คอลัมน์ งานเป็นเงา
หนังสือพิมพ์มติชน
โดย ลำแข
สถานีโทรทัศน์เจ้าปัญหา “ไอทีวี” ซึ่งเริ่มต้นด้วยเป้าหมายที่ดี ที่ว่าเมื่อกลายเป็น “ทีไอทีวี” ก็ทำให้รัฐบาลหลังชนฝาเสียแล้ว จากที่คาราคาซังไม่ถูกสะสางให้ลุล่วง เนื่องจากวิธีจัดการของรัฐบาลถูกวิจารณ์อย่างหนัก เพราะมีคนไม่เห็นด้วยมาก
โดยเฉพาะการเข้าไปดูแลสถานีโทรทัศน์อีกสถานีเสียเอง จากความคิดที่จะลงเงินเข้าไปบริหาร แต่จนเดี๋ยวนี้พนักงานก็ยังไม่ได้รับเงินเดือนมาสองเดือนแล้ว
ความคิดว่าจะให้เป็น “สถานีสาธารณะ” (ห้ามโฆษณา ให้อยู่ด้วยภาษีพิเศษ) ก็ค้านกับเป้าหมายเดิมที่เกิดขึ้นมาว่าให้เป็น “สถานีเสรี” (มีสัดส่วนสาระและบันเทิงชัดเจน ทั้งต้องทำรายการหารายได้ให้อยู่ได้ด้วย เพราะต้องจ่ายค่าสัมปทานจำนวนมาก)
ระหว่างสองคืนพุธและพฤหัสบดีติดๆ กันที่คืนนั้น “สายสวรรค์” เชิญผู้เกี่ยวข้องมาสนทนา ช่วยให้ผู้ชมเห็นภาพชัดเจนขึ้น แต่เมื่อทางออกอยู่ที่รัฐบาลเป็นฝ่ายตัดสินใจ ฟังรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯที่รับผิดชอบ “คุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์” พูดแล้ว ไม่ได้คำตอบอะไรเพิ่มขึ้นจากที่แล้วๆ มา
หนำซ้ำเมื่อพาดพิงไปถึงช่อง 11 ก็ว่าอย่ากลับไปพูดถึงสถานีกรมประชาสัมพันธ์นี้เลย จึงทำให้อยากจะพูดถึงสถานีนี้ขึ้นเป็นการเฉพาะ เพราะเป็นตัวอย่างเกี่ยวข้องซึ่งเห็นได้โทนโท่
เห็นได้ว่า ขนาดช่อง 11 ยังทำงานกันไปตามยถากรรม แล้วจะดูแลเองเพิ่มขึ้นมาอีกสถานี ให้เป็นสถานีที่ไม่หารายได้ ไม่แสวงกำไรเช่นกัน จะว่าใครที่วิจารณ์ติเรือทั้งโกลนใครๆ ก็คงยอมให้ว่า เพราะใครก็เห็นสภาพช่อง 11 กันอยู่แล้ว
ช่อง 11 ไม่ใช่ไม่มีคนทำงาน ไม่ใช่ไม่มีคนอยากทำงาน ลำพังสติปัญญาข้าราชการก็มีความคิดอ่านอยู่ หลายรายการให้สาระเป็นประโยชน์ตามสถานการณ์ โดยเฉพาะข่าว ปรับทิศทาง บรรยากาศ และหน้าตาขึ้นอีกหน่อยก็ไม่ด้อยไปกว่าช่องไหนๆ
แต่รัฐเอาใจใส่อุดหนุนขนาดไหน มีความตั้งใจที่จะให้สถานีนี้เป็นคุณกับสังคมขนาดไหน ลงทุนเข้มงวดและเอาจริงกับการบริหารสถานี ให้เห็นว่าแข่งคุณภาพรายการสาระต่างๆ กับสถานีอื่นๆ ได้อย่างไร
เพราะในความคิดความรู้สึกชาวบ้านนั้น มีช่อง 11 ขึ้นมาก็สักแต่ว่ามีสถานีเพิ่มขึ้นบนจอเท่านั้นเอง เป็นสถานีที่กดรีโมทผ่านไปผ่านมาระหว่างสถานีอื่นๆ ฟังแล้วคนอยากทำงานอาจน้อยใจขนาดหนักก็เป็นได้
แต่ความจริงก็เป็นอย่างที่เห็นไม่ใช่หรือ
ถ้าพูดตามประสาคนทำงาน พูดตามประสาคนรับผิดชอบงานที่ทำ ต่อให้ไม่มีปัญหา “ทีไอทีวี” เข้ามา ช่อง 11 ก็จะตกในสภาพซังกะตายไปวันๆ อย่างนี้ไม่ได้ คนทำงานมีอยู่แล้ว รัฐเพียงแต่ลงทุนอุดหนุนให้พวกเขาแสดงฝีมือให้เต็มที่เท่านั้นเอง
ช่อง 11 น่าจะเป็นสถานีที่ผู้ชมไม่ว่าผู้ใหญ่หรือลูกเล็กเด็กแดง ได้ดูรายการอย่าง “ทุ่งแสงตะวัน” เป็นอาทิ กันมากๆ แต่รายการสาระที่เพลิดเพลินของ “ป่าใหญ่ ครีเอชั่น” โดย “นิรมล เมธีสุวกุล” รายการนี้กลับไปอยู่ที่ “สถานีดูฟรี” ช่อง 3 อย่างพอเพียงด้วยรายได้และมีผู้ชมติดตามมายาวนาน
ไม่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอีกหรือ
แค่กลัวว่าให้สัมปทานเอกชนใหม่อีกครั้ง จะเปิดโอกาสให้นายทุนเงินหนาที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาครอบงำสื่อ ฟังดูง่ายเกินไปและไม่น่าเป็นเหตุผลหลัก ทางแก้ไขล้วนมีผู้เสนอให้ฟังแล้วมากมาย
อย่าใช้วิธีง่ายๆ แบบตัดปัญหาคือ รัฐเข้าไปจัดการเสียเองอีกเลย (แถมบอกไม่ให้เรียก “อุ้ม” เสียอีกด้วย)
เป็นนักบริหารกันหน่อยเถอะ รับราชการกันมาจนทั้งเกษียณและเกือบเกษียณแล้ว ยังบริหารกันไม่เป็นอีกก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว
ที่มา : มติชนรายวัน 30 เม.ย. 50 หน้า 25