผ่านทางสื่อใหม่ บุคคลทั่วไปที่เป็น “สื่อมือสมัครเล่น” (Amateur Reporter) สามารถทำหนังสือพิมพ์ออนไลน์ของตัวเองได้ โดยไม่มีข้อจำกัด เช่น การจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์มืออาชีพอย่างที่ผ่านมา

7. สื่อทางเลือก (Alternative Media) เป็นสื่อที่มีความแตกต่างจากสื่อกระแสหลัก (Mainstream Media) ในแง่อุดมการณ์ของการใช้สื่อ ความเป็นเจ้าของ และเป้าหมายที่จะปรากฏผ่านเนื้อหาสาระของรายการ

8. การคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection) ทั้งในแง่ของการได้รับข้อมูลข่าวสารที่มีความเป็นธรรม (Fair Information) และสิทธิการได้รับข้อมูลข่าวสาร (Right Information) การละเลย เพิกเฉย จะต้องมีการลงโทษ

9. ภาวการณ์รู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏในสื่อ มีนัยทางการเมือง นัยทางธุรกิจ สังคมควรเรียนรู้เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ใช้สื่อเพื่อการสร้างภาพ ไม่ว่าเขาเป็นนักการเมือง หรือนักธุรกิจก็ตาม ตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมของการรู้เท่าทันสื่อ คือ การจัดให้มีการเฝ้าระวังสื่อ (Media Monitor) ให้กว้างขวางทุกระดับ

10. การจัดอันดับรายการตามนัยคุณภาพ (Rating) เดิมทีการจัดอันดับรายการเป็นการกำหนดโดยภาคธุรกิจที่ไม่ได้ผูกพันกับคุณภาพของรายการในเชิงคุณค่า ประโยชน์ และการสร้างสรรค์ การจัดอันดับรายการในแนวทางใหม่ ที่จะเกิดขึ้นต้องชี้วัดกันด้วยคุณภาพของรายการที่ผู้รับสารเป็นผู้ประเมิน นี่เป็นนัยบทบาทความสำคัญอีกข้อหนึ่งของภาคพลเมืองที่มีต่อสื่อสาธารณะ สาระสำคัญข้อนี้ ได้ถูกกำหนดไว้ในการตั้งสภาผู้ชมและผู้ฟัง ในร่างพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550

ขอให้การเกิดขึ้นของสื่อสาธารณะในเมืองไทยเป็นอีกแบบอย่างหนึ่งของรูปแบบของสื่อสาธารณะของโลก คาดหวังให้ในอนาคตองค์การยูเนสโกและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ต้องมาศึกษาในความแตกต่าง และเอกลักษณ์ที่เป็นสื่อสาธารณะในแบบไทยที่ประสบผลตามเจตนารมณ์

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

แท็ก คำค้นหา