ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
กรุงเทพธุรกิจ
การร่างรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2550 นี้ มีประเด็นเรื่องสื่อให้ขบคิดกันหลายประเด็น อันเป็นผลพ่วงมาจากในช่วงระยะเวลาการปฏิรูปการเมืองตามหลักคิด ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 มีช่องว่างให้อำนาจรัฐและทุนเข้าแทรกแซงสื่ออย่างเห็นได้ชัด
ในที่สุดแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ น่าจะเรียกได้ว่า เป็น “รัฐธรรมนูญฉบับรู้ทัน” เพราะกลไกของการนำสภาพการณ์จริงของปัญหาระดับประเทศชาติ ที่เพิ่งพ้นผ่านมากลั่นคิดกำหนดเป็นกติกาใหม่ในสังคม
ทำอย่างไรเราจึงสามารถทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผดุงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่าๆ กับการจัดระบบระเบียบสถาบันทางการเมือง และนักธุรกิจสื่อมวลชนให้มีความสมดุล ! ไม่ให้สื่อเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม
นักวิชาชีพสื่อสารมวลชนต่างระดมความเห็นเพื่อนำเสนอสภาร่างรัฐธรรมนูญ น่าสนใจว่า ข้อเสนอต่างๆ ของนักวิชาชีพหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และเคเบิลทีวีท้องถิ่น มีความเห็นเรื่องนักการเมืองกับธุรกิจสื่อไว้อย่างน่าสนใจ ถ้าเราสนใจ เราจะพบว่าข้อเสนอนี้ พยายามที่จะแก้ไขปัญหาให้กับวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ถูกแทรกแซงอย่างหนักในห้วงรัฐบาลทักษิณ
กรณีที่เกิดขึ้นกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ทีวีเสรี ไม่ใช่ปัญหาระหว่างพนักงานกับรัฐบาลสุรยุทธ์ แต่เป็นปัญหาที่ต้องหาทางออกในระดับหลักคิดในระดับรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับ การจัดระดับความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับธุรกิจสื่อมวลชนเสียใหม่
หากพิจารณาแค่ผิวเผิน ธุรกิจสื่อมวลชน ก็น่าจะต้องเหมือนกับธุรกิจอื่น และนับวันจะเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงในตลาดหลักทรัพย์ฯ นี่น่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมนักธุรกิจจึงสนใจเข้าลงทุนในกิจการสื่อสารมวลชน แต่หากพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ธุรกิจสื่อสารมวลชนเป็นธุรกิจที่มีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างจากธุรกิจประเภทอื่นๆ กล่าวคือ
1. มีผลอย่างมากมาย อันส่งผลกระทบต่อความคิด ค่านิยม อุดมการณ์ของสังคม หรือคนในชาติ โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย เราเสรีนิยมกันทั้งธุรกิจและการเมือง แต่ธุรกิจสื่อสารมวลชน ควรเป็นธุรกิจต้องห้ามของนักการเมือง เพราะมีลักษณะของผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างเห็นได้ชัด
ธุรกิจหรือการประกอบกิจการบางประเภท ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อความสงบสุขในสังคม เช่น การศึกษา การพยาบาล และสวัสดิการสังคม ที่รัฐควรต้องรับผิดชอบ จะผลักภาระมิได้ เช่นเดียวกัน ธุรกิจสื่อสารมวลชน ก็เป็นธุรกิจที่รัฐควรให้อิสระในการประกอบการ โดยไม่ให้นักการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทั้งการเป็นเจ้าของกิจการ (Ownership) การอุดหนุน หรือการเข้าครอบงำการดำเนินการของธุรกิจหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่นๆ เช่น สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ขณะเดียวกัน ควรให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวของพนักงานขององค์กรของรัฐที่เป็นองค์กรประเภทสื่อสารมวลชนให้แตกต่างกับพนักงานของรัฐอื่นๆ
ในแง่นี้ การรวมตัวกันของพนักงานบริษัท และพนักงานของรัฐเป็นสหภาพก็เป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น เพราะไม่เช่นนั้น พนักงานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ก็จะไม่สามารถบรรลุพันธกิจเป็นสื่อที่ดีได้ หากการควบคุม ครอบงำของนักธุรกิจสื่อมวลชนในสถาบันวิชาชีพสื่อมวลชนยังสูงอยู่มาก นี่น่าเป็นหนทางของประชาธิปไตยพอๆ กัน
2. มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศชาติ จึงไม่ควรให้การประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อสารมวลชน เข้าไปเป็นธุรกิจหรือการครอบครอง ทั้งทางตรง (ตัวจริง) และทางอ้อม (นอมินี) ของนักธุรกิจต่างด้าว
นักธุรกิจต่างด้าวควรได้รับสิทธิตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของนักลงทุนต่างด้าวเต็มสมบูรณ์แบบตามมาตรการส่งเสริมการลงทุน แต่ควรเว้นธุรกิจสื่อสารมวลชน เนื่องจากธุรกิจสื่อสารมวลชนเกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารของประเทศชาติ ที่ควรสงวนเป็นข้อมูลของชาติ ถือเป็นสิ่งสำคัญของการดำรงความเป็นชาติไทย
หากได้พิจารณาความสำคัญข้างต้นอย่างถ้วนถี่จะพบว่า เป็นปัญหาสำคัญที่ถึงขั้น “วิกฤติสื่อ” ในห้วงเวลาก่อนการรัฐประหารในเมืองไทย ยอมรับกันว่า ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 มีความครอบคลุมบางประเด็นเท่านั้น แต่ยังไม่ห้ามนักการเมืองเข้าเกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่ออย่างตรงๆ ส่วนบางมาตราในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 ที่ระบุไว้ แต่หาได้นำไปสู่การออกกฎหมายลูกมาให้สอดรับ เพื่อให้เป็นความจริงขึ้นในสังคมไม่
ดังเช่นมาตรา 41 (เดิม) ที่ให้การคุ้มครองเสรีภาพของพนักงานและลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ และพนักงานของรัฐที่เป็นองค์กรด้านสื่อสารมวลชน วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์
ทางออกของสิทธิเสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร ยังมิอาจล่วงรู้ แต่หากมาตราใดๆ ในรัฐธรรมนูญอันว่าด้วยเรื่องสื่อ ที่เป็นการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อ ถูกบิดเบือนและล้มร่างรัฐธรรมนูญ แสดงว่าคนไทยไม่ได้เรียนรู้และจดจำความเจ็บปวดและเลวร้ายที่เกิดขึ้นจนเป็นวิกฤติสื่อในห้วงเวลาที่ผ่านมา
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 15 มีนาคม พ.ศ. 2550