ทำไมต้องรวม กทช.-กสช. ?

ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

พลันที่มีเสียงข้อเสนอให้รวม กทช. กับ กสช. โดยเฉพาะข้อเสนอในการรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสาร ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็มีความคิดเห็นที่หลากหลายต่อข้อเสนอนี้

ทำไมต้องรวมองค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมนาคม หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กับองค์กรกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสช.) ให้เหลือเพียงองค์กรเดียว ?

คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กำหนดประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นแนวทางการแก้ไขกฎหมายโทรคมนาคมและการสื่อสารไว้ รวม 6 ประเด็น

หนึ่งในนั้นคือ ประเด็นการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ในส่วนขององค์กรกำกับดูแล โดยให้เหตุผลว่า

“กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแล 2 องค์กร แยกจากกัน คือ กทช. กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และ กสช. กำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ บทบัญญัติดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี และสภาพตลาด ซึ่งในปัจจุบันบริการโทรคมนาคม และวิทยุ-โทรทัศน์ ได้หลอมรวมเข้าด้วยกัน (Convergence) แล้ว

การแยกหน่วยงานกำกับดูแลออกจากกัน จะทำให้การกำกับดูแลบริการที่มีความคาบเกี่ยวกับบริการโทรคมนาคมและบริการวิทยุ-โทรทัศน์ มีความลักลั่นกัน เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งสอง อาจอ้างเขตอำนาจในการกำกับดูแล (jurisdiction) ทับซ้อนกัน และอาจมีดุลพินิจในการออกใบอนุญาต และกำหนดกฎในการแข่งขันที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการแข่งขัน”

ไม่ใช่ครั้งแรก ของแนวความคิดที่จะให้รวมองค์กรนี้เป็นองค์เดียว เพราะในขั้นตอนของการร่างกฎหมายพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เมื่อปี 2543 ก็เคยเป็นประเด็นกันมาแล้ว และในที่สุด ก็มีมติให้แบ่งแยกงานสองด้านที่แตกต่างกันอยู่คนละองค์กรกัน แต่เชื่อมโยงกันในงานที่เชื่อมโยงกัน

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นเพียงหนึ่งจากนักวิชาการสาขาสื่อสารมวลชนเท่านั้น ที่บอกกันอย่างนี้ เพราะที่เห็นกัน คือ ใครพูดเรื่องนี้ ก็จะอิงหลักการและแนวคิดทางฝั่งของตัวเองเสียมาก เป็นนักสื่อสารโทรคมนาคม ก็จะมองจากฝั่งของโทรคมนาคม เป็นนักธุรกิจสื่อสาร ก็จะมองจากฝั่งของนักธุรกิจ นี่ไม่ได้หมายความว่า จะวิจารณ์โดยยึดว่าเป็นนักวิชาการสาขาสื่อสารมวลชนแล้ว จะต้องคัดค้านการยุบรวม กทช. กับ กสช. เสมอไป

แต่ก็เป็นความคิดเห็นคัดค้านอย่างจริงๆ ว่า ถ้าหากมองที่เป้าหมายของการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นไปเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ ก็ไม่น่าจะต้องยุบรวม กทช. กับ กสช.

ในห้วงเวลานี้ ใครๆ ก็บอกว่า เทคโนโลยีการสื่อสารมีการบรรจบเข้าหากัน (convergence) ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ชัดเจน เทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างสื่อสารโทรคมนาคมและกิจการวิทยุ-โทรทัศน์ บรรจบเข้าหากันก็จริง แต่กิจการของสองกิจการนี้ มีความแตกต่างกัน

ความสำคัญอยู่ตรงที่กิจการโทรคมนาคม ที่ กทช. กำกับดูแลเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่เป็น ช่องทางการสื่อสาร หรือเครือข่าย ที่เป็นพื้นฐานของการสื่อสารระหว่างบุคคล และหรือการสื่อสารมวลชน แต่ กสช. กำกับดูแลกิจการคลื่นความถี่ ที่มีผลโดยตรงต่อเนื้อหาสาระ ที่มีผลต่อไปยังความคิดของสังคม เพราะเป็นกิจการการสื่อสารมวลชน ที่เน้นความสำคัญตรงที่เนื้อหาเป็นสำคัญ

ถูกต้องแล้วที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดให้แบ่งแยกงานนี้ออกเป็นอิสระจากกัน แต่รวมกันตรงที่จะเอื้อให้เกิดบริการ ที่จะได้เป็นช่องทางนำการสื่อสารแบบใหม่ๆ เท่านั้น องค์กรกำกับดูแลของภารกิจข้างต้น ย่อมมีองค์ประกอบของหลักวิชา และความรู้ที่แตกต่างกันอย่างแน่นอน

การที่องค์กรทั้งสองไม่ได้รวมกัน ไม่ได้หมายความการบริการและการแข่งขันจะเกิดขึ้นไม่ได้ ที่ผ่านมา กทช. ยังเคยถูกวิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์เอกชนทางธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม โดยไม่ได้ปกป้องสิทธิให้กับผู้บริโภค ยังชี้แจงกันไม่จบในหลายๆ ประเด็น หากจะมายุบรวมก็จะดึงงานด้านการสื่อสารมวลชน วิทยุ-โทรทัศน์ เข้าไปเป็นปัญหาร่วมด้วยเสียมากกว่า

ดังนั้น พัฒนาการของเทคโนโลยี และสภาพตลาดที่นำมาเป็นเหตุผลนั้น จะเป็นประโยชน์ไปถึงกับประชาชนผู้บริโภคได้หรือไม่นั้น ยังเป็นคำถามสำคัญ ไม่มีมาตรการใดมากนัก ว่า การแข่งขันในธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมในทุกวันนี้ ผู้บริโภคสื่อสารโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ หรือเครือข่ายอื่นใด ว่าประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ ราคาค่าบริการ ไม่ได้ถูกลง ตามที่พัฒนาการเทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาไปจนกระทั่งต้นทุนการประกอบการต่ำลง

แม้กระทั่งปัญหาการเชื่อมโยงเครือข่าย ที่เป็นสิทธิของผู้บริโภคก็ยังไม่สามารถกำกับดูแลได้ แล้วจะนำสภาพการแข่งขันมาเป็นเหตุว่า เพื่อประชาชนได้อย่างไร

ส่วนประเด็นเหตุผลที่ว่า “ความล่าช้าในการสรรหา กสช. ยังก่อให้เกิดปัญหาในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ต้องใช้คลื่นความถี่ และบริการวิทยุโทรทัศน์ทุกประเภทไม่ว่าจะต้องใช้คลื่นความถี่หรือไม่ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกิจการโทรคมนาคมไร้สายอื่นๆ วิทยุชุมชนและเคเบิลทีวีรายใหม่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น”

นี่ก็เป็นเหตุผลที่นำมาอ้างไม่สมเหตุ เพราะถ้าจะแก้ให้ตรงจุด ต้องไปแก้ไขมาตรา 9 ว่าด้วยที่มาของคณะกรรมการสรรหา กสช. ที่มีการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนธุรกิจสื่อ ที่เป็นต้นเหตุ ทำให้ กสช. ไม่เกิดเสียที

หน้าที่ของการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อกิจการวิทยุและโทรทัศน์ในสื่อสมัยใหม่ (New Media) อย่างโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม หรือวิทยุ และโทรทัศน์อินเทอร์เน็ต เป็นบทบาทหน้าที่ของ กสช. ซึ่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นก็กำหนดไว้ชัดเจน จึงไม่ควรให้ กทช. มารับภาระของ กสช. ที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 22 มีนาคม พ.ศ. 2550

แท็ก คำค้นหา