“ทีวีสาธารณะไทย”เป็นจริงได้-ไม่”เพ้อฝัน”หรือ”จินตนาการ”

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

คอลัมน์ คิดใหม่วันอาทิตย์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : แม้ว่าไม่ค่อยเห็นด้วยกับผลการประชุมของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 24 เมษายน ที่เห็นชอบเฉพาะแนวทางการเปลี่ยนแปลงสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เป็น “สถานีโทรทัศน์สาธารณะ” ที่ไม่มีโฆษณา โดยไม่เลือกแนวทาง”สถานีโทรทัศน์อิสระ” ที่บริหารแบบเอกชนที่มีโฆษณา 1 ช่อง คู่กับ โทรทัศน์สาธารณะ1 ช่อง ที่ไม่มีโฆษณาที่จะดีที่สุดสำหรับสังคมไทย

แต่ไม่ขอคัดค้านใดๆมิหนำซ้ำยังยกมือสนับสนุนให้ทุกฝ่ายรวมพลังผลักดันให้ “ทีวีสาธารณะ” เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยภายในรัฐบาลนี้ให้ได้ เพราะถือเป็นภารกิจที่ยากกว่าการเกิดขึ้นอีกครั้งของ “ทีวีเสรีของเอกชน” ที่ยังไม่สายเกินไปและยังมีโอกาสในลำดับต่อไป เมื่อได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง

“สถานีโทรทัศน์สาธารณะ” แห่งแรกของประเทศไทย ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่เกิน 6 เดือนข้างหน้า (อันที่จริงควรเร่งให้คลอดทันก่อนเลือกตั้งเดือนธันวาคม สัก 2-3 เดือน เพื่อให้ “ทีวีสาธารณะ” ช่องนี้แสดงบทบาทส่งเสริมประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง) น่าจะเป็นช่วงโอกาสเดียวจริงๆ เพราะไม่ต้องเริ่มจากการลงทุนจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ใหม่ทั้งหมด ที่ใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่สามารถใช้อุปกรณ์เครื่องส่งและสตูดิโอของทีไอทีวี ที่อยู่ในการครอบครองของสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว

“คนข่าวทีไอทีวี” กับ “ผู้ผลิตรายการทีไอทีวี” ที่ออกมาประท้วงเมื่อวันที่ 6-7 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้ “จอดำ” แล้วประกาศแข็งขันยกยอตัวเองว่า มีจิตวิญญาณในการทำหน้าที่สื่อมวลชนมาตลอด 10 ปี

ควรจะชื่นชมยินดีกับมติคณะรัฐมนตรีนี้ที่กำลังพยายามออกแบบ “กลไก” รายได้จาก “ภาษีพิเศษ” ทางตรงเข้าไปยัง “องค์กรมหาชนสื่อสาธารณะ” มากพอ สำหรับการทำรายการที่มีสาระและคุณภาพที่ไม่พึ่งโฆษณา

ควรช่วยกันคิดสร้าง”เกราะ” ป้องกันการแทรกแซงจากการเมืองและสลัดออกจากการพึ่งพารายได้โฆษณาที่อยู่ใต้อิทธิพลระบบเรทติ้งที่ไม่ได้มาตรฐานเชิงคุณภาพ รวมทั้งยังจะต้องช่วยกันให้หลุดออกจากกรอบการทำงานแบบราชการ ที่จะต้องรับใช้รัฐบาลที่นักการเมืองเป็นใหญ่ดังเช่นช่อง 11

แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา”คนข่าวทีไอทีวี” หลายคนกลับยึดหน้าจอทีไอทีวีออกมาคร่ำครวญว่าทีวีสาธารณะเป็นเรื่องในจินตนาการ ในขณะที่ “ผู้ผลิตรายการ” หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมรัฐบาลไม่ไปเอาช่อง 11 มาทำเป็นทีวีสาธารณะ ทำไมต้องมาเอาทีไอทีวีของ “พวกเรา” ไป ฯลฯ

ความพยายามยื้อยุดทีไอทีวีไว้เช่นเดิมบนผลประโยชน์ส่วนตนโดยไม่ยอม “เสียสละ” เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ ออกอาการขัดขืนไม่เห็นด้วยกับการนำ “พื้นที่ส่วนบุคคล” ไปเป็น “พื้นที่สาธารณะ” ถือเป็นสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีให้สังคมไทย หากพวกคุณไม่ศรัทธาในการร่วมสร้างพื้นที่สาธารณะ ก็ควรจะลาออกหรือเลิกรายการไปเลย

อันที่จริงควรจะขอบคุณรัฐบาลชุดนี้ ที่แสนจะ “ใจดี” ให้เวลาอีกตั้ง6 เดือน สำหรับ “ผู้ผลิตรายการ” เพื่อให้มีเวลาไปเสนอรายการกับโทรทัศน์เชิงธุรกิจที่อิงรายได้จากการขายโฆษณา โดยไม่ต้องใส่ใจกับสาระและคุณภาพเพื่อสังคม ทั้งๆ ที่ระบบโทรทัศน์เชิงธุรกิจโดยทั่วไป แจ้งปรับผังรายการล่วงหน้า 1 เดือนเท่านั้นเอง

ลองศึกษาคุณสมบัติและแนวคิดหลักๆของทีวีสาธารณะในต่างประเทศแล้ว จะเห็นว่า ไม่ได้ยากเย็นแสนเข็ญเกินกว่าความรู้ความสามารถของคนไทย ที่ร้องหา “สื่อสาธารณะ” มานานมาก หากแปลงร่างจาก “ทีไอทีวี” ที่คนทำงานส่วนใหญ่เชื่อว่า ยังมีพื้นฐานจิตสำนึก “สาธารณะ” มาตั้งแต่เปิดสถานี เพียงแต่ในหมู่ผู้บริหารเจือจางลงมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

– อยู่ในการกำกับดูแลของตัวแทนประชาชน (เปลี่ยนจากระบบเอสดียูของกรมประชาสัมพันธ์ไปอิงกับรัฐสภาน่าจะคล่องตัวกว่า)

– รายได้ส่วนใหญ่มาจากภาษีทางตรงไม่พึ่งงบประมาณเพื่อตัดขาดจากรัฐบาล (รมต.คลังคนปัจจุบันรับปากแล้ว)

– มีกลไกการควบคุมเนื้อหารายการเชิงคุณภาพ (ภาควิชาการกับภาคประชาชนตรวจสอบอยู่เป็นประจำ)

– ตอบสนองความต้องการของผู้ชมหลากหลายกลุ่ม (ผังรายการเดิมค่อนข้างหลากหลายอยู่แล้ว ปรับแต่งสัก 30-40%)

– มีเครือข่ายรับชมได้ทั่วประเทศ (ทีไอทีวีมีสถานีภาคพื้นดิน 50 แห่ง รับชมได้ 98% ของพื้นที่)

– เป็นอิสระจากอิทธิพลการเมืองและกลุ่มทุน (คนข่าวทีไอทีวีน่าจะดีใจในการพ้นเวรพ้นกรรมจากข้อกล่าวหาเดิมๆ เสียที)

ลองไปเปรียบเทียบวิสัยทัศน์และพันธกิจ(Vision & Mission) ของสถานีโทรทัศน์สาธารณะต้นแบบใน 5 ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นว่า หัวใจคือการเน้นรายการเชิงคุณภาพ ในบทบาทให้การศึกษาและให้ความบันเทิงควบคู่กันไป

แนวทางทำนองนี้ไม่น่าจะยากเกินไปอีกเช่นกันสำหรับการแปลงโฉมทีไอทีวีเป็น “ทีวีสาธารณะไทย” แห่งแรก เพราะแกนผังรายการที่ถูกกำหนด 70% เป็นข่าวและสาระมีเนื้อหาในแนวสื่อสาธารณะอยู่แล้ว

ปัญหากลับอยู่ที่”คนทำงาน” จำนวนหนึ่ง ที่เป็นแกนหลักๆ ในการบริหารงานสถานีทีไอทีวี ยังเคยชินและโหยหาระบบธุรกิจในแบบชินคอร์ป จนคำนึงถึง “ประโยชน์สาธารณะ” น้อยลงไปมากในช่วง 5 ปีหลัง

1.อังกฤษ BBC มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยการนำเสนอรายการและบริการที่ให้ข้อมูล การศึกษา และความบันเทิง (Inform , Educate and Entertain)

2.สหรัฐอเมริกา PBS มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตคนอเมริกันด้วยรายการคุณภาพ และบริการด้านการศึกษา เพื่อให้ข้อมูลสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างความเบิกบานใจ (Inform , Inspire and Delight)

3.แคนาดา CBC มุ่งให้บริการรายการวิทยุและโทรทัศน์ที่หลากหลายโดยมุ่งให้ข้อมูล ความรู้และความบันเทิง (Inform , Enlighten and Entertain)

4. ญี่ปุ่น NHK นำเสนอรายการที่มีคุณภาพและความถูกต้องรวมทั้งข้อมูลและข่าวสาร ที่เป็นกลางเพื่อยกระดับวัฒนธรรม ความผาสุก และสร้างเสริมประชาธิปไตย (Culture , Welfare and Democracy)

5.ออสเตรเลีย ABC สร้างคุณค่าและบูรณาการวัฒนธรรมของประเทศโดยการนำเสนอรายการหลากหลาย โดยมีความเป็นอิสระ แตกต่างและน่าสนใจ (Inform , Educate and Entertain)

โครงสร้าง”ระบบทีวีสาธารณะ” ใน5 ประเทศนี้ ทุกแห่งอยู่ภายใต้กฎหมายจัดตั้งองค์กรมหาชนที่ไม่แสวงหากำไร

กลไกการกำกับดูแลส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบ”คณะกรรมการ” หรือ Board of Director หรือBoard of Governers ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้นำรัฐบาลหรือรัฐสภาที่มีระยะเวลาทำงาน4-5 ปี

ส่วน”ทีวีสาธารณะไทย” ควรจะจัดตั้งเป็นองค์กรมหาชนอิสระที่ขึ้นตรงกับรัฐสภา

อย่างน้อยที่สุดก็ปลอดจากการแทรกแซงโดยตรงจากรัฐบาล แต่ถ้าหากภาคประชาชน,ภาควิชาการและภาควิชาชีพสามารถเข้ามายึดกุมเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการ จะช่วยเป็น “เกราะ” ป้องกันการแทรกแซงได้

กลไกตรวจสอบมักจัดตั้งคณะกรรมการแยกออกมาจากคณะกรรมการบริหารอีก1 ชุด ที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่ มาจาก “ผู้ชม” หลากหลายวิชาชีพ เพื่อสร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมอยู่ตลอดเวลาในการประเมินคุณภาพรายการให้ได้ตามภารกิจและพันธกิจ

ที่มาของแหล่งเงินและรายได้โดยทั่วไป”สื่อสาธารณะ” ในต่างประเทศ จะมาจาก “ภาษีเฉพาะ” ทางตรง,”ค่าธรรมเนียมการรับสื่อ” งบประมาณจากรัฐ รวมทั้งรายได้บางส่วนจากโฆษณา(กรณี CBC) หรือผู้สนับสนุนในรูปแบบ sponsorship (กรณี PBS) , การขายลิขสิทธิ์รายการ ,บริการเช่าอุปกรณ์ผลิตรายการ , การระดมทุนเข้ากองทุนพัฒนาสื่อสาธารณะ ฯลฯ

สำหรับ”ทีวีสาธารณะไทย” ควรจะจัดตั้ง “กองทุนเพื่อพัฒนาสื่อสาธารณะ” ที่มีเป้าหมายส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ทุกรูปแบบ โดยแหล่งทุนมาจากหลายแหล่ง เช่น “ภาษีบาป” ประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสถานบันเทิง, ภาษีจากค่าไฟฟ้าบ้านและอาคาร เพราะการดูโทรทัศน์ต้องใช้ไฟฟ้า , การบริจาคเงินจากองค์กรธุรกิจแล้วนำไปเป็นค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีนิติบุคคล , การบริจาคเงินจากบุคคลที่นำไปลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้เช่นกัน ฯลฯ

ที่มาของรายการBBC ผลิตรายการเองทั้งหมด , PBS รับซื้อรายการหรือจ้างผู้ผลิตอิสระ , NHK ผลิตเองทั้งหมด , CBC กับ ABC มีทั้งผลิตเองและซื้อจากผู้ผลิตอิสระ

“ทีวีสาธารณะไทย” ควรจะกำหนดให้สถานีผลิตข่าวและรายการเองประมาณ 50% แล้วเปิดโอกาสให้ “ผู้ผลิตรายการอิสระ” ที่ถูกละเลยปิดกั้นมานานกว่า 20-30 ปี สร้างสรรค์รายการที่มีคุณภาพ และมีสาระมานำเสนอขายกับสถานี

งบประมาณรายจ่ายในการบริหารงาน 1,200 ล้านบาทต่อปี เพื่อผลิตรายการคุณภาพปานกลางกับ 1,700 ล้านบาทต่อปี เพื่อผลิตรายการคุณภาพสูง ถือว่า “มากเกินพอ” เพราะใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายเดิม และเมื่อลองคำนวณออกมาอย่างหยาบๆ แล้ว สำหรับการผลิตรายการวันละ 18 ชั่วโมง จะมีงบค่าใช้จ่ายตั้งรองรับไว้แล้วถึงชั่วโมงละ 222,222 บาท กับ 261,111 บาท แม้ว่าจะหักค่าใช้จ่ายประจำด้านบุคลากร และค่าใช้จ่ายทั่วไปลง 50%

งบประมาณรายจ่ายรายชั่วโมงยังเหลือมาก”เกินพอ” สำหรับการผลิตรายการคุณภาพตามผังผลิตเอง50% แล้วเงินยัง “เหลือพอ” สำหรับการเลือกซื้อหรือจ้างผลิตรายการคุณภาพจาก”ผู้ผลิตรายการอิสระ” ที่มีวิธีการบริหารต้นทุนของตัวเองเพื่อความอยู่รอดอยู่แล้วพวกเขาอยากหลุดพ้นจากการพึ่งพารายได้โฆษณา จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อีกมาก

ผมจึงยังมีความหวังกับ “ทีวีสาธารณะไทย” ค่อนข้างมากว่าจะเป็น”หัวหอก” ในการสร้างมาตรฐานรายการเชิงคุณภาพ ที่มาจากคนทำงานที่มีจิตวิญญาณสาธารณะเพื่อให้เป็น”ทางเลือก” ของผู้ชมโทรทัศน์ไทยที่มีทางเลือกน้อยมากในการเสพสื่อโทรทัศน์มานานหลายสิบปี จึงทำให้ต้องยอม จ่ายเงินเป็นสมาชิกเคเบิลทีวีอย่างTRUE ที่มีรายการสาระหลายช่อง

แม้ว่า”ทีวีสาธารณะไทย” ที่แปลงร่างจากทีไอทีวี จะเป็นเพียง “เสี้ยวเล็กๆ” ของจุดเริ่มกระบวนการปฏิรูปสื่อทั้งระบบ ที่ยังมีความจำเป็นอย่างมาก ในการทำควบคู่ไปกับปฏิรูปการเมืองและสังคมไทยในระยะยาว

การเปิดพื้นที่”สื่อสาธารณะ” ให้มากกว่าช่องเดียวและเปิดโอกาสอันหลากหลายให้เกิด “สื่ออิสระสื่อเสรีภาคเอกชน” ที่มีพันธกิจต่อสังคมมากขึ้น จะทำให้ “สื่อ” สามารถแสดงบทบาทสำคัญในการค้ำจุน,ปกป้อง และพัฒนาจิตสำนึกประชาธิปไตยให้กับสังคม

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2550

แท็ก คำค้นหา